รีวิว Toyota Corolla Cross H2 Concept รถต้นแบบที่ใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจน 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ รถพลังงานสะอาด

ตามแผนงานของโตโยต้าที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยรถยนต์หลากหลายขุมพลัง และไม่จำกัดเฉพาะ EV เท่านั้น แต่ยังพัฒนารถที่รองรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งที่เป็นแบบฟิวเซลล์ FCEV (เช่น มิไร) และรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน (Hydrogen Internal Combustion Engine - HICE)สะท้อนผ่านเงินลงทุนรวม 8 ล้านล้านเยน ในช่วงปี 2022-2030

โดยแผนลงทุนดังกล่าว จะแบ่งเป็นโครงการ EV จำนวน 4 ล้านล้านเยน (เงินในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งจะถูกนำมาพัฒนาแบตเตอรี่) และอีก 4 ล้านล้านเยน แบ่งสันปันส่วนให้รถไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และ FCEV
 จะเห็นว่าแผนการลงทุน 9 ปีนี้ โตโยต้าได้ให้นํ้าหนักของ EV เท่าๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ตนเองพัฒนาอยู่เดิม (โตโยต้าขายรถไฮบริดมากที่สุดในโลก) และไม่ทิ้งรถ FCEV ที่แบกถังไฮโดรเจนเพื่อสร้างพลังงาน ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถ
 
ที่สำคัญยังพยายามเพิ่มบทบาทของรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน (ไม่รวมอยู่ในงบลงทุน 8 ล้านล้านเยน) ซึ่งในตอนนี้มีรถต้นแบบ 2 โมเดลที่พัฒนาพร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้ คือคอมแพกต์คาร์ Toyota Corolla H2 Concept ที่ใช้แข่งในรายการเอนดูรานซ์ 24 ชั่วโมง Super Taikyu Serie และเอสยูวี Toyota Corolla Cross H2 Concept
 
ทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์เทพของ Toyota GR Yaris คือเบนซิน 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ แต่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนมาฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้แทน
ล่าสุดผมมีโอกาสได้ลองขับ Toyota Corolla Cross H2 Concept ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสนามพรูฟวิ่งกราวด์ Higashi Fuji Technical Center ศูนย์วิจัยพัฒนาของโตโยต้าในจังหวัดชิซูโอกะ
 
แน่นอนว่าการลองขับในศูนย์ R&D มีข้อจำกัดมากมาย (เช่นห้ามพกโทรศัพท์มือถือลงไป เพราะกลัวจะไปถ่ายรูป) และได้ลองขับสั้นๆ ในทางตรงประมาณ 3-4 กิโลเมตรเท่านั้น ที่สำคัญยังเป็นรถต้นแบบทำมาศึกษาเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาต่อไป
แต่การขยับของโตโยต้ากับ HICE ครั้งนี้ ดูจะเป็นการส่งสัญญาณที่จริงจังว่า เตรียมพัฒนารถไฮโดรเจน ขึ้นสู่สายการผลิตจริงแน่นอน
 Toyota Corolla Cross H2 Concept รูปทรงเป็นโมเดลเดียวกับบ้านเราที่ขายไฮบริด และเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตรครับ แต่เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ มาใช้เครื่องยนต์ที่ดีที่สุดบล็อกหนึ่งที่โตโยต้ามีในตอนนี้ เพื่อรองรับกับความร้อนและแรงอัดที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซไฮโดรเจนฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้

เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ พลังไฮโดรเจน ที่วางใน Toyota Corolla Cross H2 Concept ปล่อยพละกำลังได้ถึง 300 แรงม้า (ข้อมูลที่โตโยต้าเปิดเผย) ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด จากการลองขับสั้นๆ สัมผัสได้ถึงความแรง ซึ่งมาพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์-เสียงท่อที่ดังดุดัน ราวกับเสียงเรือ หางยาววิ่งในคลองบางกอกน้อย
 
ขณะที่การเปลี่ยนเกียร์สั้นกระฉับ นํ้าหนักคลัตช์กำลังดี เพียงแต่ทุกจังหวะของการสับเกียร์ต้องแลกมากับอาการฉุดดึงแบบหัวทิ่มหน้าหงาย
 การสู้กับแรงจีด้วยเอสยูวี กำลัง 300 แรงม้า บุคลิกการขับขี่ก็ออกแนวรถสปอร์ตดีๆ นี่ละครับขณะที่ถังไฮโดรเจน 2 ใบวางอยู่ใต้เบาะนั่งด้านหลัง และใต้ที่เก็บสัมภาระด้านท้าย (เติมไฮโดรเจนได้ประมาณ 3 กิโลกรัม) ซึ่งเป็นที่ว่างเท่าที่จะพอหาได้สำหรับเอสยูวีคันนี้
 ด้านความปลอดภัยกับการมีถังไฮโดรเจนแรงดัน 700 บาร์อยู่ท้ายรถ (ถัง NGV ทั่วไป 200 บาร์) รูปทรงแคปซูล Type 4 (มาตรฐานสูงสุดของถังบรรจุก๊าซ) ที่มีความหนามากๆ โดยแบ่งวัสดุที่นำมาผลิตออกเป็น 3 ชั้น ชั้นแรก(ในสุด)ใช้เรซิน ชั้นที่สองเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ และด้านนอกสุดเป็นไฟเบอร์กลาส

ทั้งนี้ โตโยต้า ยังโชว์ทดสอบการชนด้านท้ายตรงๆ พบว่าโครงสร้างตัวถังรถยนต์ยุบจริง แต่ตัวแคปซูลไฮโดรเจนไม่กระทบกระเทือน เช่นเดียวกับการใช้ปืนไรเฟิลยิงตรงๆ ไปที่ถังไฮโดรเจน เมื่อกระสุนเจาะทะลุเข้าไปและมีก๊าซรั่วออกมา แต่สุดท้ายถังก็ไม่ระเบิด(พยายามไม่ให้เกิดประกายไฟ) รวมถึงเทคนิคในการออกแบบวาล์วเซฟตี้ต่างๆ ซึ่งโตโยต้ามั่นใจว่ารถไฮโดรเจนแบบนี้มีความปลอดภัยสูงไม่ต่างจากรถนํ้ามัน
โตโยต้า มองว่าการใช้ไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน มีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ควบคู่ไปกับการรักษากลไลของอุตสาหกรรม ยานยนต์แบบดั่งเดิม ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งซัพพลายเชน ที่ในญี่ปุ่นเองมีแรงงานอยู่ในระบบนี้ถึง 5.5 ล้านคน

 ขณะเดียวกัน หากถามหาเรื่องไอเสีย เทคโนโลยี HICE นี้ ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากรถยนต์เลย จะมีเพียง(ไอ)นํ้า และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ที่ออกมาจากปลายท่อไอเสียเท่านั้น
 ดังนั้นถ้าต้องการลดการปล่อย CO2 รถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน HICE ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนให้แพร่หลาย (ปัจจุบันญี่ปุ่นมี 170 สถานี) และแหล่งที่มาของไฮโดรเจน ถ้ามาจากกระบวนการที่สะอาดยิ่งตอบโจทย์ของการสร้างสังคมคาร์บอนตํ่าได้อย่างครอบคลุม
 
สำหรับ Toyota Corolla Cross H2 Concept ยังเป็นรถต้นแบบ แต่การพัฒนารถเครื่อง ยนต์ไฮโดรเจนของโตโยต้า เดินหน้าต่อไปแน่ๆ ซึ่งการขายจริงในเชิงพาณิชย์อาจจะพัฒนาเป็นรถโมเดลใหม่ที่สมดุลลงตัวกับโครงสร้างของรถที่ต้องแบกถังไฮโดรเจนอย่างน้อย 2 ใบ และมีระยะทางวิ่งไกลกว่า 400 กม.
 
สำหรับประเทศไทยเตรียมชื่นชมเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้ง FCEV รุ่น “มิไร” ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึง Toyota Corolla Cross H2 Concept และ Toyota Corolla H2 Concept ที่จะตามมาอวดโฉมในเดือนธันวาคม นี้

เรื่อง : กรกิต กสิคุณ
 

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่