ฟองน้ำล้างจาน เรื่องเล็กน้อยที่ควรใส่ใจ 🧽🧐

เราใช้ฟองน้ำล้างจานกันอยู่ทุกวี่วัน จนบางทีเราก็ลืมใส่ใจ ลืมทำความสะอาด ลืมเปลี่ยนไปบ้าง 
 
ถ้าจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานเมื่อไร หรือจำไม่ได้เลยว่าเคยทำความสะอาดบ้างหรือเปล่า ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องใส่ใจเรื่องเล็กน้อยอย่างเรื่องฟองน้ำล้างจานซะแล้ว 
.
.
.
🧽ความเป็นมา🧐
 
การค้นพบฟองน้ำเป็นเรื่องบังเอิญ ในปีค.ศ. 1937 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Otto Bayer คิดค้นโฟมพูรียูรีเทน และสังเกตเห็นว่าโฟมโพรียูริเทนมีฟองอากาศคล้ายฟองน้ำทะเลซึ่งสมัยกรีกโรมันใช้สำหรับทำความสะอาดร่างกาย หลังจากนั้นก็ถูกพัฒนามาใช้เป็นฟองน้ำสำหรับทำความสะอาด 

ฟองน้ำสังเคราะห์ทำจากโพลีเอสเตอร์ โพลียูรีเทน และใยพืชหรือเซลลูโลส โพลียูรีเทนคือส่วนหยาบส่วนมากเป็นสีเขียวที่ใช้ขัคราบหนัก โพลีเอสเตอร์เป็นส่วนนิ่มที่ใช้ล้างส่วนมากเป็นสีเหลือง ฟองน้ำที่ทำจากเซลลูโลสมาจากเส้นใยต้นไม้ 

🧽ฟองน้ำไม่เคยแห้ง🧐
 
ฟองน้ำล้างจานส่วนมากจะอยู่ในอ่างเป็นเครื่องใช้ในครัวที่แทบจะไม่เคยแห้งเลย ทำให้เป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรีย จากการศึกษาพบว่าไม่ได้เป็นแบคทีเรียร้ายแรง เช่น ซาลโมเนลล่า อีโคไล และแคมไพโลแบคเตอร์ ที่ทำให้ไม่สบาย ถึงอย่างไรก็อย่าประมาทต้องทำความสะอาดฟองน้ำด้วยเช่นกัน

🧽วิธีทำความสะอาดฟองน้ำ 🧐
 
เมื่อเริ่มรู้สึกว่าฟองน้ำล้างจานไม่สะอาดก็ต้องทำความสะอาดกันหน่อย วิธีทำความสะอาดไม่ยากเลย 

ทำความสะอาดด้วยน้ำส้มสายชู ใส่น้ำเปล่าลงถ้วยตามพอเหมาะ นำน้ำส้มสายชูลงไปประมาณ  4-5  ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน นำฟองน้ำล้างจานที่ทำความสะอาดแล้วแช่ไว้ 1 คืน และนำไปล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง  

ควรจะมีฟองน้ำสลับกันไว้ใช้ 2 ชุด เมื่อชุดแรกกำลังผึ่งให้แห้งอยู่ก็ใช้อีกชุดหนึ่งทำความสะอาดล้างจานสลับกันไป เพื่อให้ฟองน้ำล้างจานได้มีเวลาแห้งเพื่อสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ 

บ้านไหนมีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่สามารถติดเชื้อโรคได้ง่ายแนะนำให้ใช้แปรงพลาสติกจะดีกว่าเพราะไม่อุ้มน้ำและสามารถวางผึ่งไว้ให้แห้งมากกว่า 

🧽เมื่อถึงเวลาเปลี่ยน 🧐
 
หลายคนจำไม่ได้ว่าครั้งล่าสุดที่เปลี่ยนฟองน้ำล้างจานคือเมื่อไร จำไม่ได้ไม่เป็นไร ลองสังเกตสัญญาณเตือนต่อไปนี้ 

รอยเปื้อนที่มาจากการล้างจานหรือขจัดคราบสกปรกที่ติดอยู่กับฟองน้ำต้องสามารถล้างออกได้ง่าย แต่ถ้าฟองน้ำยังมีคราบเปื้อน ล้างยังไงก็เอาไม่ออกก็ได้เวลาเปลี่ยนแล้ว 

พิสูจน์ด้วยกลิ่น ฟองน้ำก็เหมือนผ้าทำความสะอาดอื่นๆ เมื่อเปียกแล้วไม่แห้งก็จะก่อให้เกิดเชื้อราได้ ถ้าดมแล้วรู้สึกได้ว่ามีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวก็ควรจะทิ้งไป ทำให้ครัวมีกลิ่นสะอาดและไม่ทำให้ภาชนะมีเชื้อราปนเปื้อนไปด้วย  
 
ฟองน้ำไม่คืนรูปทรงแสดงว่าใช้งานหนักเกินไป เอาไปเช็ดคราบมันในครัว ขัดคราบเขม่าควัน ใช้ฟองน้ำไม่ถูกวัตถุประสงค์ทำให้ไม่คืนรูปทรง แสดงว่าก็ต้องเปลี่ยนใหม่แล้ว 

ปกติฟองน้ำล้างจานมีอายุใช้งานได้ 1 เดือน แต่ทั้งนี้ก็อยู่กับความถื่ในการใช้งานด้วย ถ้าบ้านไหนทำครัวบ่อย ใช้ฟองน้ำทำความสะอาดบ่อยก็ควรเปลี่ยนบ่อยกว่าบ้านอื่น

🧽วิธีเลือกซื้อ 🧐
 
ฟองน้ำมีให้เลือกหลายแบรนด์ มีหลายสี หลายรูปทรง เลือกที่ชอบ และใช้ตามวัตถุประสงค์ และควรซื้ออย่างน้อย 2 ชิ้น เพื่อเก็บไว้ใช้งาน เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อใหม่

ฟองน้ำล้างจานแบบตาข่ายไนล่อน ใยตาข่ายด้านนอก สำหรับใช้ทำความสะอาดคราบสกปรกภาชนะต่าง ๆ เช่น เครื่องแก้ว ไมโครเวฟ เทฟลอน จานชาม ภาชนะพลาสติก ด้านในเป็นฟองน้ำสำหรับอุ้มน้ำยา

ฟองน้ำล้างจานแผ่นใยขัด มีแผ่นใยขัดติดกับฟองน้ำ สามารถขจัดคราบสกปรกฝังแน่นได้ดีกว่าตาข่ายไนล่อน แต่อาจจะเกิดริ้วรอยบนภาชนะเครื่องเคลือบได้  
 
ฟองน้ำล้างจานเซลลูโลส มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้อย่างดี ทำความสะอาดเครื่องครัวได้ และยังสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้  

ฟองน้ำสำหรับภาชนะที่บอบบางเป็นฟองน้ำที่ใช้สำหรับภาชนะที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษไม่ทำให้เกิดริ้วรอย 

🧽วิธีใช้ฟองน้ำให้อยู่ได้นาน 🧐
 
วางฟองน้ำให้อยู่ในที่ระบายอากาศ ไม่ควรวางไว้ใต้อ่างล้างจาน หรือวางไว้ซ้อนกันแน่น ฟองน้ำก็เหมือนผ้าที่ควรจะต้องระบายอากาศจะได้ไม่ขึ้นรา ซื้อที่วางฟองน้ำติดไว้กับอ่างล้างเพื่อให้ฟองน้ำสามารถระบายอากาศได้บ้าง 
.
.
.
เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีก็ควรใส่ใจ ฟองน้ำล้างจานช่วยทำความสะอาด แต่เราก็อย่าลืมทำความสะอาดฟองน้ำด้วย เมื่อถึงเวลาก็เปลี่ยนใหม่ เพื่อสุขอนามัยของคนในบ้านของเราค่ะ 
เพี้ยนส่อง
ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.reference.com/history-geography/invented-kitchen-sponge-8068bcf395cd1c34
https://time.com/5254808/how-to-wash-dishes-sponge/
https://www.goodhousekeeping.com/home/cleaning/a18731/how-to-clean-a-sponge/
https://www.marthastewart.com/7781485/replace-kitchen-sponges
https://www.thespruce.com/when-to-get-rid-of-a-sponge-6542435
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่