Yesh in India เที่ยวอินเดีย 17 วัน 5 เมือง 4 รัฐ ด้วยเงิน 9,600 บาท ep.1


Pune-Jaipur-Chandigarh-Hampta pass (himalayan mountains) - Punjab (muktsar, sikh village) - Delhi
*หมายเหตุการเดินทางครั้งนี้ไม่รวมราคาตั๋วเครื่องบิน เนื่องจากผู้เขียนเรียนอยู่ที่อินเดียอยู่แล้ว 
.
ผมเพิ่งเสร็จสิ้นจาก Solo trip อินเดียเหนือ 17 วัน เป็นการเดินทางที่ใช้พลังงานมากที่สุดเท่าที่ชีวิตนี้เคยเดินทางมา โดยเริ่มต้นการเดินทางจากเมืองปูเน่ทางตะวันตกของอินเดียใกล้กับเมืองมุมไบ เนื่องจากผมมาศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่เมืองนี้ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นออกซฟอร์ดตะวันออก ผมโดยสารรถไฟใช้เวลา 21 ชั่วโมงจากปูเน่ไปจนถึงเมืองชัยปุระ เมืองสีชมพูยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวไทย
.
ประสบการณ์บนรถไฟอินเดียดีเยี่ยม ลืมภาพคนเบียดเสียดเป็นปลากระป๋องไปได้เลย เพราะรถไฟ first class ของอินเดีย มีแอร์เย็นๆ ที่นอนพอให้หลับสบาย สภาพโดยรวมไม่แตกต่างอะไรจากรถไฟตู้นอนเมืองไทย สำหรับการจองตั๋วรถไฟโดยตรงกับทางการรถไฟนั้น คนต่างชาติค่อนข้างยากหน่อย เท่าที่ผมลองคือเราไม่สามารถใช้บัตรนานาชาติในการจ่ายเงินได้ ทั้งยังต้องมีเบอร์มือถือของอินเดียด้วย ผมแก้ปัญหาการจองตั๋วด้วยการให้เพื่อนคนอินเดียช่วยจองให้ 
.
สำหรับใครที่อยากลองมาใช้บริการ ผมเห็นผ่านๆ ว่าสามารถจองผ่านเอเจนซี่ที่ราคาอาจจะแพงขึ้นมาหน่อย หรือไม่อย่างนั้นก็สามารถไปจองที่เคาน์เตอร์ตามสถานีรถไฟได้เลย เพียงแค่โชว์หน้าจอขบวนรถไฟที่อยากไป 
โดยแอปที่ใช้จองตั๋วรถไฟคือ IRCTC RAIL CONNECT 
และแอปที่ไว้ใช้สำหรับติดตามขบวนรถไฟ สั่งอาหารระหว่างโดยสาร รวมทั้งจองตั๋วรถบัสได้ด้วยคือ RailYatri
.
บนรถไฟมีของกิน น้ำ ขนม ขายตลอดทาง แต่เพื่อนแอบกระซิบมาว่าไม่ค่อยสะอาด ให้เตรียมอาหารไปกินระหว่างทางจะดีที่สุด ผู้โดยสารส่วนใหญ่มักจะเป็นคนอินเดีย จากประสบการณ์การโดยสารรถไฟคลาสนี้ มักเจอแต่คนที่นิสัยดี พูดจารู้เรื่อง ไม่ค่อยกวนตีน รถไฟอินเดียตรงต่อเวลา ผมเดินทางมาถึงชัยปุระ ตามเวลาในกำหนดการ ไม่มีสายแม้แต่นาทีเดียว
.

.
อากาศเมืองชัยปุระร้อนมากเมื่อเทียบกับเมืองปูเน่  นับเป็นการขึ้นมาเยือนภูมิภาคเหนือของอินเดียเป็นครั้งแรก อินเดียเพียงแค่เดินทางข้ามรัฐ ก็เหมือนเดินทางข้ามประเทศ ผู้คน อาหาร สภาพแวดล้อม ภาษา ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง  ผมเดินออกมาจากรถไฟ เดินหาเคาน์เตอร์จองตั๋วรถไฟไปเมืองชานดิการ์ด้วยตัวเอง ทริปนี้ผมจองมาแค่ตั๋วรถไฟขามา ส่วนที่เหลือผมใช้การจองตั๋วหน้างานแทบทั้งหมด
.
ผมมาถึงชัยปุระในช่วงบ่ายแก่ๆ จึงไม่ได้เดินทางไปเที่ยวไหน เดินออกมาหาอะไรกินรองท้อง เพื่อนคนอินเดียเคยบอกผมว่า คนฝั่งอินเดียเหนือจะดูใจร้อน และไม่ค่อยเฟรนลี่เท่าคนฝั่งอินเดียใต้ คงเป็นดั่งเขาว่าไม่น้อย  เหตุผลหนึ่งเมืองทางเหนือเต็มไปด้วยเมืองท่องเที่ยว จึงมีผู้คนที่คอยแต่จะหาประโยชน์จากนักท่องเที่ยว แต่ก็ใช่ว่าจะทุกคน
.
ตลอด 17 วันของการเดินทาง ผมไม่ได้ใช้บริการเข้าพักที่โรงแรมเลย ผมใช้การขอพักอาศัยกับคนท้องถิ่นในเมืองนั้นๆ ผ่านแอป couchsurfing ประสบการณ์ส่วนตัวนั้นผมพบเจอแต่คนดีๆ ที่ให้ผมพักอาศัย รวมทั้งชวนผมออกไปสำรวจเมืองของเขา แต่ทั้งนี้ถ้าใครสนใจอยากลองใช้แอปนี้ ก็ควรต้องระวังและศึกษาให้ดี เพราะมิจฉาชีพมีอยู่ทุกที่  ผมใช้แอปนี้มาตั้งแต่ที่ไทยแล้ว เวลามีคนต่างชาติเดินทางมา กทม. ผมก็มักจะพาเขาไปสำรวจกรุงเทพฯ ทำให้โปรไฟล์ผมมี Referrence ที่นักท่องเที่ยวเขียนรีวิวไว้ให้ผม การหาโฮสต์ หรือเพื่อนในอินเดีย ผ่านแอปนี้สำหรับผมจึงเป็นเรื่องง่าย
.
โฮสต์คืนนี้ที่เมืองชัยปุระ คือหนุ่มอารมณ์ดีที่มีชื่อว่ามนูญ บ้านของเขาอยู่ที่แนวรถไฟฟ้า การเดินทางโดยรถไฟฟ้าในอินเดียง่ายและถูกมาก ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ตอนนี้ล้วนมีรถไฟฟ้ากันหมดแล้ว ผมคิดว่าการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะในอินเดียไม่ใช่เรื่องยากและอันตราย ถ้าเราวางแผนมาดี และเลือกใช้บริการขนส่งที่ราคาแพงขึ้นมาหน่อย เราจะได้รับการบริการที่ค่อนข้างดีเยี่ยมไม่ต่างจากที่ไทย บางครั้งก็ดีกว่าที่ไทยด้วย โดยเฉพาะรถไฟฟ้า
.
ห้องนอนคืนนี้ของผมเป็นห้องเปล่าๆ ที่มีฟูก 1 อัน คงต้องยอมรับว่าการเดินทางเช่นนี้ อาจจะไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าไหร่นัก แต่ก็เป็นความชอบของแต่ละคน สำหรับผมโอเคกับการไม่ได้นอนโรงแรมสบายๆ แต่ได้พักกับคนท้องถิ่น มนูญเล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับชัยปุระ เมืองบ้านเกิดของเขา มันทำให้ผมรู้จักเมืองแห่งนี้มากขึ้น
.

ฮาวามาฮาล (Hawa Mahal)
.
เช้าวันรุ่งขึ้น ผมออกเดินสำรวจเมืองแต่เช้า ชัยปุระเต็มไปด้วยวัวเดินเต็มถนน แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าทุกเมืองในอินเดียจะมีวัวเดินแบบนี้นะ เมืองปูเน่ที่ผมอยู่ แทบไม่มีวัวสักตัวเดินตามท้องถนน ต้องออกไปย่านชานเมืองไกลๆ ถึงจะเจอสักตัว มันขี้เรี่ยราดพร้อมทั้งคุ้ยขยะกิน
.
จากที่พักผมเดินไปที่ ฮาวามาฮาล (Hawa Mahal) หรือพระราชวังแห่งสายลม ผมมักใช้การเดินแทนการนั่งสามล้อหรือริกชอว์ซะเป็นส่วนใหญ่ ถ้าระยะทางไม่ไกลมาก บางครั้งก็ใช้บริการรถเมล์ แต่การขึ้นรถเมล์บนอินเดียก็จะยากเสียหน่อย เราจำเป็นต้องสื่อสารกับกระเป๋ารถเมล์ให้รู้เรื่อง และส่วนใหญ่พวกเขาก็สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้เสียด้วย  การขึ้นรถเมล์ในอินเดียไม่ใช่แค่การจ่ายตังแล้วก็จบ เราจำเป็นต้องบอกให้เขารู้ว่า เราจะโดยสารไปลงที่ป้ายไหน ถ้าสื่อสารไม่เข้าใจ ผมโดนไล่ลงรถมาหลายครั้งแล้ว
.
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังตามเมืองใหญ่ๆ คืออาหารตามข้างทาง  ผมอยู่เมืองปูเน่มา 4 เดือนไม่เคยท้องเสียเลย มากินอาหารข้างทางที่ชัยปุระกับเดลีนี่แหละที่ทำให้ท้องเสีย และการท้องเสียระหว่างเดินทางเป็นอะไรที่หมดสนุกมาก  ข้อแนะนำคืออย่าลืมพกยาคาร์บอนมากันด้วย มันช่วยได้จริงๆ ปสก. ด้วยส่วนตัวตอนผมท้องเสียคือ แค่กินคาร์บอนอาการท้องเสียก็หยุดลงทันทีเลย แตกต่างจากที่ไทยที่เวลาท้องเสียจะถ่ายเหลวไม่ต่ำกว่า 1-3 วัน แต่ที่อินเดียวันเดียวก็หายแล้ว
.
Hawa Mahal สวยสมคำร่ำลือจริงๆ แต่ก็แน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว  หากไปถ่ายรูปฝั่งตรงข้าม โปรดระวังคนอินเดียที่จะเข้ามาตีสนิทกับคุณด้วย เขาเหล่านั้นจะหลอกล่อให้เราไปซื้อของที่ร้านของเขาที่เป็นตึกแถว ผมโดนตกไปแล้วทีหนึ่ง แต่ก็ใจแข็งพอที่จะไม่ซื้อของออกมาแม้แต่ชิ้นเดียว คำแนะนำเวลาปฏิเสธคนอินเดียคือ พูดให้กระชับ หนักแน่น ไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืดกับเขา  ส่วนใหญ่พวกนี้ก็จะเลิกตามตื๊อไปเอง ถ้าเราไม่สนใจ แต่อย่าได้แสดงท่าทีเกรงใจให้เขาเห็น
.

City Palace Jaipur
ผมใช้การพบเจอคนท้องถิ่นแทนการใช้บริการไกด์ตลอดการเดินทาง
.
วันนี้ผมนัดเจอกับปราลัก เขาพาผมแว๊นซ์มอเตอร์ไซต์ไปชม พระราชวังหลวง (City Palace Jaipur)  ผมว่าที่นี่ค่าเข้าชมแพง ราชวงศ์หน้าเลือดในการเก็บตังนักท่องเที่ยวมาก 555 เพราะที่อินเดียพวกเขาไม่สามารถใช้เงินภาษีได้ต้องหารายได้ด้วยตัวเอง  ข้างในราชวังเต็มไปด้วย ข้าวของเครื่องใช้ เรื่องราว อาวุธ และนิทรรศการต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ถ้าใครสายพิพิธภัณฑ์ ชอบประวัติศาสตร์ก็ไม่ควรพลาด ที่สำคัญข้างในนั้น หลายสถานที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป  เราสามารถใช้เวลาอยู่ในนั้นได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็เดินได้จนทั่วแล้ว
.
ต่อมาผมไปพระราชวังกลางน้ำจาล มาฮาล (Jal Mahal) สำหรับที่นี่ไม่มีอะไรเลยนอกจากไปถ่ายรูปกับพระราชวังที่ตั้งอยู่กลางน้ำ ที่ชอบขึ้นมาหน่อยคือทางเดินริมทะเลสาบ มีของกิน ของใช้ ขายมากมาย วันที่ผมไปลมเย็นสบาย แม้เดินในช่วงบ่าย ถ้ามาช่วงเย็นผมว่าบรรยากาศคงดีน่าดู ผมได้กระเป๋าหนังใส่เงินมาในราคา 100 รูปี อุตส่าห์ต่อราคามาจาก 220 รูปีแน่ะ เทคนิคคือ ต่อราคาเยอะๆ แล้วเดินหนี ถ้าโชคดีเขาจะกวักมือเรียกเรากลับมา  อย่าเดินหันหลังกลับมาจนกว่าจะได้ราคาที่คุณพอใจ คนที่นี่อยากขายของใจจะขาด ต่างจากเมืองปูเน่ที่ผมอยู่ ผมลองใช้วิธีต่อราคาแล้วเดินหนี หึๆ พ่อค้าแม่ค้าบอก เรื่องของมุง กูไม่ง้อ
.
จากนั้นผมไปป้อมอาเมร์ (Amber Palace) อลังการงานสร้างมาก มันสร้างขึ้นบนภูเขา  คนที่อยากมาเที่ยวที่นี่เลือกได้สองแบบคือ จ่ายเงินแล้วเข้าไปชมด้านใน หรืออยากเพียงชมบริเวณรอบๆ แบบไม่ต้องเสียเงินก็ได้ แต่แค่ข้างนอกก็สวยงามมากๆ แล้วละ แต่ขาเดินขึ้นก็เมื่อยหน่อยนะ เพราะมันชันมาก
.
ผมปิดท้ายเมืองชัยปุระด้วยการมานั่งกินเบียร์ที่ Phirangi restaurant and bar  เป็นบาร์ของคนท้องถิ่น ผมมากับมนูญและปราลัก คนที่นี่ดื่มกันตั้งแต่บ่าย ภายในร้านเต็มไปด้วยขี้เมานอนสลบคาโต๊ะ หนุ่มคนหนึ่งเมาจนอ้วกไม่เลอะไปทั่วร้าน จนมีปัญหากับพนักงาน แต่ไม่ง่ายนักหรอกที่เราจะเห็นคนอินเดียลงไม้ลงมือกัน ผมดื่มเบียร์จนเพลินจนลืมเวลารถไฟ รถไฟออกเวลาหนึ่งทุ่ม ผมเพิ่งออกจากบาร์ตอนหกโมงสิบหน้า ปราลักอาสาแว๊นซ์มอเตอร์ไซต์ไปส่งผม การเมาแล้วโดยสารอยู่บนท้องถนนอินเดีย เป็นเรื่องที่อย่าได้หาทำ เพราะไม่เมาก็ปวดหัวจะแย่อยู่แล้วบนท้องถนน ยิ่งเมาแล้วด้วยนั้น นรกดีๆ นี่เอง ผมมาทันเวลาฉิวเฉียด อย่างที่บอกรถไฟในอินเดียตรงต่อเวลามาก
.

บรรยากาศรถไฟฟ้าในอินเดียไม่แตกต่างจากไทย
.
สำหรับวิธีการขึ้นรถไฟอินเดียนั้น หลังจากที่เราจองตั๋วได้แล้ว ในนั้นจะบอกวันเวลา บางทีก็บอกที่นั่ง โบกี้ของเรา แต่ส่วนใหญ่เราต้องเช็คในแอป มันจะบอกที่นั่งและโบกี้ของเราก่อนเวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง สิ่งที่เราต้องทำคือ จดจำหมายเลขขบวนรถไฟของเรา และไปเงยหน้ามองจอ LCD ในสถานีรถไฟ มันจะปรากฏหมายเลขขบวนรถไฟของเรา พร้อมชานชาลาที่มันจะเข้าจอด โดยข้อมูลดังกล่าวจะปรากฏในสถานีรถไฟ ก่อนเวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น การหาชานชาลาในอินเดียง่ายมาก สมมุติคุณได้ชานชาลาที่ 7  ก็แค่ตามหมายเลขไปรอที่ชานชาลานั้น ตรวจดูโบกี้ของเรา ที่มันจะมีป้าย LCD บอกอยู่ เราแค่ไปยืนใกล้ๆ ป้ายโบกี้ของเรา เมื่อรถไฟมาถึงก็เดินขึ้นไปได้เลย ถามคนอินเดียแถวนั้นก็ได้ ส่วนใหญ่เขาใจดีช่วยเหลือเราทั้งนั้น แผนผังสถานีรถไฟอินเดีย ก็เหมือนกันหมดแทบทุกที่ เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เมื่อขึ้นรถไฟไปแล้ว ก็มองหาเลขที่นั่งของตัวเอง สักพักจะมีพนักงานเดินมาเช็กชื่อ ไม่ต้องยื่นตั๋วอะไรทั้งนั้น แค่บอกเลขที่นั่งกับชื่อเราเป็นอันเสร็จสิ้น
.
ผมใช้เวลาอีก 1 ค่ำคืนหลับนอนบนรถไฟเพื่อโดยสารไปเมืองชานดิการ์ เมืองที่ใครหลายคนไม่คุ้นหู แต่มันเป็นเมืองที่น่ารักมาก  เมืองนี้โคตรสะอาด ไม่วุ่นวาย ผังเมืองดีเยี่ยมออกแบบโดยคนฝรั่งเศส เป็นเมืองที่เพิ่งสร้างได้ไม่นาน ตั้งอยู่ในรัฐปัญจาบถิ่นฐานของชาวซิกข์ ชานดิการ์เป็นเหมือนประตูที่จะเปิดเข้าสู่รัฐหิมาจัลประเทศ  เป็นทางผ่านสู่เมืองชื่อดังมากมายทั้ง เล ลาดักห์ แคชเมียร์ มะนาลี ธรรมศาลา ชิมลา เอาเป็นว่าใครอยากไปเที่ยวเมืองทางเหนือสุด ถ้าไม่ได้ไปด้วยเครื่องบิน ทุกคนล้วนต้องมาตั้งหลักเริ่มต้นไม่ที่เมืองเดลีก็เมืองชานดิการ์  ผมเลือกหนีความวุ่นวายที่เดลีมาตั้งหลัก พักผ่อน หาความสงบที่เมืองชานดิการ์  เมืองนี้เองก็มีที่เที่ยวให้นักท่องเที่ยวใช้เวลา 1-2 วันกำลังดี มันเต็มไปด้วยสวนแจ่มๆ มากมาย เช่น Rock Garden และถ้ามาถึงแล้วอย่าพลาดที่จะไปกิน Amritsari Kulcha โคตรอร่อยบอกเลย 
.
ผมเดินสำรวจเมืองชานดิการ์ตลอดทั้งวัน ในแต่ละเมืองที่ผ่านไป ผมไม่ได้เน้นการต้องไปแลนมาร์คของเมืองนั้นๆ แต่ผมมักชอบทำความรู้จักเมืองนั้นผ่านการคุยกับผู้คน ผ่านการเดินตามตรอกซอก ซอย มันทำให้ผมรู้จัก เรียนรู้ เมืองนั้นในอีกมุมหนึ่ง ที่บางครั้งนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็ไม่เคยได้เห็น

.
อ่านเรื่องราวตอนที่ 2 ต่อได้ที่:
https://ppantip.com/topic/41717661
.
นอกจากนี้สามารถตามอ่านเรื่องราวการใช้ชีวิตในอินเดียของผมตั้งแต่เริ่มต้นได้ที่
Yesh in India อยู่อินเดียไม่มีเหงา EP.1 ค่ำคืนแรกในอินเดีย
https://ppantip.com/topic/41521801
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่