ถ้าไม่กิน Low carb ไม่คุม Insulin จะลดน้ำหนักไม่ได้จริงรึเปล่า ? 🤔

🍔 เมื่อดูเรื่องโภชนาการสำหรับลดน้ำหนัก ลดความอ้วน มันก็หนีไม่พ้น ประเด็นเรื่องกินแบบไหนดี อะไรเป็นสาเหตุให้อ้วน งานนี้เป็นงานคลาสสิกชิ้นนึง ที่มีเขาศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ว่ากินแบบไหน แต่ดูด้วยว่า Insulin มีผลยังไงบ้าง


🌏 ถ้าเรามีโลกสองใบ ดูเหมือนโลกใบนึงเขาจะเชื่ออย่างถึงที่สุดว่า Insulin นั้นไม่เพียงเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วน แต่ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ลดความอ้วนไม่ได้อีกด้วย แน่นอนว่าสำหรับกลุ่มนี้ ก็มักจะมัดรวมกันมา ทั้งการทำ IF ไม่ให้อินซูลินหลั่ง การกิน Low carb เพราะกลัว Insulin หลั่ง หรือแม้แต่ทาน Keto

😎 แต่ในงานนี้เขาจะดูเฉพาะเรื่องของการทาน Low carb เทียบกับการทานแบบ Low fat ว่ามีผลยังไงต่อการลดน้ำหนักบ้าง และผลที่ว่านี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไงบ้าง ในรูปแบบการหลั่งอินซูลินของแต่ละคน

🔎 เขาก็ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 609 คนมานะครับ เกณฑ์ในการคัดเลือก็เอาทั้งผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 18-50 ปี มี BMI อยู่ระหว่าง 28-40 พวกภาวะสุขภาพเนี่ย เขามีเกณฑ์ว่าต้องไม่เป็นหนักแบบคุมไม่ได้ ถ้ารักษาอยู่แต่ว่าอาการนิ่งๆ ก็เข้าร่วมได้อยู่ 

👧🏻 จากนั้นแบ่งกลุ่มศึกษาแบบ 2x2 คือ diet x genotype ตรง Genotype นี่ต้องเล่าย้อนไปว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษาแล้วมีสมมุติฐานว่า คนเราเนี่ยมันมียีนที่ตอบสนองกับการทานที่แตกต่างกัน บางคนเป็น Low fat responsive บางคนเป็น Low carb responsive โดยยีนที่เกี่ยวข้องหลักๆ มี 3 ตัวคือ PPARG, ADRB2 และ FABP2 ดังนั้นงานนี้เขาเลยจัดกลุ่มแยกตาม genotype ตรงนี้ด้วย

📌 สรุปก็คือแบ่งการทานเป็น Low-carb และ Low-fat และการทานแต่ละกลุ่ม แบ่งกลุ่มคนที่อยู่ในแต่ละกลุ่มเป็นพวก Low-carb responsive และ Low-fat responsive อีกที เพื่อดูว่ายีนหรือพันธุกรรมดังกล่าว มีผลยังไงต่อการลดน้ำหนักด้วยการทานแต่ละแบบบ้าง นอกจากเรื่องยีน ก็ดูเรื่องระดับ Insulin ด้วย แต่อันนี้ไม่ได้นำมาจัดกลุ่ม เขาเก็บข้อมูลไว้แล้วนำมาวิเคราะห์ภายหลัง

📝 ในการลดน้ำหนักนั้นเขาก็จัดกลุ่มให้ข้อมูลการทานสำหรับแต่ละกลุ่ม กลุ่มที่ให้ทาน Low ในอะไรก็ให้ทานสิ่งนั้นไม่เกินวันละ 20g ต่อวัน พลังงานที่ได้รับที่เหลือให้มาจากขั้วตรงข้าม ทานแบบนี้เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นก็ให้ค่อยๆเพิ่มไอ้ที่ low ขึ้นมาสัปดาห์ละ 5-15g จนกว่าจะอยู่ในระดับที่เจ้าตัวคิดว่าโอเค หลังจากนี้ฉันจะกินแบบนี้แหละต่อไปเรื่อยๆ 

😎 เขาไม่ได้กำหนดเรื่องพลังงานอาหารให้นะครับ กิจกรรมให้ทำตามที่เคยทำอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆ การเก็บข้อมูลทำในตอนแรกเพื่อเป็น baseline และเก็บตอน 3, 6 และ 12 เดือน โดยดูเรื่องอาหารที่ทาน ดูจาก 24hr diect multipass recall แบบไม่บอกล่วงหน้า กิจกรรมที่ทำก็มี physical activity recall questionnaire แล้วก็เก็บตัวอย่างเลือด และ body compositon

📝 หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ผลที่ได้คือ อันดับแรกแต่ละกลุ่มการทานนั้นไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดให้ทานแบบจำกัดพลังงาน แต่ว่าในแต่ละกลุ่มทานลดลงไปจาก baseline ประมาณ 500-600 แคลต่อวันในทุกกลุ่ม ในตอนแรกนั้นทุกกลุ่มก็ทานใกล้เคียงกัน และเมื่อแยกกลุ่มไปแล้ว ก็ทานได้ตามรูปแบบที่กำหนดกันทุกกลุ่ม 

🔎 ส่วนผลของน้ำหนักนั้นเมื่อดูผลที่ 12 เดือน กลุ่ม Low fat ลดไปเฉลี่ย 5.3kg กลุ่ม Low carb ลดไปเฉลี่ย 6kg ก็แปลว่าทานแบบไหนลดน้ำหนักได้หมดนะครับ ทีนี้มาดูผลตามยีนบ้างว่า การมียีนว่าตอบสนองกับ Diet แต่ละแบบเป็นไงบ้าง ปรากฎว่า.. ไม่พบว่ามีผลอะไรนะครับ ไม่ว่าจะมียีนเป็น Low carb หรือ Low fat responsive ก็ลดน้ำหนักได้เหมือนกัน (แล้วแบบนี้มันจะมีประโยชน์ห่าอะไรที่จะไปดูว่ามียีนนี้ๆแล้วยังไงบ้าง ๕๕ อ่อ ลืมไปอย่างน้อยก็สร้างรายได้ให้กับที่ๆเขารับตรวจ DNA อิอิ ก็ถือว่ามีประโยชน์อยู่ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน)

🔎 เอาละทีนี้มาดูกันที่ระดับ Insulin กันบ้างว่าคนที่มีระดับ Insulin ซึ่งตรวจหลังทานอาหาร 30 นาที สูง กลาง ต่ำ นั้นตอบสนองยังไงต่อการลดน้ำหนักแต่ละแบบบ้าง ก็ไม่พบว่ามีความแตกต่างอะไรนะครับ เฉลี่ยๆ ก็ลดได้เหมือนๆกัน และลดได้ใกล้เคียงกันด้วย 

📌 ทั้งนี้การศึกษาในงานนี้กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ในระดับสูงนะครับ การควบคุมอาหาร โภชนาการ ความสามารถในการเข้าถึงอาหารก็อาจจะแตกต่างกันไปกับคนที่ มีการศึกษา อาชีพ หรือรายได้ที่แตกต่างกันไปอีก อันนี้อธิบายไว้ไม่ได้เป็นการเหยียดหรือแบ่งชนชั้นนะครับ แต่ว่าปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ก็มีผลต่อการทำให้แต่ละคนสามารถอยู่กับไดเอทแต่ละอย่างได้มากน้อยแตกต่างกันไปเหมือนกัน

📌 อันดับต่อมา ผลของอินซูลินเขาตรวจแค่หลังทำ Glucose challenge 30 นาที จริงๆระดับฮอร์โมนในร่างกายเรามันก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดวัน ไปตามกลไกต่างๆทางสรีรวิทยาที่แตกต่างกันไปแล้วแต่กิจกรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็การประเมิน Physical Activity ใช้แค่การสอบถาม ความแม่นยำมันน้อยนะครับ 

😎 โดยสรุปจากในงานนี้ เขาก็บอกไว้ว่า ในการลดน้ำหนักระยะเวลา 12 เดือนเนี่ย ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผลที่ได้จากการทานแบบ Low carb หรือ Low fat ไม่ว่าคนนั้นจะมียีนที่ตอบสนองต่อ Diet แต่ละประเภทหรือไม่ แล้วก็ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนที่มีระดับการหลั่ง Insulin สูงหรือต่ำ ลดได้ไม่แตกต่างกัน

ที่มาและแหล่งอ้างอิง
https://www.fatfighting.net/article-2022-10-21-effect-of-low-fat-vs-low-carbohydrate-diet-on-weight-loss-in-overweight-adults-and-the-association-with-genotype-pattern-or-insulin-secretion/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่