ค่าชั่วโมง OT เป็นเเบบนี้กันหรือเปล่า

อยากสอบถามหลายๆคนครับว่าการทำงานต่อหลังเลิกงาน หรือที่เราเรียกว่าทำ OT มีโรงงานไหนเป็นเหมือนกันบ้างไหมครับ 
อัตราการคูณชั่วโมง OT เช่น
1. ทำ OT หลังเวลาเลิกงาน *1.5 ต่อชั่วโมง เเต่ถ้าทำจนถึงชั่วโมงที่ 3 ชั่วโมงที่ 3 จะถูกลดเหลือ 0.75 ต่อชั่วโมง (คิดราคาเพียง ครึ่งชั่วโมง) 
ดังนั้น หากเวลาทำงานปกติคือ  08.00-17.00 เเล้วทำ OT  ....  17.00-22.00 จะได้จำนวนชั่วโมงที่ต้องนำไปคูณ 4.5 ชั่วโมง 
จึงได้เงินออกมาเพียง (4.5*จำนวนเงินชั่วโมง OT ปกติ )*1.5 = ราคาOT 

2. ทำ OT ในวันหยุดราชการ หรือวันหยุดตัวเอง ได้ 1 เท่า ไม่มีการคูณเพิ่ม 

3. ทำ OT หลังเลิกงานในวันหยุด ได้คูณ 3 เท่า  เเละจะถูกหักในชั่วโมงที่  3 เหลือเพียงครึ่งชั่วโมง เหมือนข้อ 1 .

ไม่ทราบว่าที่อื่นเป็นเเบบเดียวกันไหมครับ ผมอยากทราบมากเลยว่าเรื่องพวกนี้มีกฏหมายครอบคลุมหรือเปล่า หรือขึ้นอยู่กับการกำหนดของบริษัทนั้นๆ
จากใจคนทำงาน ชนชั้นเเรงงาน หากว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ก็พอจะปล่อยผ่านได้
เเต่หากถุก บริษัทเอารัดเอาเปรียบ รบกวนเเนะนำช่องทาง หรืออะไรก็ได้เพื่อช่วยให้ร้องทุกข์ได้ครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
กรณีนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา อัตรา 1.5 เท่าของค่าจ้างรายชั่วโมง ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ (มาตรา 61)
เช่น เวลาทำงาน 08.00 - 17.00 น. วันละ 8 ชั่วโมง
ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท หารเฉลี่ยด้วย 30 วัน = วันละ 500 บาท
แล้วหารด้วย 8 = ชั่วโมงละ 62.5 บาท
คิด OT 1.5 เท่า = ชั่วโมงละ 93.75 บาท

ถ้าลูกจ้างทำงานล่วงเวลา 17.00 - 19.00 น.
จะคิด OT 2 ชั่วโมง = 187.50 บาท

ถ้าลูกจ้างทำงานล่วงเวลา 17.00 - 22.00 น.
มาตรา 27 วรรคสี่ กำหนดว่าในกรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อเนื่องจากเวลาทำงานปกติ ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง จะต้องมีเวลาพักไม่น้อยกว่า 20 นาทีก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา
ซึ่งค่าล่วงเวลา เป็นเงินตอบแทนการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติ ดังนั้น เวลาพัก 20 นาทีที่ไม่มีการทำงาน จึงไม่คิดเงิน (ถ้านายจ้างจะคิดให้ ก็ได้)
ฉะนั้น จะเท่ากับลูกจ้างทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมง 40 นาที x 1.5 เท่า  =  436.80 บาท



กรณีการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ก็ใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่ใช้อัตรา 3 เท่าต่อชั่วโมง (มาตรา 63)



ส่วนการทำงานในวันหยุด ดูมาตรา 62 ซึ่งจะต้องดูมาตรา 56 ประกอบด้วยว่าเป็นลูกจ้างประเภทใด และทำในวันหยุดอะไร
ถ้าเป็นการทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี จะไม่มีความแตกต่างระหว่างลูกจ้างรายเดือนกับรายวัน เพราะเป็นวันที่ลูกจ้างทั้งสองประเภทมีสิทธิหยุดงานโดยได้รับค่าจ้าง ตามมาตรา 56 (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี
ดังนั้น ถ้าลูกจ้างรายเดือน/รายวัน มีการทำงานในวันหยุดดังกล่าวนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า ตามมาตรา 62 (1)

แต่สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ จะอ้างกฎหมายต่างกันนิดหน่อย
- ลูกจ้างรายเดือนมีสิทธิหยุดงานในวันหยุดประจำสัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง ตามมาตรา 56 (1) หากมีการทำงานในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่า ตามมาตรา 62 (1)
- ลูกจ้างรายวัน จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์  ตามมาตรา 56 (1) หากมีการทำงานในวันหยุด นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 2 เท่า ตามมาตรา 62 (2)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่