ไปดูหอศิลป์สก๊อตแลนด์ แกรนด์ไม่หยอก

เดินจากที่พักไม่นานก็มาถึงหอศิลป์แห่งสก๊อตแลนด์ แม้ว่าที่นี่จะไม่ใหญ่โตเท่ากับหอศิลป์แห่งชาติที่ลอนดอนแต่ก็น่าสนใจเพราะมีงานของศิลปินชื่อดังของยุโรปอยู่หลายคน อีกทั้งมีงานศิลปินสก๊อตแลนด์คนดังอยู่หลายชิ้นด้วย และสิ่งที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งคืออาคารของหอศิลป์สไตล์นีโอคลาสิกมีหน้าจั่วและเสาไอโอนิคสวยงาม กลมกลืนไปกับบริเวณโดยรอบและส่วนอื่นๆของเมือง


การนำเสนอของหอศิลป์แห่งนี้คือการแบ่งห้องแต่ละห้องตามยุคสมัยของศิลปะ ดังนั้นหากใครอยากจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรปก็สามารถชมงานสวยๆประกอบกับการอ่านป้ายในแต่ละห้อง ก็จะได้ความรู้เบื้องต้นที่ดี แต่อันที่จริงน้อยคนจะมีเวลาไปอ่านไปดูได้ขนาดนี้ ดังนั้นฟังผมเล่าให้ฟังแล้วค่อยไปดูของจริงอีกทีน่าจะดีกว่านะครับ

ก่อนอื่นขอบอกว่าชิ้นงานที่สะสมอยู่นั้นส่วนใหญ่เป็นศิลปินยุโรปประเทศต่างๆที่มีชื่อเสียง ส่วนศิลปินสก๊อตแลนด์นั้นจะมีจัดแสดงในส่วนเฉพาะ ซึ่งก็น่าสนใจไม่แพ้กัน การดำเนินเรื่องราวจากห้องแรกคือศิลปะยุคโกธิค มีภาพเขียนบนแผ่นไม้ที่ใช้สำหรับบูชาฉาบเคลือบสีทองสวยงาม เป็นเรื่องราวของพระเยซูและนักบุญต่างๆในสไตล์เดียวกับที่เราได้เห็นในลอนดอนมาแล้ว



ส่วนยุคสมัยเรเนซองส์ท่านจะได้พบกับภาพเขียนของอัครมหาศิลปินของโลกหลายท่าน ตัวอย่างเช่น ภาพของราฟาเอล เป็นรูปพระแม่มาเรียกับกุมารพระเยซูและนักบุญจอห์น และอีกภาพเป็นครอบครัวพระเยซู พระแม่มาเรีย โยเซฟ และกุมารน้อยเยซูอยู่กันครบเซ็ต



ชิ้นงานของลีโอนาร์โด ดาวินชี มีภาพพระแม่มารีกับกุมารเยซูนั่งบนก้อนหิน ในรูปนี้มีสัญลักษณ์แฝงอยู่ ซึ่งก็คือ เครื่องม้วนด้ายที่เป็นรูปไม้กางเขนซึ่งกุมารเยซูกำลัวถือเล่นอยู่ แสดงถึงลางร้ายที่พระองค์จะต้องสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ส่วนพระแม่มาเรียมีสีหน้าที่ดูกังวลและไม่พอใจกับความสนใจของพระเยซูน้อยเนื่องจากการตระหนักถือโชคชะตาซึ่งถูกลิขิตไว้แล้วในอนาคต และที่แน่นอนก็คือใบหน้าของพระแม่แลดูเหมือนใบหน้าของโมนาลิซ่า ซึ่งเป็นใบหน้ามาตรฐานของผู้หญิงต่างๆในงานของดาวินชีเสมอมา อีกทั้งฉากหลังก็ยังเป็นทิวทัศน์ธรรมชาติเช่นเดียวกับโมนาลิซ่าด้วย อย่างไรก็ตามมีการสันนิษฐานว่าจริงๆแล้วภาพนี้ยังวาดไม่เสร็จ แต่มีศิลปินผู้อื่นมาช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น


ภาพวาดสมัยเรเนซองส์ที่ผมชอบอีกภาพหนึ่ง เป็นของศิลปินเยอรมันชื่อลูคัส ครานาช (Lucas Cranach) เป็นภาพเปลือยผู้หญิงหุ่นสะโอดสะองจูงมือเด็กน้อยมีปีกถือคันศรคนหนึ่ง ใครบางคนอาจทายถูกว่าเด็กน้อยนั้นคือกามเทพ (Cupid) ส่วนผู้หญิงนั้นคือวีนัส เทพีแห่งความงามซึ่งเป็นมารดาของกามเทพนั่นเอง จุดเด่นที่ผมชื่นชอบก็คือเป็นงานที่ดูสมัยใหม่เกินยุคด้วยนางแบบที่มีความงามแบบผิดปกติ รูปร่างผอมแบน หน้าอกเล็ก ผิดความนิยมในยุคนั้น นางวีนัสผมยาวแผ่ออกเป็นแท่งปลายแหลมบนฉากหลังสีพื้นดำ สวมใส่แค่สร้อยคอใหญ่เท่าโซ่ ดูแล้วเหมือนภาพสมัยใหม่ไปเลย ภาพนู้ดของลูคัสนี้มีหลายภาพมากแพร่กระจายอยู่ในหลายประเทศ และมีศิลปินสมัยใหม่นำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพผู้หญิงต่อไปอีกด้วย



งานอีกชิ้น (จริงๆสองชิ้น) ที่โดดเด่นก็คือประติมากรรมนักบวช 2 คนที่ดูน่ากลัวเกินกว่าจะเป็นนักบวช เป็นร่างที่ห่มคลุมด้วยชุดผ้าคลุมหนาหนักไปทั้งตัวแต่ไร้ใบหน้า ไม่แปลกที่เป็นเช่นนั้นเพราะสองรูปนี้เคยถูกประดับอยู่ในสุสานมาก่อน แถมในสถานที่ดังเดิมยังมีรูปแบบนี้อีกหลายชิ้นด้วย


จุดเด่นของห้องนี้อีกอย่างหนึ่ง คือหีบใบใหญ่ฉาบทองมีภาพวาดสวยงามประดับอยู่ และ ประติมากรรมบรอนซ์รูปแม่ชีนอนทุรนทุรายในเสื้อผ้าที่ยับยู่ยี่ ซึ่งมีผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่าใบหน้าที่ดูเจ็บปวดนั้นแท้จริงคือใบหน้าที่แสดงความเปี่ยมสุขซาบซึ้งในรสพระธรรม ในขณะที่ผู้รู้อีกบางคนบอกว่านี่คืออาการของคนกำลังจะตายมากกว่า เราฟังแล้วลองแล้วคิดไปว่าจะรวมเอาอารมณ์ทั้งสองอย่างเข้าไว้ในรูปเดียวกันได้ไหม คงต้องจุดธูปถามศิลปินละมั้ง ประติมากรรมนี้ชวนให้คิดถึงภาพแม่ชีเทเรซ่าของเบอร์นีนี่ ศิลปินยุคบาโรกในโบสถ์ที่กรุงโรมซึ่งแสดงอาการคล้ายๆกันและอาจเป็นต้นแบบของงานนี้ก็เป็นได้



นอกจากนี้ยังมีศิลปินดังอื่นๆ เช่น เรมบรานท์ เป็นภาพวาดพอร์ตเทรตใบหน้าตนเอง ซึ่งจะเห็นเกลื่อนตามแกลรี่ต่างๆทั่วโลกซึ่งต่างก็เป็นของแท้ทั้งสิ้น เพราะแกวาดไว้เยอะมากในช่วงวัยต่างๆตั้งแต่หนุ่มไปจนแก่ 



นอกจากนั้นมีงานของปีเตอร์ พอล รูเบน ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องภาพวาดเทพเจ้ากรีกและโรมัน โดยเฉพาะภาพเรื่องราวตอนที่พระพุธ (Mercury) อุ้มนางไซคีมายังสวรรค์ ซึ่งเป็นตอนจบหลังจากที่นางไซคีคู่รักของกามเทพถูกวีนัสซึ่งเป็นแม่ผัวใจร้าย (เพราะอิจฉาในความงามของนางไซคี) กลั่นแกล้งให้ไปผจญภัยแทบตาย ก่อนที่จะได้พบกับกามเทพอีกครั้ง หลังจากนั้นเทพซีอุสก็บัญชาให้พระพุธพานางเหาะลงมายังสวรรค์เพื่อครองรักกับคิวปิดต่อไป 

อันที่จริงเรื่องนี้มีความยืดยาวมากกว่านี้มาก แต่ตอนนี้ขอเชิญชวนให้ดูภาพงามกันก่อน หญิงชายเปลือยตรงกลางภาพคือพระพุธหรือเทพเมอร์คิวรี ใส่หมวดมีปีกและคฑารูปนกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว กำลังอุ้มนางไซคีแสนสวย รอบข้างนั้นมีตัวละครหลายตน อย่างเช่นกามเทพ และแม่ผัววีนัสซึ่งกำลังประทับบนรถทรง (แต่ทำไมดูเหมือนสเกตบอร์ดมากกว่า) และเทพเจ้าอื่นๆอีกสารพัด เป็นตอนจบที่มีความสุขก่อนจะตามมาด้วยการฉลองงานแต่งงานต่อไป


ต่อไปขอเชิญชมอีกห้องหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงนี้งานศิลปะยุโรปเข้าสู่ยุคนีโอคลาสสิก นำเอารูปแบบกรีกโรมันมาใช้อีกเพื่อแสดงความเป็นวีรบุรุษของเหตุการณ์ต่างๆ เราจึงได้เห็นภาพวีรกรรมในสงครามหลายภาพ และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคโรแมนติก ซึ่งไม่ได้หมายถึงความรักอย่างเดียวนะ แต่เป็นศิลปะจินตนิยมที่มุ่งเน้นการแสดงอารมณ์ต่างๆ รวมทั้งจินตนาการถึงดินแดนในฝัน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้เป็นอารมณ์แบบโลกสวยเสมอไป อย่างเช่นภาพคนกำลังโศกเศร้า ความพินาศ โศกนาฏกรรม ธรรมชาติที่มีพลังเหนือมนุษย์ ก็อาจพบในสไตล์นี้ได้ด้วยเช่นกัน

หลังจากนั้นก็เข้าสู่งานสมัยใหม่ โดยเฉพาะยุคของอิมเพรสชันนิสม์ อย่างเช่น ภาพของโกแกง รูปการต่อสู้ระหว่างยาโคปหรือจาคอบ (Jacob) กับทูตสวรรค์ ซึ่งแสดงการเป็นตัวแทนของฝ่ายมนุษย์กับฝ่ายจิตวิญญาณ แต่ส่วนที่โดดเด่นเห็นชัดกลับเป็นฝูงแม่ชีที่กำลังเฝ้าดูการต่อสู้นี้อยู่
รูปนี้มีความสำคัญคือมันบ่งชี้ถึงการหลุดออกจากกรอบของศิลปะยุโรปแบบเดิมไปแล้วเพราะภาพไม่ได้มีความสมจริงอีกต่อไป พื้นหลังสีแดงก็ไม่เหมือนจริง และไม่ได้ใช้ทัศนวิสัย (perspective) แสดงมิติของภาพตามที่สายตามนุษย์เห็นจริงอีกต่อไป แต่สามารถแสดงความตื้นลึกได้จากระนาบของรูปต่างๆ โดยผู้วาดได้แรงบันดาลใจมากจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่น


งานของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์อีกชิ้นคือรูปกองฟางของโมเนต์ ซึ่งมีหลายรูปและแสดงสีสันบรรยากาศที่แตกต่างกันในแต่ละเวลาและฤดูกาล ตัวอย่างเช่นในฤดูหนาวภาพจะดูเป็นสีฟ้าซีด แต่ฤดูอื่นอาจมีสีสด อีกทั้งยังแปรเปลี่ยนไปตามเวลาในแต่ละวันได้อีก นอกจากนี้ยังมีภาพต้นมะกอกของแวนโก๊ะอีกด้วย ดูแล้วประทับใจกับผีแปรงที่วาดฉวัดเฉวียนปัดป้ายและม้วนไปมาแบบฉับพลันตามสไตล์ของศิลปินพลังไฟคนนี้



นอกจากนี้มีก็งานของเดส์การตส์ (René Deartes) รูปนักบัลเลต์ที่เขาชอบวาดอยู่บ่อยๆ ภาพทิวทัศน์สวนครัวในชนบทของปิซาร์โร (Camille Pissarro) ส่วนภาพหนึ่งที่มีความสะดุดตามากคือคลื่นยักษ์ของกูร์แบ (Gustave Courbet) ที่นำเอาคลื่นสึนามิจากภาพพิมพ์ญี่ปุ่นมาใช้ต่อ ดูแล้วแลเห็นพลังคลุ้มคลั่งของน้ำทะเลที่กำลังเดือดดาลได้ชัดเจน



ส่วนต่อไปจะเป็นงานของศิลปินสก๊อตแลนด์ต่างๆ โดยคนแรกที่จะขอแนะนำคือศิลปินที่ทำงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์สุดเจ๋งชื่อว่าเซอร์ ดสวิด ยังก์ คาเมรอน (Sir David Young Cameron) งานจิตรกรรมของเขาเป็นภาพหยาบ ๆที่เน้นแสงเงาในช่วงเวลาต่างๆ บางภาพก็เป็นช่วงแดดแรงซึ่งมีเงามืดตัดแสงสว่างฉุบฉับ บางภาพเป็นสถาปัตยกรรมที่ทาบทับเป็นระนาบของผนังและเงา ทำให้ดูคล้ายภาพสไตล์คิวบิซึม และที่มีชื่อเสียงคือภาพทิวทัศน์ซึ่งก็เน้นแสงเงาเช่นเคย บางภาพวาดตอนแดดกำลังส่องสว่าง บางภาพดูเป็นช่วงตะวันขึ้นหรือตกซึ่งท้องฟ้าเริ่มขุ่นมัวมีเงื้อมเงา บางภาพก็มีสีซีดจางพร่าเลือนแลดูโรแมนติก 


ส่วนที่สร้างความประทับใจกับผมมากคืองานภาพพิมพ์โลหะเป็นลายเส้นต่างๆ รูปสิ่งของและงานทางสถาปัตยกรรม อย่างเช่นประติมากรรมกากอยบนหลังคา ภาพสถาปัตยกรรมในที่ต่างๆ รูปทรงงาม แสงเงาสวย ลายเส้นเลิศ ชมได้ไม่มีเบื่อ


คนต่อมาคือ Phoebe Anna Traquair (บางคนก็เรียกเธอว่าฟีบี้) งานของฟีบี้เป็นศิลปะที่มีลักษณะสวยงาม โดยจิตรกรรมหลายชิ้นเป็นภาพปักเส้นไหมบนผ้าลินิน บางชิ้นก็เป็นงานศิลปะตกแต่ง รูปแบบสไตล์ของเธอเป็นแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ซึ่งเป็นสไตล์ที่มีความอ่อนหวานเน้นสวยงามเป็นหลัก ภาพที่นำมาแสดงเป็นชุดภาพบุคคลสามภาพที่มีลักษณะแบบเทพนิยายซึ่งเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณมนุษย์สามประการ มีชื่อว่า The Progress of a Soul แสดงอารมณ์สามประการ คือความสิ้นหวัง (Despair) ความกังวล (Stress) และชัยชนะ (Victory)

ชิ้นหลังที่ชื่อชัยชนะเป็นภาพโรแมนติกที่สุด คือรูปพระเอกจูบกับนางเอกคล้ายกับการชุบชีวิตเจ้าหญิงนิทรา ความน่าประทับใจของงานทั้งคือความงามจาก สี รูปทรง ลักษณะการวางท่าและเส้นสายของตัวละครในภาพ ตกแต่งด้วยรายละเอียดประดับประดาของพรรณพฤกษาตามสไตล์ของอาร์ตนูโว ซึ่งดูแล้วขนลุกเลยเพราะแต่ละภาพเธอไม่ได้ใช้แปรงวาดแต่ใช้วิธีการปักไหมเส้นเล็กๆไปบนผ้า นับว่ามีพยายามอย่างสูงมาก



ภาพเขียนสุดพิศวงอีกภาพคือ ทิวทัศน์จากภูเขาภายใต้หมอกและแสงตะวันยามเย็น ที่ดูเรืองรองราวกับสวรรค์ มีเมฆแผ่มาปกคลุมบนยอดและธารน้ำไหล ดูแล้วมีความสุขสบายใจ และทึ่งในความอัศจรรย์ของธรรมชาติ
            งานนี้วาดโดยศิลปิน สก๊อตแลนด์ ชื่อว่า Peter Graham ซึ่งวาดภาพทิวทัศน์ไว้หลายรูปแบบ แต่มักจะเป็นทะเล ภูเขา ชนบท เป็นส่วนใหญ่ ทั้งภาพและแสงสีมีพลังธรรมชาติตามสไตล์โรแมนติก



ศิลปินชาวสก๊อตแลนด์อีกคนคือ Arthur Melville วาดภาพสีน้ำได้สวยม๊ากมาก โดยเฉพาะภาพชีวิตในดินแดนต่างๆ ซึ่งหลายภาพเกิดจากการได้ไปเห็นโลกจากการเดินทางไปในหลายส่วนของโลก โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง 

ภาพสะดุดตาอีกภาพ วาดโดย Gavin Hamilton มาจากเทพปกรณัมกรีก คือมหากาพย์อีเลียด (Eliot) ของกวีโฮเมอร์ เป็นรูปเปโตรคัส (Patroclus) พระเอกนักรบที่สิ้นใจตายจากสงคราม โดยมีเพื่อนรักของเขาคือ Achilles ได้เข้ากอดศพด้วยอาการโศกเศร้าอย่างสุดสลด ซึ่งภาพนี้ก็สามารถแสดงความเศร้าได้อย่างสะเทือนใจ นอกจากนั้นมีเกร็ดเล่ากันว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่