คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ในสมัยราชวงศ์ตองอูยุคต้นที่กษัตริย์พม่าตั้งราชธานีที่หงสาวดี เมืองตองอู แปร อังวะ เป็นศูนย์อำนาจขนาดใหญ่ที่มีกษัตริย์ปกครอง โดยมักเป็นพระญาติใกล้ชิดของพระเจ้าหงสาวดีเช่นพระอนุชาหรือพระโอรสครับ
เรื่องกำลังพลอาจจะเปรียบเทียบได้ยาก เพราะไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงจำนวนประชากรแต่ละเมืองในยุคนั้นอย่างชัดเจน แต่ถ้าให้เทียบระดับความสำคัญของหัวเมือง เมืองเหล่านี้น่าจะเทียบได้กับ "เมืองพญามหานคร" ที่เป็นศูนย์อำนาจขนาดใหญ่บริเวณรอบนอกของกรุงศรีอยุทธยาทั้งสี่ทิศครับ
ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุทธยาถึงกรุงศรีอยุทธยาตอนต้น รูปแบบการปกครองนั้นมีความใกล้เคียงกับ "นครรัฐ" (city-state) หรือที่นักประวัติศาสตร์บางคนใช้คำว่า "รัฐแว่นแคว้น" (Chartered States) คือมีรัฐเล็กจำนวนมากที่อยู่ในอาณัติของรัฐใหญ่ เช่น กรุงศรีอยุทธยาเป็นเจ้าอธิราชเหนือรัฐอื่นๆ ที่มีสามนตราชหรือเจ้าขัณฑสีมาที่มีอำนาจเต็มเป็นผู้ปกครอง เช่น ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) มีสุพรรณภูมิและลพบุรีปกครองโดยสามนตราชที่เป็นพระญาติ มีพญาประเทศราช 16 เมืองคือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองขึ้น
เดิมในสมัยอยุทธยาตอนต้นที่อยุทธยายังแผ่ขยายอาณาเขตไปไม่กว้างมาก มีอำนาจปกครองเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ปรากฏว่าเมืองนครศรีธรรมราช หรือเมืองเหนือเช่น พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ยังถูกจัดเป็นเมืองประเทศราชอยู่ ในสมัยนั้นจึงเข้าใจว่ายังมีกษัตริย์ปกครองเมืองตนเองอยู่
แม้ต่อมาอยุทธยาจะขยายอำนาจไปครอบครองหัวเมืองเหล่านี้ไว้ได้ หัวเมืองเหล่านี้ก็ยังคงมีกษัตริย์ปกครองตนเองโดยยอมอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์อยุทธยาอีกต่อหนึ่ง เช่น ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา) หัวเมืองฝ่ายเหนือต่างมีเจ้าปกครองโดยอยู่ใต้อำนาจอยุทธยาอีกต่อหนึ่ง ได้แก่ พระมหาธรรมราชาธิราช (พรญาบาลเมือง) เจ้าเมืองพิษณุโลก พรญารามราชเจ้าเมืองสุโขทัย พรญาเชลียงเจ้าเมืองสวรรคโลก และพรญาแสนสอยดาวเจ้าเมืองกำแพงเพชร นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ เพราะพระราชเทวีของสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นพี่น้องกับพรญาบาลเมือง และเป็นพระมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ศูนย์อำนาจขนาดใหญ่รอบนอกที่เคยเป็นประเทศราชถูกผนวกเข้ามาเป็น "เมืองพญามหานคร" แยกออกมาจาก "เมืองประเทศราช" มีเขตอิทธิพลขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้นกว่าในช่วงอยุทธยาตอนต้น
กฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กล่าวถึงพญามหานครถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 8 เมือง คือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี ทวาย จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าในสมัยอยุทธยาตอนกลาง ตำแหน่ง "พญามหานคร" ผู้ปกครองเมืองมักเป็นพระราชวงศ์หรือขุนนางผู้ใหญ่คนสำคัญ
(ในทางปฏิบัติทวายถูกแย่งชิงไปมาระหว่างอยุทธยากับพม่า ในยุคหลังส่วนใหญ่อยู่ใต้อำนาจพม่ามากกว่า ผู้ปกครองมักเป็นชาวทวายพื้นเมือง สถานะใกล้เคียงประเทศราช มากกว่าตะนาวศรีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอยุทธยาใกล้ชิดกว่า)
กฎมณเฑียรบาลยังกล่าวถึงพระราชกุมารที่เกิดจากลูกหลวงได้กินเมืองเอก พระราชกุมารที่เกิดจากหลานหลวงได้กินเมืองโท เมืองลูกหลวงคือ พิษณุโลก สวรรคโลก กำแพงเพชร ลพบุรี สิงห์บุรี เมืองหลานหลวงคือ อินทร์บุรี พรหมบุรี มีการวิเคราะห์การแบ่งเมืองชั้นเอกชั้นโทในยุคนั้นอาจยังไม่เหมือนในสมัยหลัง โดยตามกฎมณเฑียรบาลเมืองลูกหลวงน่าจะเป็นเมืองชั้นเอก เมืองหลานหลวงเป็นเมืองชั้นโท สะท้อนให้เห็นการครองเมืองของเจ้าในยุคนั้น
พระราชบัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 1 อ้างถึง “กำหนดกฎมนเทียรบาลกระษัตรแต่ปางก่อน” ว่ามีเมืองพญามหานคร 16 เมือง (เข้าใจว่าเพิ่มขึ้นหลังรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ) ได้แก่ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ตาก นครราชสีมา พิชัย เพชรบูรณ์ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง พัทลุง สงขลา ถลาง จันทบูร นครศรีธรรมราช ตะนาวศรี ทวาย (ควรจะมีสุโขทัยด้วย) โดยกำหนดว่าเมืองเหล่านี้ให้ “อนุวงษราชวงษ” เป็นพญามหานครครอบครองเป็นเจ้าของ จึงแสดงว่าผู้ปกครองเมืองเหล่านี้เป็นเจ้าหรือเชื้อสายเจ้า (แต่ในยุคหลังมีแต่ขุนนางปกครอง)
จดหมายเหตุ Suma Oriental ของ โตเม่ ปิรึช (Tomé Pires) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามายังภูมิภาคอุษาคเนย์ใน พ.ศ. 2055 – 2058 รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2) เรียกพญามหานครว่า อุปราช (viceroy) เวลานั้นมีทั้งหมดสามคนซึ่งมีอำนาจสูงมากในดินแดนใต้ปกครองของตนเองไม่ต่างจากกษัตริย์ ได้แก่
- ออกญากำแพงเพชร (Aja Capẽtit) เป็นผู้ดูแลดินแดนฝั่งพะโค (มอญ) และกัมพูชา ทำสงครามกับพม่าและเชียงใหม่ มีไพร่พลจำนวนมาก มีอำนาจในดินแดนของตนเสมอกับกษัตริย์องค์หนึ่ง
- เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกเรียกว่า "พ่ออยู่หัว" (Poyohya) เป็นผู้ปกครองเมืองตั้งแต่เมืองปะหังขึ้นมาถึงอโยธยา ได้แก่ ปะหัง ตรังกานู จันตันสาย (Chantansay) ปัตตานี นครศรีธรรมราช ไมตาราม (Maitaram) คาลนาไซ (Calnãsey) บานคา (Banqa) จตุรมุข (Chotomuj) เพชรบุรี ปันโกราย (Pamgoray) และเมืองท่าอื่นๆ ซึ่งล้วนมีเจ้าเมืองเสมือนกษัตริย์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะร่ำรวยและเป็นบุคคลสำคัญมากเกือบเท่าออกญากำแพงเพชร
- ออกญาสุโขทัย (Vya Chacotay) เป็นผู้ปกครองฝั่งเมืองตะนาวศรี ตรัง และเคดะห์ และมีอำนาจสิทธิขาดเหนือดินแดนเหล่านั้นทั้งหมด ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตะนาวศรีมาโดยตลอด เป็นเจ้าผู้ปกครองคนและดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารจำนวนมาก
เมืองพญามหานครหลายเมืองยังพบหลักฐานว่ามีเจ้านายระดับสูงปกครองมาจนถึงสมัยหลัง โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองระดับเอกอุของฝ่ายเหนือ ยังมีพระราชวงศ์เป็นพระมหาอุปราชปกครองหลายรัชกาล
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์เมืองพิษณุโลก และยกพระธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี จึงมีสายสัมพันธ์กับอยุทธยาด้วยการเกี่ยวดองแบบเครือญาติด้วย แต่มีสถานะและเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองทั่วไป และน่าเชื่อว่ามีอิทธิพลเหนือเมืองเหนืออื่นๆ ด้วย
ด้วยความที่มีอำนาจทางการปกครองสูงก็เสี่ยงต่อการแยกตนเป็นอิสระได้สูงเช่นเดียวกันหากอยุทธยาไม่มีอำนาจควบคุม หรือเกิดความขัดแย้งทางการเมือง พอหลังช่วงสงครามช้างเผือกที่เมืองเหนือทั้งหลายไปเข้ากับหงสาวดี พบหลักฐานว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชามีอำนาจบัญชาเมืองเหนือเป็นสิทธิขาดและสามารถครอบงำการเมืองในราชสำนักอยุทธยาได้ด้วย (เข้าใจว่าเพราะมีหงสาวดีสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง) จนนำมาสู่ความแตกแยกกับอยุทธยาที่นำมาสู่สงครามเสียกรุง พ.ศ. 2112
หลักฐานพม่ายังระบุว่าพญามหานครเมืองเหนือหลานเมืองเป็นพระราชวงศ์ ในช่วงสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ล้อมกรุงศรีอยุทธยา ออกญาสวรรคโลกเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในสงครามช้างเผือกมีออกญาสุโขทัย ออกญาพิชัย เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเช่นเดียวกัน
หลักฐานชั้นต้นของดัตช์สมัยพระเจ้าปราสาททองระบุว่า หัวเมืองเหนือทั้งสี่คือ พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของราชอาณาจักร เป็นหัวเมืองใหญ่มีกำแพงเมืองแข็งแกร่ง เจ้าเมืองต้องเป็นพระราชวงศ์ หรือหากไม่ใช่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสถานะยิ่งใหญ่ทรงอิทธิพลสูงสุดเท่านั้น แต่พระเจ้าปราสาททองเองก็ทรงมีนโยบายลดอำนาจหัวเมืองลงมาก เช่น สลับตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นประจำ หรือให้เจ้าเมืองลงมาประจำการในราชธานีและให้ขุนนางที่มีอำนาจน้อยกว่าไปรักษาเมืองแทน ทำให้อิทธิพลของพญามหานครเสื่อมลงไป จนในสมัยอยุทธยาตอนปลายก็ไม่พบหลักฐานว่ามีการตั้งพระราชวงศ์ที่มีอำนาจเต็มไปปกครองเมืองอีกแล้ว กลายเป็นเพียงหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา ทั่วไปที่ไม่ได้ปรากฏบทบาทสำคัญมากเท่าในอดีตครับ
สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็วหัวเมืองเอกฝ่ายใต้ ในพุทธศตวรรษที่ 22 ยังปรากฏในหลักฐานชั้นต้นว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษสามารถทำสัญญาทางการค้ากับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและซื้อพริกไทยจากเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยตรง สะท้อนว่าเมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้นน่าจะยังมีอิทธิพลอยู่มาก และน่าจะยังคงมีเครือข่ายอยู่ในหัวเมืองปากใต้อื่นๆ ตำราพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาเมืองพัทลุงในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2153 มีการระบุให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชรับผิดชอบการกัลปนาในเมืองพัทลุงด้วย จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช 1 (จ. 48) ระบุว่าใน พ.ศ. 2155 ออกญาพัทลุงได้มาเป็นพระยานคร
ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 นครศรีธรรมราชเสื่อมอำนาจลงไป แต่ยังพบว่ามีศักยภาพที่จะก่อกบฏต่ออยุทธยาได้ในสมัยพระเจ้าเสือ เช่นเดียวกับเมืองนครราชสีมาที่เป็นศูนย์อำนาจใหญ่ของภาคตะวันออกที่ก่อกบฏครั้งใหญ่ในสมัยพระเพทราชา
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าโดยสถานะของตองอู แปร อังวะ ในราชวงศ์ตองอูยุคต้น น่าจะเทียบได้กับเมืองพญามหานครสำคัญของอยุทธยาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่มีพระราชวงศ์ปกครอง เช่น พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช และน่าจะรวมศูนย์อำนาจสำคัญอย่างนครศรีธรรมราชกับตะนาวศรีด้วย แม้ว่าสองเมืองหลังจะไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงผู้ปกครองที่เป็นพระราชวงศ์ชัดเจนนักครับ
เรื่องกำลังพลอาจจะเปรียบเทียบได้ยาก เพราะไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงจำนวนประชากรแต่ละเมืองในยุคนั้นอย่างชัดเจน แต่ถ้าให้เทียบระดับความสำคัญของหัวเมือง เมืองเหล่านี้น่าจะเทียบได้กับ "เมืองพญามหานคร" ที่เป็นศูนย์อำนาจขนาดใหญ่บริเวณรอบนอกของกรุงศรีอยุทธยาทั้งสี่ทิศครับ
ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุทธยาถึงกรุงศรีอยุทธยาตอนต้น รูปแบบการปกครองนั้นมีความใกล้เคียงกับ "นครรัฐ" (city-state) หรือที่นักประวัติศาสตร์บางคนใช้คำว่า "รัฐแว่นแคว้น" (Chartered States) คือมีรัฐเล็กจำนวนมากที่อยู่ในอาณัติของรัฐใหญ่ เช่น กรุงศรีอยุทธยาเป็นเจ้าอธิราชเหนือรัฐอื่นๆ ที่มีสามนตราชหรือเจ้าขัณฑสีมาที่มีอำนาจเต็มเป็นผู้ปกครอง เช่น ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) มีสุพรรณภูมิและลพบุรีปกครองโดยสามนตราชที่เป็นพระญาติ มีพญาประเทศราช 16 เมืองคือ เมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองขึ้น
เดิมในสมัยอยุทธยาตอนต้นที่อยุทธยายังแผ่ขยายอาณาเขตไปไม่กว้างมาก มีอำนาจปกครองเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง ปรากฏว่าเมืองนครศรีธรรมราช หรือเมืองเหนือเช่น พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ยังถูกจัดเป็นเมืองประเทศราชอยู่ ในสมัยนั้นจึงเข้าใจว่ายังมีกษัตริย์ปกครองเมืองตนเองอยู่
แม้ต่อมาอยุทธยาจะขยายอำนาจไปครอบครองหัวเมืองเหล่านี้ไว้ได้ หัวเมืองเหล่านี้ก็ยังคงมีกษัตริย์ปกครองตนเองโดยยอมอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์อยุทธยาอีกต่อหนึ่ง เช่น ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา) หัวเมืองฝ่ายเหนือต่างมีเจ้าปกครองโดยอยู่ใต้อำนาจอยุทธยาอีกต่อหนึ่ง ได้แก่ พระมหาธรรมราชาธิราช (พรญาบาลเมือง) เจ้าเมืองพิษณุโลก พรญารามราชเจ้าเมืองสุโขทัย พรญาเชลียงเจ้าเมืองสวรรคโลก และพรญาแสนสอยดาวเจ้าเมืองกำแพงเพชร นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ เพราะพระราชเทวีของสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นพี่น้องกับพรญาบาลเมือง และเป็นพระมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ศูนย์อำนาจขนาดใหญ่รอบนอกที่เคยเป็นประเทศราชถูกผนวกเข้ามาเป็น "เมืองพญามหานคร" แยกออกมาจาก "เมืองประเทศราช" มีเขตอิทธิพลขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้นกว่าในช่วงอยุทธยาตอนต้น
กฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ กล่าวถึงพญามหานครถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 8 เมือง คือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี ทวาย จากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าในสมัยอยุทธยาตอนกลาง ตำแหน่ง "พญามหานคร" ผู้ปกครองเมืองมักเป็นพระราชวงศ์หรือขุนนางผู้ใหญ่คนสำคัญ
(ในทางปฏิบัติทวายถูกแย่งชิงไปมาระหว่างอยุทธยากับพม่า ในยุคหลังส่วนใหญ่อยู่ใต้อำนาจพม่ามากกว่า ผู้ปกครองมักเป็นชาวทวายพื้นเมือง สถานะใกล้เคียงประเทศราช มากกว่าตะนาวศรีที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอยุทธยาใกล้ชิดกว่า)
กฎมณเฑียรบาลยังกล่าวถึงพระราชกุมารที่เกิดจากลูกหลวงได้กินเมืองเอก พระราชกุมารที่เกิดจากหลานหลวงได้กินเมืองโท เมืองลูกหลวงคือ พิษณุโลก สวรรคโลก กำแพงเพชร ลพบุรี สิงห์บุรี เมืองหลานหลวงคือ อินทร์บุรี พรหมบุรี มีการวิเคราะห์การแบ่งเมืองชั้นเอกชั้นโทในยุคนั้นอาจยังไม่เหมือนในสมัยหลัง โดยตามกฎมณเฑียรบาลเมืองลูกหลวงน่าจะเป็นเมืองชั้นเอก เมืองหลานหลวงเป็นเมืองชั้นโท สะท้อนให้เห็นการครองเมืองของเจ้าในยุคนั้น
พระราชบัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 1 อ้างถึง “กำหนดกฎมนเทียรบาลกระษัตรแต่ปางก่อน” ว่ามีเมืองพญามหานคร 16 เมือง (เข้าใจว่าเพิ่มขึ้นหลังรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ) ได้แก่ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ตาก นครราชสีมา พิชัย เพชรบูรณ์ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง พัทลุง สงขลา ถลาง จันทบูร นครศรีธรรมราช ตะนาวศรี ทวาย (ควรจะมีสุโขทัยด้วย) โดยกำหนดว่าเมืองเหล่านี้ให้ “อนุวงษราชวงษ” เป็นพญามหานครครอบครองเป็นเจ้าของ จึงแสดงว่าผู้ปกครองเมืองเหล่านี้เป็นเจ้าหรือเชื้อสายเจ้า (แต่ในยุคหลังมีแต่ขุนนางปกครอง)
จดหมายเหตุ Suma Oriental ของ โตเม่ ปิรึช (Tomé Pires) นักเดินเรือชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามายังภูมิภาคอุษาคเนย์ใน พ.ศ. 2055 – 2058 รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2) เรียกพญามหานครว่า อุปราช (viceroy) เวลานั้นมีทั้งหมดสามคนซึ่งมีอำนาจสูงมากในดินแดนใต้ปกครองของตนเองไม่ต่างจากกษัตริย์ ได้แก่
- ออกญากำแพงเพชร (Aja Capẽtit) เป็นผู้ดูแลดินแดนฝั่งพะโค (มอญ) และกัมพูชา ทำสงครามกับพม่าและเชียงใหม่ มีไพร่พลจำนวนมาก มีอำนาจในดินแดนของตนเสมอกับกษัตริย์องค์หนึ่ง
- เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกเรียกว่า "พ่ออยู่หัว" (Poyohya) เป็นผู้ปกครองเมืองตั้งแต่เมืองปะหังขึ้นมาถึงอโยธยา ได้แก่ ปะหัง ตรังกานู จันตันสาย (Chantansay) ปัตตานี นครศรีธรรมราช ไมตาราม (Maitaram) คาลนาไซ (Calnãsey) บานคา (Banqa) จตุรมุข (Chotomuj) เพชรบุรี ปันโกราย (Pamgoray) และเมืองท่าอื่นๆ ซึ่งล้วนมีเจ้าเมืองเสมือนกษัตริย์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชมีฐานะร่ำรวยและเป็นบุคคลสำคัญมากเกือบเท่าออกญากำแพงเพชร
- ออกญาสุโขทัย (Vya Chacotay) เป็นผู้ปกครองฝั่งเมืองตะนาวศรี ตรัง และเคดะห์ และมีอำนาจสิทธิขาดเหนือดินแดนเหล่านั้นทั้งหมด ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตะนาวศรีมาโดยตลอด เป็นเจ้าผู้ปกครองคนและดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารจำนวนมาก
เมืองพญามหานครหลายเมืองยังพบหลักฐานว่ามีเจ้านายระดับสูงปกครองมาจนถึงสมัยหลัง โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลกที่เป็นเมืองระดับเอกอุของฝ่ายเหนือ ยังมีพระราชวงศ์เป็นพระมหาอุปราชปกครองหลายรัชกาล
ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์เมืองพิษณุโลก และยกพระธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี จึงมีสายสัมพันธ์กับอยุทธยาด้วยการเกี่ยวดองแบบเครือญาติด้วย แต่มีสถานะและเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองทั่วไป และน่าเชื่อว่ามีอิทธิพลเหนือเมืองเหนืออื่นๆ ด้วย
ด้วยความที่มีอำนาจทางการปกครองสูงก็เสี่ยงต่อการแยกตนเป็นอิสระได้สูงเช่นเดียวกันหากอยุทธยาไม่มีอำนาจควบคุม หรือเกิดความขัดแย้งทางการเมือง พอหลังช่วงสงครามช้างเผือกที่เมืองเหนือทั้งหลายไปเข้ากับหงสาวดี พบหลักฐานว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชามีอำนาจบัญชาเมืองเหนือเป็นสิทธิขาดและสามารถครอบงำการเมืองในราชสำนักอยุทธยาได้ด้วย (เข้าใจว่าเพราะมีหงสาวดีสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง) จนนำมาสู่ความแตกแยกกับอยุทธยาที่นำมาสู่สงครามเสียกรุง พ.ศ. 2112
หลักฐานพม่ายังระบุว่าพญามหานครเมืองเหนือหลานเมืองเป็นพระราชวงศ์ ในช่วงสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ล้อมกรุงศรีอยุทธยา ออกญาสวรรคโลกเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในสงครามช้างเผือกมีออกญาสุโขทัย ออกญาพิชัย เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเช่นเดียวกัน
หลักฐานชั้นต้นของดัตช์สมัยพระเจ้าปราสาททองระบุว่า หัวเมืองเหนือทั้งสี่คือ พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นเมืองที่สำคัญที่สุดของราชอาณาจักร เป็นหัวเมืองใหญ่มีกำแพงเมืองแข็งแกร่ง เจ้าเมืองต้องเป็นพระราชวงศ์ หรือหากไม่ใช่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสถานะยิ่งใหญ่ทรงอิทธิพลสูงสุดเท่านั้น แต่พระเจ้าปราสาททองเองก็ทรงมีนโยบายลดอำนาจหัวเมืองลงมาก เช่น สลับตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นประจำ หรือให้เจ้าเมืองลงมาประจำการในราชธานีและให้ขุนนางที่มีอำนาจน้อยกว่าไปรักษาเมืองแทน ทำให้อิทธิพลของพญามหานครเสื่อมลงไป จนในสมัยอยุทธยาตอนปลายก็ไม่พบหลักฐานว่ามีการตั้งพระราชวงศ์ที่มีอำนาจเต็มไปปกครองเมืองอีกแล้ว กลายเป็นเพียงหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี จัตวา ทั่วไปที่ไม่ได้ปรากฏบทบาทสำคัญมากเท่าในอดีตครับ
สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชที่เป็วหัวเมืองเอกฝ่ายใต้ ในพุทธศตวรรษที่ 22 ยังปรากฏในหลักฐานชั้นต้นว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษสามารถทำสัญญาทางการค้ากับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและซื้อพริกไทยจากเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยตรง สะท้อนว่าเมืองนครศรีธรรมราชในยุคนั้นน่าจะยังมีอิทธิพลอยู่มาก และน่าจะยังคงมีเครือข่ายอยู่ในหัวเมืองปากใต้อื่นๆ ตำราพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาเมืองพัทลุงในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2153 มีการระบุให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชรับผิดชอบการกัลปนาในเมืองพัทลุงด้วย จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช 1 (จ. 48) ระบุว่าใน พ.ศ. 2155 ออกญาพัทลุงได้มาเป็นพระยานคร
ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 นครศรีธรรมราชเสื่อมอำนาจลงไป แต่ยังพบว่ามีศักยภาพที่จะก่อกบฏต่ออยุทธยาได้ในสมัยพระเจ้าเสือ เช่นเดียวกับเมืองนครราชสีมาที่เป็นศูนย์อำนาจใหญ่ของภาคตะวันออกที่ก่อกบฏครั้งใหญ่ในสมัยพระเพทราชา
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าโดยสถานะของตองอู แปร อังวะ ในราชวงศ์ตองอูยุคต้น น่าจะเทียบได้กับเมืองพญามหานครสำคัญของอยุทธยาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่มีพระราชวงศ์ปกครอง เช่น พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช และน่าจะรวมศูนย์อำนาจสำคัญอย่างนครศรีธรรมราชกับตะนาวศรีด้วย แม้ว่าสองเมืองหลังจะไม่พบหลักฐานที่กล่าวถึงผู้ปกครองที่เป็นพระราชวงศ์ชัดเจนนักครับ
แสดงความคิดเห็น
หัวเมืองของกรุงศรีอยุทธยาเทียบกับหัวเมืองพม่า