ตอนกรุงศรีแตก ไม่ได้มีแค่คนกรุงศรีเท่านั้นเหรอที่ถูกกวาดต้อน

ตอนกรุงแตกนอกเหนือจากชาวอยุธยาแล้วยังมีคนชาติอื่นโดนกวาดต้อนไปอังวะด้วยเหรอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
มีหลักฐานกล่าวถึงคริสตังที่ถูกกวาดต้อนไปหลายคน เช่น ปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) สังฆราชแห่งธราบากา ผู้เป็นประมุขมิสซังสยามคนสุดท้ายในสมัยอยุทธยา  ก่อนเสียกรุงได้ไปเจรจากับพม่าโดยตกลงว่าถ้ายอมให้จับแต่โดยดีพม่าจะไม่ทำอันตรายต่อวัดคริสต์และโรงเรียนสามเณร  แต่สุดท้ายพม่าไม่ได้ทำตามสัญญา  ได้เผาค่ายของชาวคริสต์ลุกลามไปติดวัดด้วย แล้วกวาดต้อนทรัพย์สมบัติกับบรรดามิชชันนารีและคริสตังทั้งหลายกลับไป   โดยพม่าให้อยู่ภายใต้ความดูแลของเมอซิเออร์กอร์ (M. Core) บาทหลวงฝรั่งเศสราว 300 กว่าคน     กลุ่มของเมอซิเออร์กอร์สามารถหลบหนีไปอยู่ที่บางกอกแล้วเดินทางไปที่พุทไธมาศในกัมพูชา    ภายหลังเมอซิเออร์กอร์กลับเข้ามาเมืองไทยในสมัยธนบุรี และได้เขียนจดหมายราชงานสถานการณ์เกี่ยวกับเมืองไทยหลายฉบับ

ฝ่ายสังฆราชบรีโกกับชาวโปรตุเกสและคริสตังอีกหลายคนยังอยู่ภายใต้การควบคุมของพม่าและถูกกวาดต้อนไปถึงเมืองทวาย เมืองย่างกุ้ง ภายหลังได้รับความช่วยเหลือให้ได้ลงเรือของฝรั่งเศสเดินทางไปเมืองปอนดินเชอรีในอินเดียและกลับฝรั่งเศส    หนังสือประวัติศาสตร์สยามชิ้นสำคัญคือ Histoire naturelle et civile du royaume de Siam ของ ฟร็องซัวส์ อ็องรี ตุรแปง (François-Henri Turpin) ก็ได้อ้างอิงข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงเสียกรุงจากสังฆราชบรีโกด้วย แต่ถูกสังฆราชโจมตีว่าถ่ายทอดข้อมูลไม่ตรงกับเจตนาของท่านครับ


นอกจากนี้ยังมีบันทึกคำให้การของชาวอาร์เมเนียนชื่อ แอนโธนี โกยาทอน (Anthony Goyaton) อดีตผู้นำชุมชนชาวยุโรปในสยาม กับนักบวชอาหรับชื่อ ซัยยิด อาลี (Seyed Ali) ซึ่งถูกพม่าจับเป็นเชลย ระบุว่าตนเองกับเชลยชาวโปรตุเกส อาร์เมเนีย มอญ ไทย มลายู ทั้งชายหญิงและเด็กประมาณ 1,000 คนถูกกวาดต้อนไปเมืองหงสาวดีโดยมีพม่าควบคุมเพียง 15 คน  ระหว่างทางจึงหาโอกาสหลบหนีออกมาได้จนมาอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณสามเดือน จึงอาศัยเรือเล็กของชาวจีนเดินทางไปกัมพูชา แล้วไปยังปาเล็มบัง



บทความ Early British Merchant In Bangkok ของ R. Adey Moore ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม อ้างว่าหลานปู่ผู้ชายคนเดียวของคอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) หรือออกญาวิไชยเยนทร์ เสนาบดีชาวกรีกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์  ชื่อจอห์น (John) ถูกจับเป็นเชลยตอนเสียกรุง  แต่ใน ค.ศ. 1769 (พ.ศ. 2312) หลบหนีกลับมาเมืองไทยและตั้งรกรากอยู่ที่วัดซางตาครู้สในบางกอก  

ส่วนหลานสาวคนหนึ่งของฟอลคอนถูกกวาดต้อนไปเมืองมะริด ได้พบกับ Jean Chi คาทอลิกจากมาเก๊าผู้เป็นนายกองโปรตุเกสในกองทัพพม่า ทั้งสองแต่งงานกันในเมืองมะริดเมื่อ ค.ศ. 1768 (พ.ศ. 2311)   มีลูกสาวชื่อฟิลิปปา (Philippa) ซึ่งแต่งงานกับชายเชื้อสายโปรตุเกสชื่อ Ta Vian  ภายหลังฟิลิปปาไปอาศัยอยู่ที่ชุมชนวัดซางตาครู้สในเมืองไทย ยังมีชีวิตอยู่ใน ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2394)   ฟิลิปปามีลูกสาวชื่อ แองเจลิน่า ทรัพย์ (Angelina Sap) เกิดใน ค.ศ. 1805 (พ.ศ. 2348)   ต่อมาใน ค.ศ. 1825 (พ.ศ. 2368) ได้แต่งงานกับกับ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษ

แต่บทความนี้ยังน่าสงสัยอยู่ เพราะเมื่อตรวจสอบกับหลักฐานชั้นต้นของมิชชันนารีฝรั่งเศสในสมัยอยุทธยาพบว่าหลานปู่ของฟอลคอนมีชื่อว่า "คอนสแตนติน" (Constantin)  ไม่ได้ชื่อจอห์น    แผนผังตระกูลของบทความนี้ยังให้ข้อมูลว่าลูกชายของฟอลคอนผู้เป็นบิดาของจอห์นเสียชีวิตใน ค.ศ. 1754 (พ.ศ. 2297) รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขัดแย้งกับหลักฐานชั้นต้นที่บ่งชี้ว่า "จอร์จ" (Georges) บุตรชายคนเดียวของฟอลคอนผู้เป็นบิดาของคอนสแตนตินเสียชีวิตไปตั้งแต่ ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) ปีที่พระเจ้าท้ายสระขึ้นครองราชย์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่