JJNY : 5in1 เตือนรัฐลักไก่กม.ฉุกเฉิน│อัด‘ก.ท่องเที่ยวฯ’อืดอาด│‘พริก’ขึ้นมหาโหด│สภาสุดอืด! ถกงบ 66│นร.ติดท็อป20ซื้อโฆษณา

นักวิชาการเตือน รัฐลักไก่ออกคำสั่งกม.ฉุกเฉิน เปิดช่องใช้ทหารคุมม็อบ แม้ไร้ฐานอำนาจ
https://www.matichon.co.th/politics/news_3514550
  
 
นักวิชาการปูดรัฐแอบลักไก่ ออกคำสั่งกม.ฉุกเฉิน เปิดช่องใช้ทหารคุมม็อบ แม้ไร้ฐานอำนาจ ลั่น ถึงเวลา เลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนข้อความวิเคราะห์ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าอาจเป็นการลักไก่ เปิดช่องใช้ทหารคุมม็อบ  โดย ระบุว่า
 
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุม ห้ามทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด ฉบับที่ 15   ผลคือให้ ย้อนกลับไปใช้เกณฑ์ใน พรบ.ชุมนุมฯ แต่จะลงโทษตาม พรก.ฉุกเฉินฯ พูดง่าย ๆ คือ ลักไก่เพิ่มโทษ ที่จะเอาผิดกับผู้ชุมนุมนั้นแหละ
 
ในวันเดียวกัน ผบ.สูงสุดในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงฯ ก็มีคำสั่ง ที่7/2565 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พรก ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 มอบอำนาจให้ ผบ.ตร.สามารถประสานร้องขอการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทัพได้ (ดู ข้อ 4.)
 
ถึงจุดนี้ก็น่าสงสัยว่า จะให้ผบ.ตร.ร้องขอการสนับสนุนอะไร เพราะถ้าจะให้ทหารเข้าระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบ (เช่น ปราบม็อบ) กรณีอย่างนี้ทำไม่ได้แน่ ๆ เพราะอยู่นอกขอบอำนาจของมาตรา 9 พรก.ฉุกเฉินฯ ถ้าจะใช้กลไกนี้ ต้องไปออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง แล้วนายกฯจึงจะมีอำนาจ ตามมาตรา 11 เรียกให้ทหารเข้ามาช่วย ตาม ม. 11(10)
 
เรื่องนี้มีปัญหา 2 ประเด็นใหญ่ๆ
 
(1) ปัญหาความชอบด้านเงื่อนไข
 
เหตุที่จะประกาศ ม.11 ได้ กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็น สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว ไม่ใช่เหตุสถานการณ์ฉุกเฉินเฉยๆ
 
(2) ปัญหาความชอบด้วยกฎหมายผู้ใช้อำนาจออกคำสั่ง   แน่นอนว่าอำนาจตาม ม.11 ระบุชัดว่าเป็นอำนาจของนายกฯ โดยความเห็นชอบจาก ครม. ไม่ใช่ อำนาจของ ผบ.ทหารสูงสุด  การให้ทหารมาคุมม็อบจึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อบทบัญญัติ พรก.ฉุกเฉินโดยชัดเจน
  
1. ออกประกาศโดยไม่มีฐานอำนาจ และ 2.ออกคำสั่งโดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอำนาจ ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ ผมเห็นว่าอย่างไรก็ไม่ควรทำ เพราะทหารไม่ได้ถูกฝึกถูกอบรมมาแบบตำรวจ มิติในการมองปัญหา แก้ไขปัญหาและมีเป้าหมายในการใช้กำลังต่างกัน  ตำรวจฝึกมาให้จับ ทหารฝึกมาให้ฆ่า เชิญทหารมาใช้กับพลเรือนเป็นการใช้คนไม่ถูกกับงาน  ใช้อำนาจฉุกเฉินจนเคยตัว ลักไก่เพิ่มโทษยังไม่พอ นี่เล่นลักไก่เปิดช่องใช้ทหารคุมม็อบอีก  ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้แล้ว!
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  ในเรื่องนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLawได้เคยอธิบายไว้ในเว็บไซต์ถึงคำสั่งดังกล่าวว่า ประกาศห้ามชุมนุมฉบับใหม่ ลักไก่เพิ่มโทษผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ  โดย ระบุว่า

1 สิงหาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 15 (ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 15) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
- ห้ามไม่ให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือ ฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือ กลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค
 
- ห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุมและพื้นที่เฝ้าระวังสูง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 37 และ 47
 
- การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นท่ีเฝ้าระวังให้ดำเนินการตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 46 และ 47
 
ทั้งนี้ ในประกาศยังระบุด้วยว่า ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม
 
สำหรับประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 15 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการการออกข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 47 ที่กำหนดให้ “ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง” ซึ่งสอดคล้องกับคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ฉบับที่ 12/2565 ได้กำหนดให้ “ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง” มาก่อนหน้านี้แล้ว
 
นอกจากนี้ ในข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 47 ยังกำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธสามารถกระทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อาทิ ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ต่อตำรวจในท้องที่ที่มีการชุมนุม เป็นต้น
 
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ในปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้โดยอนุโลมมาแล้ว ได้แก่ ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ที่สั่งให้การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หรือให้นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กลับมาใช้เป็นกฎหมายหลัก แต่ทว่า ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้มีการเพิ่มโทษหรือให้นำโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้กับการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อย่างใด
 
ในขณะที่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 15 มีการกำหนดให้นำบทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้สำหรับการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย ทั้งที่ในการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าบทลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่หลายมาตรา ยกตัวอย่างเช่น
 
• การชุมนุมในพื้นที่ห้ามชุมนุมตามมาตรา 7 (รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล) มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• การไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 10 หรือ การไม่ยื่นผ่อนผันกำหนดเวลาแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 12 มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
• การไม่ปฏิบัตามตามหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมตามมาตรา 15 (1) (2) หรือ (3) และหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามมาตา 16(1) หรือ (2) มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
   
ดังนั้น ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 15 จึงถือว่าเป็นการ ‘ลักไก่’ เพิ่มบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

https://www.facebook.com/patvc74/posts/pfbid01SSn19T4kv77Wy9BaSaiKsSndRXVJRNCHCmAieRw4BoRakbApEvNUxqnkm6aNh5Fl
 

 
‘ฝ่ายค้าน’ อัด ‘ก.ท่องเที่ยวฯ’ อืดอาด ปล่อย กองถ่ายหนัง 13 หมูป่าหลุดมือย้ายไปตปท.
https://www.matichon.co.th/politics/news_3514356

‘ฝ่ายค้าน’ อัด ‘ก.ท่องเที่ยวฯ’ อืดอาด ไม่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เตรียมฟื้นศก. ปล่อย กองถ่ายหนัง 13 หมูป่าหลุดมือย้ายไปตปท.
 
เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ประชุมรัฐสภา เข้าสู่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานในกำกับจำนวน 3,022,606,200 บาท ตามมาตรา 11 โดยภาพรวม กมธ. และส.ส. ส่วนใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย จึงไม่อยากให้ตัดงบประมาณลง และควรเพิ่มงบประมาณด้วยซ้ำ

ด้าน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยอมรับว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีความสำคัญ แต่เห็นต่างในเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียมกัน หรือไม่ส่งเสริมในส่วนที่สามารถต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคตเพื่อฟื้นฟูประเทศ เช่น นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยากพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับจัดงบประมาณให้กับโครงการส่งเสริมพัฒนาแหล่งสินค้าและบริการท่องเที่ยวคุณภาพในเมืองรอง แค่ 76 ล้านบาท จึงสงสัยว่า ทำไมไม่ส่งเสริมเมืองรองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แล้วแบบนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งประเทศได้อย่างไร ส่วนกรมการท่องเที่ยว ที่ใครๆ ก็บอกว่าหาเงินเข้าประเทศจำนวนมาก แต่ตนอยากถามว่า เงินโครงการเที่ยวทั่วไทยมันไปไหนมาไหนอย่างไร เป็นโครงการเที่ยวทั่วไทยจริงหรือไม่ หรือใครได้ จึงอยากให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจสอบ

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. อภิปรายว่า ขอตัดงบกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ลง 20% ยอมรับว่า ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงการพักการท่องเที่ยว จึงอาจจะมีรายได้ในส่วนนี้น้อยลง แต่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวต้องไม่พักและสถานที่ท่องเที่ยวให้ฟื้นเองตามธรรมชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะลงไปฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น วันนี้ที่เป็นผลงาน เกิดจากการฟื้นตัวตามธรรมชาติเอง คือไม่ได้เกิดการพัฒนาโดยเจ้าหน้าที่ วันนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กลับมาขอแค่งบประจำ และไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม จึงน่าเสียดายอย่างมาก ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศในประเทศไทย ที่จะเกิดการกระตุ้นเม็ดเงินและส่งต่อซอฟต์พาวเวอร์ของไทยผ่านหนังต่างประเทศที่เจริญแล้ว แล้วทำให้อยากกลับมาเที่ยวที่ไทย ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่องThirteen Lives (สิบสามชีวิต) ที่ต้องไปถ่ายทำกันที่ต่างประเทศ โดยทีมงานให้สัมภาษณ์ว่าเสียดายที่ไม่ได้มาถ่ายในสถานที่จริง เพราะกลไกของเราไม่รองรับ จึงสูญเสียโอกาสไป
 
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบในส่วนของ มาตรา 11 งบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานในกำกับ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 228 เสียง ไม่เห็นด้วย 102 และงดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง และได้เข้าสู่การพิจารณา มาตรา 12 งบประมาณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานในกำกับ
 

 
‘พริก’ ปรับราคาขึ้นมหาโหด พุ่งขึ้นเป็น กก.ละ 320 บาท
https://www.matichon.co.th/region/news_3514548

‘พริก’ ปรับราคาขึ้นมหาโหด พุ่งขึ้นเป็น กก.ละ 320 บาท
 
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 รายงานที่ตลาดทรัพย์สินพลาซ่า เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ขณะนี้ผักหลายชนิดราคาผันผวน มีทั้งปรับราคาสูงขึ้นและลดราคาลง เนื่องจากเอเยนต์ใหญ่ที่ส่งมาจากต้นทางภาคกลาง มีการปรับราคาขึ้นและลดราคาลงมา เนื่องจากแหล่งปลูกผักในภาคกลาง หลายจังหวัดฝนตกส่งผลให้ปริมาณผักที่ส่งให้ลูกค้าต่างจังหวัดลดน้อยลง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่