บริษัท จัดการเรื่อง โอทีแบบนี้ผิดกฏหมายแรงงานหรือไม่ สามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง

บริษัทได้จัดการนำระบบ Compensatory Time Off (CTO) มาใช้
โดยเปลี่ยนวันลาของ พนักงานกะท่านอื่น ให้เราทำงาน แล้วให้วันหยุดเราแทน 

โดยการวางนโยบายนี้โดยไม่ได้ถามการสมัครใจของพนักงาน ชี้แจงตามสายงานของหัวหน้าแผนกแจ้งลงมา
ซึ่งผมพิจารณาตามนี้(https://www.flash-hr.com/blog/what-is-compensatory-time-off-cto)
Compensatory Time Off (CTO) จะเป็นการช่วยให้พนักงานได้วันหยุดเพิ่มขึ้นแล้ว แต่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ประเทศไทย ได้เน้นย้ำแล้วว่า "ค่าล่วงเวลา (โอที) ต้องจ่ายเป็นเงิน ไม่สามารถชดเชยเป็นวันหยุดได้" ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดไว้

สามารถปรึกษากับหน่วยงานราชการใดได้บ้างครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16007/2553
      มาตรา 62 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตาม มาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างใ นอัตราดังต่อไปนี้ (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีก ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" และมาตรา 63 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน ตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" บทบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติในการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดโดยเคร่งครัดตามอัตราที่กำหนดไว้ เพราะบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน จึงกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับเด็ดขาด ซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยให้ลูกจ้างและโจทก์ทำงานในวันหยุด โดยจ่ายค่าอาหาร ค่าจ้างโดยคำนวณจากยอดขายสินค้า และจัดให้ลูกจ้างหยุดชดเชยในวันอื่นโดยไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2550
      ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่รับวินิจฉัยให้มีเพียงว่า การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างรายเดือนแก่โจทก์อัตราเดือนละ 22,000 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเหมาค่าล่วงเวลารวมเข้าไปกับค่าจ้างโดยไม่คิดค่าล่วงเวลาที่ทำจริง ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่
     พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย" ...
..จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
       จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 63,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงให้ตามที่ขอ"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 63,936.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่