JJNY : เจาะงบประมาณ ปี66 กลาโหม│ทบ.ฮึ่มกมธ.งบเผยแพร่ข้อมูล│กรุงเทพฯกำลังเปลี่ยนไป!│7ส.ค. “อุ๊งอิ๊ง”ขนแกนนำบุกเชียงราย

เจาะงบประมาณ ปี 66 กระทรวงกลาโหม 1.97 แสนล้านบาท ใช้ทำอะไร? ไปอยู่ตรงไหนบ้าง?
https://brandinside.asia/defense-budget-2023/
 
 
ว่ากันว่ากระทรวงกลาโหมเป็นเหมือนแดนลับแลที่งบประมาณแต่ละปีถูกตามสืบเสาะได้ยากมาก ลองมาดูกันว่าตามเอกสารงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 ที่เพิ่งจะมีการอภิปรายกันไปก่อนหน้านี้ งบของกลาโหมจะไปอยู่ที่ไหนบ้าง
 
ปี 2566 ที่กำลังจะถึง กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณไปทั้งสิ้น 1.97 แสนล้านบาท คิดเป็น 6.2% ของงบประมาณทั้งหมด มากเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับทุกกระทรวง ส่วน 3 อันดับแรกคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ตามลำดับ
 
ประเด็นต่อมาก็คือ ในงบประมาณก้อน 1.97 แสนล้าน กองทัพบกจะได้งบส่วนนี้ไปมากที่สุด อีก 2 เหล่าทัพรวมกันก็ไม่เท่า โดยแต่ละหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมจะได้รับงบไป ดังนี้
 
• กองทัพบก 9.66 หมื่นล้านบาท
• กองทัพเรือ 4.03 หมื่นล้านบาท
• กองทัพอากาศ 3.61 หมื่นล้านบาท
• กองบัญชาการกองทัพไทย 1.45 หมื่นล้านบาท
• สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 9.24 พันล้านบาท
• สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 5.05 ร้อยล้านบาท
 
แล้วถ้าเจาะลงไปดูในงบของแต่ละเหล่าทัพ เมื่อดูงบตามประเภทรายจ่าย จะพบว่า กระทรวงกลาโหมใช้เงินไปในด้านบุคลากรเป็นสัดส่วนมากที่สุด (62.4%) กองทัพเรือ (53.3%) และ กองทัพอากาศ (39.2%) ของงบที่ได้ทั้งก้อน หรือคิดเป็นตัวเลขดิบๆ คือ
 
• กองทัพบก 6 หมื่นล้านบาท
• กองทัพเรือ 2.15 หมื่นล้านบาท
• กองทัพอากาศ 1.42 หมื่นล้านบาท
 
ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรแล้ว ก็ยังมีรายจ่ายด้านอื่นๆ 2 อย่าง คือ
  
• รายจ่ายการดำเนินการของหน่วยงาน 
• รายจ่ายกิจกรรมที่ทำร่วมกับหน่วยงานอื่น
 
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตา และเป็นที่เรียกร้องของสาธารณชนอยู่เสมอคืองบซื้ออาวุธ ซึ่งในปี 2566 แต่ละเหล่าทัพจะมีงบเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ ดังนี้
 
• กองทัพบก 5.1 พันล้านบาท
• กองทัพเรือ 3.5 พันล้านบาท
• กองทัพอากาศ 3.3 พันล้านบาท
 
น่าสังเกตงบของแต่ละหน่วยงาน มากกว่างบ 2 ตัวในงบกลางปี 2566 เช่น งบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด (3 พันล้านบาท) หรือ ค่าใช้จ่ายตามโครงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (2.3 พันล้านบาท) เสียอีก
 
สิ่งที่น่าตั้งคำถามข้อสุดท้ายคือ งบประมาณอย่าง
 
• เงินราชการลับ 470 ล้านบาท (รวม 4 หน่วยงานในกระทรวงกลาโหม)
• ปฏิบัติการจิตวิทยาและงานปฏิบัติการมวลชน (กองทัพบก) 11 ล้านบาท
• ปฏิบัติการจิตวิทยา (กองทัพเรือ) 8 ล้านบาท
 
ซึ่งในส่วนของจิตวิทยาก็ตกเป็นข้อสงสัยของสาธารณชนว่าจะเป็นงบสำหรับการทำยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร หรือ IO หรือไม่



ทบ.ฮึ่ม กมธ.งบ เผยแพร่ข้อมูลจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ชี้เป็นเอกสารชั้นความลับทหาร
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7190743
 
เป็นไปตามระเบียบ ทบ.เผยเอกสารชี้แจง กมธ.งบประมาณ เป็นชั้นความลับ ตามระเบียบสำนักนายกณ ปี 2544 เตือนผู้เกี่ยวข้องระมัดระวังการเผยข้อมูลทางราชการ
 
เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2565 พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ตามที่กองทัพบก ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ครุภัณฑ์ฯ ในกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ตามกระบวนการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล และต่อมามีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ถึงเอกสารที่หน่วยงานนำมาเสนอประกอบการประชุมว่าไม่ควรปฏิบัติแบบเป็นเอกสารลับนั้น ในกระบวนการนำเสนอข้อมูลให้กับกมธ. มีทั้งการนำเสนอด้วยเอกสารและการเข้าชี้แจงโดยผู้รับผิดชอบด้านงบประมาณของกองทัพบกและผู้บังคับบัญชาระดับสูง
 
ทั้งนี้ เอกสารที่ใช้ประกอบการชี้แจงงบ กองทัพบกได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ  พ.ศ. 2544 ข้อ 17 ที่ระบุว่า “การกำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่มีชั้นความลับหลายชั้นในเรื่องเดียวกัน ให้กำหนดชั้นความลับสูงสุดที่มีอยู่ในข้อมูลข่าวสารลับนั้น”
 
กล่าวคือ กองทัพบกได้กำหนดชั้นความลับของเอกสารที่นำเสนอโดยพิจารณาจากภาพรวมของเอกสารทั้งหมด อย่างรอบคอบตามระเบียบ เนื่องจากเป็นชุดเอกสารเดียวกันที่ข้อมูลมีชั้นความลับหลายชั้น ประกอบด้วยเรื่องยุทโธปกรณ์สำคัญทางทหาร จนถึงการจัดหาครุภัณฑ์ปกติ โดยเฉพาะข้อมูลคุณลักษณะและขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์ ถือเป็นชั้นความลับทางทหาร ที่มีความสำคัญยิ่งในงานด้านความมั่นคง
 
โดยเฉพาะการป้องกันประเทศ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติต่อชุดข้อมูลที่มีหลายชั้นความลับดังกล่าว โดยยึดตามข้อมูลที่มีชั้นความลับสูงสุด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลข่าวสารที่มีชั้นความลับรั่วไหลหรือถูกนำไปเผยแพร่อย่างไม่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของหน่วยงาน
 
สำหรับการนำเอกสารที่มีชั้นความลับไปแสดงต่อที่ประชุมกมธ. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบ โดยเมื่อพิจารณาเสร็จและหน่วยงานขอคืนเอกสาร แสดงว่า ไม่ประสงค์ให้นำไปเปิดเผยต่อ และการเปิดเผยเอกสารลับของทางราชการ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าของเอกสารก่อนถึงจะดำเนินการได้
 
สำหรับการชี้แจงตามระบบผ่านกลไกของรัฐสภา กองทัพบก ได้นำเสนอข้อมูลครอบคลุมทุกด้านให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบประกอบการพิจารณา
เนื้อหาที่ได้รับการโปรโมต
 
สิ่งที่ทุกส่วนต้องตะหนักคือ การที่ผู้ใดส่วนใดที่ได้รับสิทธิเข้าถึงข้อมูลหรือเอกสารลับของทางราชการ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ.2544 ระมัดระวังในการนำข้อมูลที่ตนเองเข้าถึงไปเผยแพร่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ หรือความเสียหายต่อผลประโยชน์แห่งรัฐ รวมทั้งความเข้าใจอันดีของสังคมโดยรวมได้เช่นกัน
 

  
กรุงเทพฯกำลังเปลี่ยนไป! จากนโยบายผู้ว่าฯชัชชาติ
https://www.bangkokbiznews.com/business/business_property/1018313

การพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ที่กำลังเปลี่ยนไปจากนโยบาย"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคนครอบคลุม 9 ด้าน
 
 นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เริ่มทำงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ 216 นโยบาย (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก) โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน
 
  นโยบายดังกล่าวครอบคลุม 9 ด้าน ได้แก่ ความปลอดภัยสาธารณะ ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การขนส่งสาธารณะ สุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานและแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน การศึกษา และการบริหารจัดการ  
 
 ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้ความเห็นว่า ด้วยประสบการณ์ของผู้ว่าฯ ในฐานะอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  จึงเป็นที่คาดว่านโยบายมีแนวโน้มที่จะส่งผลในทางที่ดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะมาจากมุมมองของผู้ที่มีความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมืองในกรุงเทพฯ
 
 หลายนโยบายมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายขนส่งสาธารณะ ในขณะที่ลดค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาในระดับ "เส้นเลือดฝอย" ไปในเวลาเดียวกัน แต่ยังมีนโยบายที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่เราเชื่อว่าจะส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
 
"รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ" หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายหนึ่งที่จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาเมืองหากมีการนำมาบังคับใช้ คือ นโยบายในการแก้ไขการวางผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน  
  
 ข้อบังคับหลายเรื่องค่อนข้างล้าสมัยแล้วและไม่ได้สอดคล้องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาด้านการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ
 
 หลายคนกล่าวว่ากรุงเทพฯ ได้สูญเสียเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์เรื่องร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดไปแล้ว  เมื่อมีข้อกำหนดในการดูแลความสะอาดเรียบร้อยของทางเท้าโดยไม่ได้จัดหาพื้นที่ใหม่ให้พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมนโยบายใหม่นี้ไม่เพียงมีเป้าหมายที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดหาพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอยที่เหมาะสมในเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการจัดถนนคนเดินในพื้นที่ที่มีผู้คนเดินเท้าหนาแน่นอีกด้วย
 
กรุงเทพฯ จะฟื้นคืนสตรีทฟู้ดและสร้างศูนย์อาหารในทำเลต่าง ๆ ซึ่งให้ความสะดวกต่อพนักงานในอาคารสำนักงานและผู้อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ทำเลนั้น ๆ มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับผู้ใช้อสังหาริมทรัพย์โดยรอบและผู้ที่มาเยือน  
 
 นอกจากนี้ หากจะเพิ่มเติมจากนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ  ซีบีอาร์อีเชื่อว่าการควบคุมดูแลเรื่องความสะอาดของพื้นที่และอาหารจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการส่งเสริมและยกระดับอาหารข้างทางสู่มาตรฐานสากล รวมถึงส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวกรุงเทพฯ และผู้ที่มาเยือน
 
         “อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในกรุงเทพฯ ได้ส่งผลให้บัณฑิตจบใหม่จำนวนมากต้องนำรายได้ส่วนใหญ่ไปจ่ายค่าที่พักและค่าเดินทาง ทำให้มีเงินเหลือสำหรับการออมและการใช้จ่ายอื่น ๆ เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ "
  
   หนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือการสร้างที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ (Housing Incubator) ที่มีอายุ 18-25 ปีให้สามารถเช่าอาศัยได้ด้วยค่าเช่าที่ต่ำเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้สามารถประหยัดเงินได้มากขึ้นและตั้งตัวได้  
 
แผนงานที่วางไว้คือการแปลงอาคารเก่าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์แล้วหรืออาคารที่รอการพัฒนาในย่านใจกลางธุรกิจให้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว    อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้จะส่งผลโดยตรงต่อตลาดให้เช่าที่พักอาศัยทั่วกรุงเทพฯ ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีผลต่อราคาค่าเช่าที่พักอาศัยที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาจบใหม่
 
 นายรัฐวัฒน์กล่าวต่อว่ายังมีอีกหลายนโยบายของผู้ว่าฯ ที่เราจะต้องรอดูว่าจะมีการดำเนินการตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และนโยบายใดบ้างที่จะดำเนินการเป็นอันดับแรก ๆ แต่สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ คือ ความชัดเจนมากขึ้นของการจัดการงบประมาณและนโยบายรายเขตที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่รอการแก้ไขทั่วกรุงเทพฯ
 
   สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน และหวังว่าสโลแกนของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์จะเป็นไปตามที่ตั้งไว้ว่า ทำงาน ทำงาน ทำงาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่