ถึงคน 6 ตุลา ทุกท่าน (ยาวหน่อย)

อาจจะดูไม่เป็นกลาง แต่พิมพ์มาด้วยความจริงใจและหวังดีกับทุกฝ่าย

45 ปีมาแล้ว นับจากเหตุการณ์วันนั้น เข้าใจและเห็นใจว่าทุกท่านสูญเสียเพื่อนพี่น้องร่วมอุดมการณ์ไปจากเหตุการณ์ที่บางคนในเหตุการณ์พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้สังคมไทยลืมไปว่าเคยเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น เวลาผ่านไป บางท่านกลายเป็นอาจารย์ บางท่านกลายเป็นสื่อมวลชน บางท่านก็มีอาชีพอื่น ๆ แตกต่างกันไป แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่คือ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ก็เป็นสื่อมวลชนในสำนักข่าวต่าง ๆ ทั้งสื่อหลัก สื่อโซเชียล

หากถามว่าทำไมวันนี้ถึงต้องพิมพ์ถึงทุกท่าน และอยากให้ทุกท่านได้อ่าน เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์การประท้วงที่เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากการที่มีกลุ่มคน 6 ตุลาบางส่วน ได้ออกมาสนับสนุนการประท้วงอย่างแข็งขัน ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า บางคนในเหตุการณ์ที่เป็นอาจารย์หรือผู้ใหญ่วัยกลางคนถึงชราแล้วรู้สึกฝังใจ แค้นใจ กับเหตุการณ์นี้มาก โดยเฉพาะท่านที่กลับมาเป็นอาจารย์ใน มธ. เอง ที่ดูแทบจะเป็นหัวหอกช่วยเหลือให้กลุ่มแกนนำเป็นพิเศษ ผมเคยได้ยินว่าท่าน ๆ ที่เป็นอาจารย์ใน มธ. บางคน พยายามบอกกับลูกศิษย์ ปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาในมหาวิทยาลัยตลอดว่า เคยเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อน ๆ ของพวกท่าน พยายามปลุกเร้าอารมณ์ แสดงความโกรธแค้นอยู่ตลอด ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และทำทุกวิถีทางราวกับว่าทำเพื่อจะหาทาง "ล้างแค้น" ให้ได้

ทำไมผมต้องใช้คำว่า "ทุกวิถีทาง" เพราะหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลายสิบกว่าปีก่อนจนถึงช่วงที่ผ่านมาไม่นานมานี้ ในหลาย ๆ วงการ ผมเห็นความ "โกรธเกรี้ยว" ซ่อนเร้นไว้เกือบทุกหนแห่ง ตั้งแต่ในวงการวิชาการที่มีเรื่องวิทยานิพนธ์ที่มีประเด็นเรื่องละเอียดอ่อน เกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้น หรือการเรียนการสอนอะไรบางอย่างในห้องเรียนในมหาวิทยาลัยจนถึงขั้นปิดประตูห้องเรียนเลยก็มี ลงมาก็เป็นวงการสื่อมวลชนที่มีการตีพิมพ์เรื่องราว หนังสือ หรือนิตยสารที่เสี่ยงต่อกฎหมายหรือเกิดดราม่าขึ้น จนถึงวงการบันเทิงที่มีการแฝงความคิดนี้ไว้อย่างแนบเนียนผ่านละคร ภาพยนตร์ หรือแม้แต่การ์ตูน แล้วก็มีเพจบางเพจไปวิเคราะห์คิดกันอีกที ซึ่งถ้าถามว่าทำไมอยู่ ๆ ผมเอาเรื่อง 6 ตุลาไปโยงกับวงการบันเทิงได้ ขอตอบตรง ๆ เลยว่า เพราะมีหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ที่เคยเป็นคนในเหตุการณ์ หรือนำนิยายของคนในเหตุการณ์มาทำเป็นหนัง เอาง่าย ๆ กว่านั้นก็คือ ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ทางอ้อม แม้กระทั่งดาราบางคนที่ Call out ผมก็เห็นเงาของอาจารย์อยู่ข้างหลังพวกเขา โดยเฉพาะเหล่าดาราที่เรียนจบจาก มธ เองนี้แหละ (เป็นประโยคเปรียบเปรย อย่าไปคิดจริงว่าผมเห็นเป็นเงาจริง ๆ ละครับ)

ก่อนหน้านี้ ผมพยายามตั้งคำถามตลอดว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงดู "เกลียดไม่ลืมหูลืมตา" หรือ "แค้นฝังใจ" ถึงขั้นใช้คำรุนแรงแบบที่ในกฎหมายเรียกว่า "อาฆาตแค้น" อยู่ตลอดตั้งแต่เกือบยี่สิบปีก่อนในเว็บไซต์บางเว็บ หรือในเว็บบอร์ดการเมืองบางเว็บ จนผมเพิ่งมาเข้าใจไม่นานว่ามาจากกลุ่มคน 6 ตุลา ซึ่งหลายคนศึกษาเรื่องสังคมนิยมอย่างเป็นกิจลักษณะในเวลานั้นจนตีความหมายของ "บางสิ่ง" ไปในมุมมองของตัวเองตามที่หนังสือสังคมนิยมชี้นำตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์แล้ว ฟังดูอาจจะดูไร้สาระที่ผมบอกว่ามีคนบางกลุ่ม "โกรธแค้น" หรือ "เกลียดชัง" จนถึงกับลุกขึ้นมา "พยายาม" ทำทุกสิ่งทุกอย่างจนเกิดความแตกแยกในสังคมและประเทศชาติ ผมเองก็ไม่เคยเชื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างจนมั่นใจมากพอว่าพวกเขาพร้อมจะทำทุกอย่างไม่ต่างกับตัวร้ายในภาพยนตร์เลยทีเดียว ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดูน่าหดหู่ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มคนสีเสื้อทางการเมือง เป็นลูกศิษย์อาจารย์ในมหาวิทยาลัยคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่งในกลุ่มมีม ผมรู้สึกเลยว่าพวกเขาใช้คำพูดและอารมณ์ไม่ต่างกันเลย แม้จะต่างช่วงเวลาต่างวาระก็ตาม (ตั้งแต่ช่วงกลางยุค 2000s ต้นยุค 2010s จนถึงไม่กี่วันนี้)

ผมมองว่าความโกรธเกลียดเหล่านี้เหมือนถูกดึงมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้เกิดความขัดแย้งกันเองหลายต่อหลายครั้ง บางคนอาจจะบอกว่าเป็นฝีมือรัฐบาลหรือฝีมือใครในฝ่ายชนชั้นนำ แต่จากที่ผมเห็นมาว่ามีความเคลื่อนไหวนี้ตั้งแต่ยุครัฐบาล "ประชาธิปไตย" ผมจึงคิดว่ามันไม่มีทางเป็นฝีมือใครได้นอกจากกลุ่มนักศึกษาในยุค 6 ตุลา ที่มี "ความแค้นฝังใจ" กับบางสิ่งที่คิดว่าทำร้ายตัวเองและเพื่อนตัวเองเท่านั้น ทั้งที่ความจริง มันไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย (ตรงนี้อ้างอิงจากปากของหนึ่งในหัวหอกหลักของ 6 ตุลา ที่ชื่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเคยพูดถึงไว้ไม่กี่เดือนก่อนล้มป่วยลง แต่จะมีอะไรแอบแฝงอยู่ก็เป็นอีกเรื่อง) นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงวันนี้ ผมรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งและอย่างมากที่เห็นเยาวชนลุกขึ้นสู้ (?) เผชิญกับหลายสิ่งหลายอย่าง ขณะผู้ใหญ่นั้นก็ดูเหมือนพยายามทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแบบห่าง ๆ (หรือที่ฝ่ายตรงข้ามชอบโจมตีว่า หลบอยู่หลังเด็ก) และกลายเป็นว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สังคมไทยก็ดูเหมือนแตกแยกกันไปโดยปริยาย โดยเฉพาะในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่เข้าใจลูก ลูกไม่เข้าใจพ่อแม่ และผลกระทบก็ขยายกว้างไปถึงสังคมส่วนรวม ถึงทุกวงการ ความรู้สึกหากจะบอกว่าเหมือนกับช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีนในช่วงเวลาหนึ่งก็คงไม่น่าจะต่างกันนัก (ขอพูดตรง ๆ ว่ามันเหมือนกันแบบนั้นจริง ๆ ในความคิดของผม)

ที่ผมไม่เข้าใจมากกว่านั้นก็คือ มีผู้ใหญ่บางคนเอง กลับพยายามชี้นำทางบางอย่างที่สังคมทั่วไปไม่เข้าใจ เช่น การบอกให้ใช้คำหยาบคายเพื่อปลดปล่อยการถูกกดขี่ หรือการแสดงความเห็นว่าของสาธารณะทุกอย่างทำลายได้เพราะมาจากภาษีประชาชน (คำถามของผมคือ ภาษี VAT ด้วยหรือเปล่า?) จากประเด็นเหล่านี้ ทำให้ผมหวาดวิตกว่าพวกเขาไปได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ ผมไม่ปฏิเสธว่าเด็กในช่วงมัธยม มหาลัย มีความคิดเป็นของตัวเองบ้างแล้ว เพียงแต่ด้วยมุมมองของผมต่อวัยวุฒิของคนที่เพิ่งแตกหนุ่มแตกสาว ทำให้ผมไม่ค่อยเชื่อใจเท่าไรว่าเป็นความคิดวิเคราะห์แยกแยะได้เหมือนผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาพอสมควรแล้ว 100% เว้นแต่ไปศึกษากันเอง สนใจเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับเด็กส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่ก่อนหน้านี้สนใจแต่สื่อบันเทิงมากกว่าเรื่องราวที่ดูจะซีเรียสอย่างเรื่องทางการเมือง (ซึ่งผมมองว่าส่วนหนึ่งเพราะสังคมในมหาวิทยาลัย โซเชียล หรือความเป็นผู้ใหญ่บีบบังคับให้เขามองเห็นมันและเข้าใจมันตามที่มีคนชี้ทางให้)

สุดท้าย ผมขอย้ำว่า ผมเห็นใจและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ผมก็ไม่เข้าใจความพยายามบางอย่างที่ทำท่าเหมือนจะเกิดขึ้นซ้ำ ผมเคยพยายามเสนอไปในกลุ่มเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันว่าถ้าใครสงสัยว่าใครอยู่เบื้องหลัง คิดว่ามีเงื่อนงำแฝง ถ้าในเมืองไทยไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ ก็มีหลายที่ที่พร้อมจะรับฟังและคลี่คลายปัญหานี้ เช่น รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐ หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ข้อความที่ตอบกลับส่วนใหญ่ กลับอ้างว่าต้องเสียงบประมาณ ขั้นตอนเยอะ หรืออาจจะส่งไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งเดือนตุลาปีที่แล้ว ก็เห็นแกนนำม็อบหลายคนบอกว่าจะส่งเรื่องนี้ไปศาลโลกอยู่ เราก็รอดูว่าเขาจะทำได้หรือไม่

ส่วนน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ รุ่น Millennial และ Gen Z ที่อ่านกระทู้นี้อยู่ ไม่ใช่ว่าผมไม่เข้าใจปัญหาที่พวกคุณเผชิญกันอยู่หรือเคยเผชิญกับมัน (หมายถึงปัญหาจริง ๆ อย่างเช่น ปัญหาสังคมในบ้าน ในโรงเรียน การถูกครูทำร้ายจิตใจ การถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนนั้นเรียนนี้ ซึ่งส่งผลต่อความคิดด้านลบที่มีผลต่อมุมมองการเมืองของพวกคุณในภายหลัง) เพียงแต่ผมมองว่าปัญหาพวกนี้ ผมไม่เคยมองว่ามันจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกคุณกำลังเผชิญหรือเคยเผชิญเลย ผมไม่เคยคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะช่วยให้พวกคุณสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ไม่รู้จบ ผมไม่เคยมองว่าการปฏิรูปนั้นนี้จะทำให้ชีวิตพวกคุณเป็นอิสระมากขึ้น ผมยอมรับว่าบางอย่างอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นไปตามสภาพเงื่อนไข กาลเวลา เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนปี 2475 ว่าจะต้องค่อย ๆ เป็นไป จะรีบมากไม่ได้ หรือใจร้อนวู่วามไม่ได้ แต่ก็เข้าใจแหละครับว่าโลกยุคนี้ ทันสมัย รีบเร่ง รวดเร็ว น้อง ๆ อาจจะไม่เข้าใจถึงความเชื่องช้าว่าทำไมยิ่งช้าถึงยิ่งมั่นคง 

ข้อความทั้งหมดเป็นทัศนะส่วนตัวของผม และตั้งใจพิมพ์มาทั้งหมดเพราะไม่สามารถทนสภาวะความแตกแยกที่แตกระแหงขึ้นสูงแบบนี้ได้อีกแล้ว ขออภัยหากบางท่านไม่เข้าใจจริง ๆ แบบไม่รู้จริงว่าผมจะสื่ออะไร ผมเป็น Gen X ที่รู้โลกเยอะแต่อาจจะไม่ได้รู้อะไรจริงในบางเรื่องเท่ากับเด็กรุ่นใหม่ ส่วนใครจะมองเพิ่มเติมว่าผมเป็นใคร มองว่าผมเป็นฝ่ายไหน เป็น IO เป็น Boomer หรือไม่ นั่นคือปัญหาของคุณครับ ผมคงไม่ได้กลับมาตอบกลับใคร ก็ทิ้งไว้ให้หลายคนถกเถียงกันต่อ (หากกระทู้นี้ไม่ถูกลบเสียก่อน) ส่วนกระทู้ หากใครอ่านแล้วรู้สึกวกวน โดยเฉพาะกับคำว่า โกรธ เกลียด แค้น ต้องขออภัย เพราะนี่เป็นแกนหลักของเรื่องทุกวันนี้เลยทีเดียว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่