ทำไมการปฏิรูปของ ร.5 ไม่สำเร็จเท่าของจักรพรรดิเมจิ?

ผมอ่านในเว็บไซต์อังกฤษแล้วกล่าวว่าไทยปฏิรูปไม่ได้เท่าญี่ปุ่นเพราะว่าทุกล้อมรอบด้วยจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสแต่อย่างน้อยนั่นแค่ทำให้ไทยสร้างจักรวรรดิของตนไม่ได้ แต่ทำไมเทคโนโลยีไทยต่ำด้อยมากเลย? ญี่ปุ่นเริ่มสร้างเรือรบและเครื่องบินรบได้มากกว่า 100 ปีที่แล้วแต่ไทยยังสร้างไม่ได้ ต้องนำเข้าจากประเทศอื่น

ผมก็คิดว่าไทยน่าจะมีสถานการณ์ที่ต้องปฏิรูปประเทศมากกว่าญี่ปุ่น ตอนที่อังกฤษชนะพม่าอย่างครบถ้วนไทยก็ต้องกลัวสิ อาณาจักรที่เป็นภัยคุกคามใหญ่สุดทุกทำลายอย่างง่ายควรต้องส่งสัญญาณให้ปฏิรูปประเทศแล้ว ในกรณีของญี่ปุ่น แมทธิว เพร์รีแค่เอาเรือรบมาสั่งให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขาย ทำไมญี่ปุ่นถึงต้องกลัวจงต้องรีบปฏิรูปประเทศ?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 6
นอกจากประเด็นเรื่องการรับมือกับการล่าอาณานิคม  เรื่องการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญมากครับ  เพราะพื้นฐานการศึกษาของญี่ปุ่นเข้มแข็งกว่าสยามมาตั้งแต่ก่อนการเปิดประเทศแล้ว


ญี่ปุ่นรับแนวคิดการศึกษาแบบจีนมาตั้งแต่เฮอัน แม้แรกเริ่มจะจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง แต่ก็มีสถานศึกษาและสำนักคิดจำนวนมากแพร่หลายตั้งแต่โบราณ ต่อมาในสมัยเอโดะต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับสามัญชนเรียกว่า เทระโกยะ (寺子屋) หรือสถานศึกษาในวัด ทำให้การศึกษาแพร่หลายไปในชนชั้นอื่นๆ รวมถึงชนชั้นพ่อค้าที่กำลังเฟื่องฟูในสมัยเอโดะ และผู้หญิงด้วย ส่งผลให้การศึกษายิ่งขยายตัว รัฐบาลก่อตั้งสถานศึกษาหลายแห่งจนค่อยๆ กระจายไปทั่วประเทศ จนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีชาวเมืองเอโดะมากกว่าร้อยละ 70 ได้เรียนหนังสือในเทระโกยะ

อัตราการรู้หนังสือของชาวญี่ปุ่นจึงสูงกว่าคนไทยมาตั้งแต่โบราณ มีการประเมินว่าในปลายสมัยเอโดะ มีสถานศึกษามากกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง มีนักเรียนประมาณ 75,000 คน ผู้ชายร้อยละ 50 และผู้หญิงร้อยละ 20 ของทั้งประเทศสามารถอ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณได้

ในแคว้นต่างๆ ของญี่ปุ่นก็มี ฮังโก (藩校) หรือโรงเรียนประจำแคว้น สำหรับคนในตระกูลไดเมียวและซามูไรรับใช้ นอกจากนี้ยังอาจให้คนชนชั้นอื่นเข้าศึกษาได้ด้วย มีการสอนปรัชญาขงจื่อเป็นหลัก และมีการศึกษาวิชาแขนงอื่น เช่น โกกุงะกุ (国学) หรือรัฐศึกษา และ รังงะกุ (蘭学) หรือ ตะวันตกศึกษา ซึ่งตั้งควบคู่ไปกับเทระโกยะ  ระบอบการศึกษาของญี่ปุ่นส่งผลให้ในสมัยเอโดะมีนักคิดนักเขียนและนักปรัชญาเกิดขึ้นจำนวนมาก  

โกกุงะกุเป็นสำนักคิดแบบรัฐนิยมตามลัทธิขงจื่อใหม่ที่ยึดถือว่าญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลาง เป็นแนวคิดสำคัญที่ส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นมีสำนึกความเป็นรัฐชาติ  และกลายเป็นแนวคิดสำคัญของกระบวนการ "ซนโนโจอิ" (尊皇攘夷) เทิดทูนจักรพรรดิขับไล่ต่างชาติในช่วงยุคบากุมัตสึ  



ญี่ปุ่นรับวิทยาการตะวันตกจากโปรตุเกสแบบเข้มข้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะปิดประเทศจากตะวันตกในเวลาต่อมา แต่ยังยอมค้าขายกับดัตช์ที่เกาะเดจิมะ ญี่ปุ่นได้รับวิทยาการตะวันตกจากดัตช์หลายอย่าง จนเกิดเป็นแขนงการศึกษาที่เรียกว่า รังงะกุ (蘭学) คือ ดัตช์ศึกษาหรือตะวันตกศึกษา มีการศึกษาวิทยาการหลายประเภททั้งภาษา การแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม กลไก ฯลฯ มีการแปลตำราของดัตช์เป็นภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 และมีการก่อตั้งสำนักศึกษารังงะกุอย่างเป็นระบบ รังงะกุส่งผลต่อแนวคิดของปัญญาชนในสมัยเอโดะตอนปลายจำนวนมาก    ประกอบกับแนวคิดสำนักรัฐนิยมที่ส่งเสริมความเป็นชาตินิยมของชาวญี่ปุ่น ทำให้คนญี่ปุ่นมีสำนึกที่จะต้องการพัฒนาชาติของตนเองให้เท่าเทียมหรือแม้แต่เหนือกว่าชาวต่างชาติมาก่อนไทยมาก  ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเมจิในเวลาต่อมาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด



ในขณะที่สังคมไทยสมัยโบราณก่อนรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีการก่อตั้งสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ เน้นศึกษาด้วยการฝากตัวตามวัดหรือกับผู้รู้เฉพาะด้านมากกว่า การเรียนสอนแค่พออ่านออกเขียนได้และวิชาเลข มีแต่โรงเรียนของมิชชันนารีซึ่งค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม การศึกษาไม่ได้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นใต้ปกครองคือไพร่ทาสที่สภาพทางสังคมไม่เอื้อให้เรียนหนังสือ  

แม้แต่ชนชั้นปกครองก็ไม่ได้เรียนหนังสือมากนัก เพราะส่วนมากการรับราชการสืบต่อกันอยู่ในตระกูล และถือคติกันว่าวิชาหนังสือเป็นวิชาสำหรับเสมียน ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงไม่จำเป็นต้องรู้ลึกซึ้ง เพราะมีเสมียนเขียนให้อยู่แล้ว


นอกจากนี้ ไทยซึ่งติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกหลายชนชาติตั้งแต่อยุทธยาตอนกลาง กลับไม่มีระบบการศึกษาวิทยาการตะวันตกอย่างเป็นแบบแผนชัดเจนเลย เพิ่งมาปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีชนชั้นปกครองเริ่มศึกษาวิทยาการตะวันตกแบบจริงจัง แต่ก็เป็นการศึกษาจากมิชชันนารีเป็นรายบุคคลเท่านั้น



ระบบการปกครองของญี่ปุ่นยังเอื้อให้มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมมากกว่า เพราะการแบ่งชนชั้นทางสังคมเป็นการกำหนดหน้าที่และการประกอบอาชีพที่ชัดเจนโดยไม่ได้เป็นระบบไพร่เกณฑ์แรงงานแบบไทย  

ชนชั้นในสังคมเมืองสมัยเอโดะอย่างศิลปินและพ่อค้าจึงมีอิสระสูง โดยเฉพาะพ่อค้าที่เป็นชนชั้นต่ำแต่สามารถสร้างความมั่งคั่งและอิทธิพลจนเหนือกว่าซามูไรจนสามารถควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็น “ชนชั้นกระฎุมพี” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของสังคมญี่ปุ่นมาก่อนเปิดประเทศนานมากแล้ว  รวมถึงชนชั้นศิลปินที่สามารถรังสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ก่อให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ของสามัญชนจำนวนมาก เช่น ภาพเขียนแบบอุกิโยะ (浮世) ที่สะท้อนวิถีชีวิตทั่วไป หรือละครคาบูกิ (歌舞伎) ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอีกทางหนึ่ง

ในขณะที่ระบบการปกครองแบบศักดินาของไทยโบราณ  เจ้าขุนมูลนายผูกขาดทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ชนชั้นใต้ปกครองส่วนใหญ่คือไพร่ในสังกัดมูลนายถูกเกณฑ์แรงงานเดือนเว้นเดือนขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพของตนเอง ได้รับการศึกษาน้อยหรืออาจไม่ได้เพราะไม่มีจำเป็นต่อสภาพสังคมในยุคนั้น ถูกจำกัดการประกอบอาชีพและการค้าขายไว้เพียงระดับย่อยเพราะชนชั้นปกครองควบคุมการค้าสเกลใหญ่แทบทั้งหมด ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อราชสำนักและศาสนาเป็นหลัก โอกาสที่ชนชั้นล่างจะยกระดับขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ แบบญี่ปุ่นจึงน้อย    

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอาจจะเป็นแนวคิดและค่านิยมพื้นฐานของสังคมไทยอย่างแนวคิดเทวราชาแบบพราหมณ์-ฮินดู และพุทธเถรวาท ที่สถานะทางสังคมยึดโยงกับแนวคิดเรื่องบุญกรรมที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน อาจไม่ได้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางโลกวิสัยมากนักครับ    


ระบบราชการของสยามในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ยังไม่ได้เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ แต่ยังมีการกระจายอำนาจการปกครอง การควบคุมไพร่พล และการจัดเก็บภาษีอากรไปอยู่กับบรรดาขุนนางผู้ใหญ่และเจ้าภาษีนายอากร ทำให้ราชสำนักส่วนกลางไม่มีงบประมาณแผ่นดินมากนัก   การปกครองของสยามยังเป็นรัฐราชาธิราชอย่างจารีตที่ประเทศราชหลายแห่งยังมีอิสระในการปกครองตนเองสูง และเป็นเป้าหมายของชาติตะวันตกที่มุ่งเข้ามาล่าอาณานิคมเช่นเดียวกัน

รัชกาลที่ 5 จึงต้องใช้เวลาการปฏิรูปการปกครองยาวนานหลายสิบปี เพื่อสลายอำนาจของเจ้าขุนมูลนายที่ทรงอิทธิพล ปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน ยกเลิกกระบบไพร่ทาส ผนวกประเทศราชเข้ามาเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสยามโดยตรง รวมถึงสร้างกองทัพสมัยใหม่ และใช้กำลังทหารจากส่วนกล่างเข้าไปปราบปรามการต่อต้านในดินแดนเหล่านี้ด้วย จนทำให้สยามเปลี่ยนผ่านจากรัฐราชาธิราชอย่างโบราณมาสู่ความเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

อันที่จริงรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยเมจิก็ต้องใช้ความพยายามในการดึงอำนาจรวมศูนย์มาจากแคว้นต่างๆ เหมือนกัน  แต่ญี่ปุ่นมีพื้นฐานความพร้อมสูงกว่ามากทั้งสำนึกเรื่องรัฐชาติและการศึกษามาตั้งแต่ก่อนเปิดประเทศ และญี่ปุ่นไม่ต้องเผชิญหน้ากับชาติล่าอาณานิคมโดยตรงเหมือนสยาม  ทำให้การปฏิรูปเป็นไปได้รวดเร็วกว่าหลายเท่าครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่