"บุษบา"
(กลบท มธุรสวาที)
# รักร้อนรุ่ม สุมรติ* ดวงยิหวา*
งดงามเปรียบ ปานฟ้า กระยาหงัน*
นวลละออง ผ่องพักตร์ ประจักษ์พลัน
ดั่งบุหลัน* ร่วงฟ้า ไร้ราคี
# สองเนตรดำ ล้ำลึก มฤคมาศ*
งามวงวาด แววขนง ช่างทรงศรี
อรชร อรอินทร์ ดั่งกินรี
เกินวจี จักอ้าง ทุกอย่างไป
# ยะยั่วยิ้ม พิมพ์ตา ผวาตื่น
ต้องสะอื้น ออดอ้อน สะท้อนไห้
เร่าร้อนรุก จุกอก เพ้อพกไกล
ช่างสาใจ จรกา ตั้งท่ารอ
# เรียวริมปาก ฝากถ้อย เรียงร้อยเอ่ย
จะเฉลย รักจริง ยากยิ่งหนอ
ผมเคลียบ่า ตางาม เมื่อยามคลอ
ฤๅหยุดพ้อ เพ้อได้ ไฉนเรา
# แก้มเอมอิ่ม ยิ้มพลาง เกยคางชิด
งามตาพิศ เผลอผละ ใจกระเส่า
อิเหนาคง หลงรูป หมายจูบเงา
ภาพงามเท่า เทียมนุช แม่บุษบา
# เขี้ยวเรียวใส ไรเรียว ดังเขึ้ยวเพชร
งามก่องเก็จ แก้วมณี อันมีค่า
แค่ชื่นชม สมใจ เพียงนัยน์ตา
มิควรค่า เคียงเจ้า พี่เข้าใจ
"ครูเปี๊ยก"
5 กรกฎาคม 2565
คำศัพท์
รติ = ความรัก ความชอบใจ
ดวงยิหวา = ดวงใจ
กระยาหงัน = เมืองสวรรค์
บุหลัน = ดวงจันทร์
มฤคมาศ = สัตว์กีบสี่เท้าจำพวก กวาง,เนื้อทราย กวีถือว่ามีดวงตางดงาม
กลบทมธุรสวาที ปรากฏอยู่ในการประพันธ์ลำดับที่ ๓ ของตำราศิริวิบุลกิตติ์
พิจารณาโดยรวมเห็นว่า ที่เพิ่มจากกลอนทั่วไป คือ
- ๑.) ในทุกวรรคของกลอน ให้มีสัมผัสสระแทรกระหว่าง คำท้ายของช่วงกลาง กับ คำที่สองของช่วงหลัง (xxx...xA…xAx) เป็นหลัก
- ๒.) ในวรรคสดับ และวรรครอง (วรรค ๑ และ ๓) นิยมเพิ่มสัมผัสสระชิดอีก ๑ คู่ คือระหว่าง คำท้ายของช่วงแรก กับ คำแรกของช่วงกลาง (xxA...Ax…xxx)
** กลบทมธุรสวาทีนี้ มีปรากฏที่มาเฉพาะใน "กลบทศิริวิบูลกิตติ์" ไม่มีปรากฏใน "จารึกวัดพระเชตุพนฯ" (ข้อมูลจากบ้านกลอนน้อย)
"บุษบา"