แบ่งปันประสบการณ์ สู้คดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำอย่างไร จบอย่างไร เราใช้อะไรสู้ได้บ้าง

ก่อนอื่นเลย อยากมาแบ่งปันประสบการณ์ การเป็นทนายอาสา ในการสู้คดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ให้กับบุคคลคนนึงนะครับ ซึ่งผลคือจบที่การเจรจา และได้ค่าชดเชย+ ค่าเสียหายไปพอสมควร 

ก่อนอื่นเลย ลูกจ้างทุกคนต้องเข้าใจก่อน ว่าอะไรคือการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 

ปกติแล้ว สัญญาจ้างงานแบบไม่กำหนดระยะเวลา  นายจ้างหรือลูกจ้าง สามารถบอกเลิกจ้างหรือบอกลาออกกันได้อยู่แล้ว แต่หากนายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้าง ปกติแล้วการเลิกจ้างจะมีอยู่ 3 ประเภทหลักๆคือ 

1. เลิกจ้างด้วยสาเหตุที่ ลูกจ้างทำความผิดอย่างร้ายเเรง เช่น ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันควรเกิน 3 วัน การเสพสารเสพติดในที่ทำงาน การทุจริตขโมยของนายจ้าง การประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สูบบุหรี่ตรงคลังเก้บสินค้าไวไฟ หรือแม้แต่การทำผิดไม่ร้ายแรงเช่นมาสายตลอด และนายจ้างได้ตักเตือนแล้ว ถ้าการเลิกจ้างแบบนี้เกิดขึ้น นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า (ทั้งนี้ลูกจ้างอาจฟ้องศาลและไปสู้ในศาลในกรณีที่คิดว่าตัวเองไม่ผิดก็ได้) 

2. เลิกจ้างทั่วไป เช่นปรับโครงสร้างองค์กร บริษัทขาดทุนปลดคน ทำงานได้ประเมินต่ำตลอดเลยโดนปลด หรือทำงานลาป่วย 30 วันทุกปี ป่วยบ่อยมากจนประสิทธิภาพงานเสีย นายจ้างก็บอกเลิกจ้าง โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 1 รอบเงินเดือน และ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งคิดตามอายุงานที่ทำ เช่น อายุงาน 1 ปี ค่าชดเชย 3 เดือน อายุงาน 3 ปี ค่าชดเชย 6 เดือน  อายุงาน 6 ปี ค่าชดเชย 8 เดือนเป็นต้น (ความจริงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจได้ค่าชดเชยเพิ่ม พวกย้ายการผลิด ปรับเปลี่ยนสภาพการผลิตอาจได้เพิ่ม ตามกฎหมาย) 

3. การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันนี้คือไม่มีเหตุอะไรเลย อยู่ดีดีก็มาเลิกจ้างเรา หรือเกิดจากการเลิกจ้างตามข้อ 2 แต่ใช้กระบวนการขั้นตอนที่รวบรัดเกินไป เช่นบอกว่าประสิทธิภาพงานไม่ดี แต่ไม่มีโปรแกรมให้ปรับ ไประเมินไม่ดีปีแรกม่ดีปีแรกปลดออกเลย ตัวชี้วัดไม่ชัดเจน  ทะเลาะกับหัวหน้าหัวหน้าบอกไม่ต้องมาทำงานแล้ว  บริษัทกำไรอยู่ แต่ปลดคนอายุเยอะออกจากงาน   หรือแม่แต่บริษัทขาดทุนปีแรกปลดคนเลย โดยไม่มีการเออรี่รี่ไทน์ หรือมาตรการอื่นๆเช่นลดเงินเดือน ผุ้บริหาร ลดเงินเดือนพนักงานก่อน  เป้นต้น 
ลองไปอ่านเพิ่มเติมดู ในอากู๋ได้ เสริจเลย เลิกจ้างไม่เป็นธรรม 

อันนี้เป็นตัวอย่างการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนะครับ
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เช่น
-เพราะเหตุผลส่วนตัวของนายจ้าง เช่นทะเลาะกับหัวหน้า แล้วบอกว่า ไม่ต้องมาทำงานแล้ว เอาซองขาวไป
-การเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด 
-หรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน/วิธีการที่กำหนดไว้
-ไม่ตั้งกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับ เช่น ทำผิดวินัย แต่ให้ออกเลยโดยไม่ผ่านกระบวนการสอบสวนวินัยของบริษัท
-ขัดขวางการทำหน้าที่ของกรรมการสหภาพ
-ไม่มีเหตุจำเป็นเพียงพอ กลั่นแกล้ง-ลงโทษซ้ำ เช่นมาสายกันทั้งทีม แต่จงใจเล่นงานคนนี้คนเดียว คนอื่นไม่สนใจไม่ลงโทษ
-ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน
-ไม่ให้กรรมการสหภาพฯเข้าร่วมสอบส ฯลฯ

ข้อต่อสู้เรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เลิกจ้างเนื่องจาก
-ความไม่สามารถของลูกจ้าง เช่นป่วยบ่อย งานไม่ดี ผลทดลองงานไม่ดี-ไม่ผ่านเกณฑ์ บกพร่องในหน้าที่  ==> ผลประเมินไม่ชัด ไม่ทำตามขั้นตอน ไม่ให้แก้ไขปรับปรุงตัว อันนี้ก็ไม่เป็นธรรมได้ (เคสผมเคสนี้แหละ)
-ความประพฤติของลูกจ้าง เช่น มาสาย กลับก่อน นอนมาก หลากโรค ทำตัวไม่น่าไว้ใจ เป็นชู้ ข่มขู่-ขัดแย้งกับนายจ้าง/เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ 
-ขัดคำสั่งอันชอบและเป็นธรรมของนายจ้าง-หัวหน้างาน
-ผิดระเบียบข้อบังคับฯ
-ทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหาย
-เพราะความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ down sizing
-ต้องเป็นเหตุปัจจุบัน  ฯลฯ

เลิกจ้างไม่เป็นธรรม แล้วลุกจ้างจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง  อันนี้ผมตอบเลยนะครับ

1. ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งให้ตามอายุงาน
2. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าตกใจ 1 รอบการจ่ายเงินเดือน (ปกติจะเท่ากับเงินเดือนหนึ่งเดือน) แต่ถ้าบอกเดือนนี้ ให้ทำถึงเดือนหน้า อันนี้อดนะ 
3. ค่าวันลาพักร้อน คงเหลือ 

โดยค่า 1 ถึง 3 นี้ นายจ้างต้องจ่ายภายในวันที่เลิกจ้างลูกจ้าง ทันที ไม่จ่ายมีความผิดอาญานะครับ และลูกจ้างสามารถเรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เลิกจ้าง (อันนี้ศาลให้แน่นอน) หรือถ้ามีเจตนาจงใจไม่จ่ายจริงๆ สามารถเรียกเงินเพิ่มได้ร้อยละ 15 ทุก 7 วัน (แต่เรียกไปแล้วศาลจะให้ป่าวไม่รู้นะ) ตาม พรบ คุมครองแรงงาน มาตรา 9 

ทีนี้ มาถึงพระเอกของเราและ ค่าที่ทุกคนไม่ค่อยรู้ ว่าเรียกได้  สิ่งนี้คือ  =====  " ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม " =====

สิ่งนี้ มันอยู่ในไหน เปิด พรบคุ้มครองแรงงานไปก็ไม่เจอ 5555   เพราะค่าเสียหายนี้ มันไปอยู่ใน พรบ จัดตั้งศาลแรงงาน มาตรา 49 ที่บอกว่า

 “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ ศาลคำนึงถึงอายุของ ลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อ ถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”

ถ้าอ่านตามนี้ จะมีว่า ถ้าศาลเห็นว่าเลิกจ้างไม่เป้นธรรม ศาลจะมีให้ 2 ทางเลือกคือ 

1. ให้กลับไปทำงานที่เดิมโดยตำแน่งและเงินเดือนเดิม   อันนี้จะมีคำถามว่าแล้ว ระหว่างตกงานตอนสู้คดีหละ จะได้เงินไหม ถ้าอ้างอิงจากคดีกบฎ ITV ที่เลิกจ้าง นักข่าว ITV และศาลให้กลับเข้าทำงาน ศาลให้ ITV ต้องจ่ายค่าจ้าง ตั้งแต่เลิกจ้างจนถึงวันที่ศาลสั่งให้รับกลับเข้าทำงานด้วย  
https://prachatai.com/journal/2005/03/3056

2. ถ้ากลับไปทำงานไม่ได้ ศาลจะให้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยดูจากสาเหตุที่เลิกจ้าง เงินชดเชยที่ได้รับ อายุงาน ความเดือดร้อนของลูกจ้างเช่นเป้นหนี้เยอะ แม่ติดเตียง ลูกพิการต้องเลี้ยงดู อะไรประมาณนี้ แล้วค่านี้ศาลจะให้เท่าไรกันหละ เอาจริงๆจากที่เคยศึกษามา ศาลจะให้ค่านี้ ขั้นต่ำคือ อายุงาน(ปี) * เงินเดือนเดือนสุดท้าย ดังนั้น เช่นทำงานมา 7 ปี ศาลอาจสั่งให้นายจ้างจ่ายเพิ่มอีก 7 เดือน นอกเหนือจากเงิน 1-3 ตามที่ลูกจ้างควรได้  แต่ถ้ามีเหตุร้ายแรงจริงๆ ศาลเคยให้ถึง 2 เท่า นะ เช่นทำงานมา 5 ปี ศาลให้เพิ่ม 10 เดือน อันนนี้ศาลให้ตามความ ดราม่าเลย 

อ่าวเเล้วเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ต้องไปเรียกร้องทางไหนหละ    

การจะได้ค่าเสียหายตัวนี้ ต้องไปฟ้องศาลอย่างเดียวนะครับ เพราะ แรงงานจังหวัด มีหน้าที่อำนาจให้จ่ายแค่ 1-3 เท่านั้น คือค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าพักร้อนคงเหลือ  ไปร้องเรียนแรงงานก็ไม่ได้ผล ต้องฟ้องศาลอย่างเดียวครับ 

พูดถึงข้อ กฎหมายซะยาว มาถึงแนวทางสู้คดีมั่งครับ  
1. เมื่อถูกเลิกจ้าง ให้ตั้งสติให้ดี  อย่าฟูมฟาย และอย่าลงนามในอะไรทั้งนั้นนะครับ พยายามขอสาเหตุเลิกจ้างจากหัวหน้า และหนังสือเลิกจ้างมาให้ได้ ผมย้ำอีกครั้งจะถ่ายรุปมาหรืออะไรมาก็ได้ แต่ห้ามลงนามอะไรเด็ดขาดนะ โดยเฉพาะพวกห้ามฟ้องร้องบริษัท ถ้าไปเซ็น นี่จบเห่เลย บอกเลย 

2. เก็บเอกสารผลงานเราออกมาให้หมด รวมถึงรางวัลต่างๆที่ได้รับ เพื่อใช้ในการเตรียมการต่อสู้คดี  (ถ้าเป็นเอกสารบริษัท ใช้มือถือถ่ายรูปจากคอมมา เพราะระวังบริษัทจะหาเรื่องเล่นงานเรื่องเราขโมยข้อมูล ) อย่าใช้วิธีส่งเมลมาภายนอก  และลองศุกษาดู ว่าเรามีสิทธิอะไรที่ได้รับบ้าง เช่นอายุงานกี่ปี ค่าชดเชยเท่าไร ค่บอกกล่าวล่วงหน้า ค่าวันหยุดที่เหลือมีไหม เป็นต้น

3. ดูคู่ต่อสู้บริษัทเรา ว่าเป็นใคร ถ้าเป้นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัท ตปท ใหญ่ๆ  หรือบริษัทขนาดใหญ่ จะดีหน่อย เพราะเขาไม่อยากเสียชื่อเสียงจากการมีคดีพิพาทแรงงาน อาจเสียภาพลักษณ์ เสียเรื่องธรรมาภิบาล  (ในขั้นตอนนี้แนะนำลูกจ้าง เข้าไปอ่านในเวปไซต์ของพวกนายจ้างตนเองครับ ในเรื่องการกำกับดูและ หรือเรื่องธรรมภิบาล ว่าเขาพูดอะไรเกี่ยวกับการจ้างแรงงานบ้าง บางทีอาจเจอข้อดีดีในนั้นครับ เช่นอาจเขียนว่าบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยทันทีเที่เลิกจ้าง ถ้าไม่ได้เงินดังกล่าว เราเอาไปร้องเรียนต่อได้ครับ  อาจคุยไกล่เกลี่ยแล้วจบได้ แต่ถ้าเป็นโรงงาน นายจ้างคนจีนหรือไทย นี่ทำใจเลยครับ ยาวถึงศาลแน่นนอน

4. วิเคราะห์ว่าการเลิกจ้างของเรา นั้นเป้นการเลิกจ้างประเภทไหน เป็นธรรมหรือไม่ เช่นผลงานเราต่ำเตี้ย ประเมินทุกปีต่ำหมด ให้โอกาสแล้ว เขาจึงปลดเรา อันนี้เขามีเหตุเลิกจ้างเราได้  ถ้าเขาไม่จ่ายค่าชดเชยตาม 1-3  ให้ไปร้องแรงงานจังหวัดจะได้เงินไวกว่า แต่ถ้าเป้นเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไปฟ้องศาลจะได้เงินเยอะกว่าครับ แต่แน่นอน ช้ากว่า (ประมาน 2-3 ปี) 

5. ทีนี้ ถ้าคู่ต่อสู้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เป็นมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ และมีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เราอาจส่ง จดหมายทวงถามหรือจดหมายร้องเรียน อาจเป้นทั้งจดหมายและอีเมล ไปยังผู้ใหญ่ในบริษัท ผู้ใหญ่ในที่นี่คือ C  Level หรือ MD รวมถึงกรรมการที่เกี่ยวข้องเช่น กรรมการกำกับดูแลธรรมภิบาล หรือกรรมการตรวจสอบ  บรรยายถึงพฤติกรรมที่เกิดและข้อเรียกร้องของเราครับ ยิ่งถ้ามีการขัดต่อหลักองค์กร นโยบาย หลักธรรมภิบาลในหน้าเวปไชต์บริษัทยิ่งดีเลย  เพราะบางทีเรื่องนี้อาจจบได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล ถ้าผุ้ใหญ่รับรู้เรื่อง

6. ทีนี้พอถึงขั้นตอนใกล่เกลี่ย ให้เรามีตัวเลขในใจไว้ (คืออาจน้อยกว่าตัวเลขที่เรียกร้องไป แต่ไม่ควรน้อยกว่าตัวเลขค่าชดเชย ตาม 1-3 + ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามอายุงาน ครับ ) เขาต่อเราแน่แต่บอกเลย ถ้าคนคุยเป็นผู้ใหญ่ลงมาเองแสดงว่าเขาอยากจบเรื่องนี้ โดยไม่ต้องไปศาลครับ ซึ่งผมก็จบในงั้นตอนนี้แหละ ไกล่เกลี่ยได้

7. ถ้าถึงขั้นไปศาล หละต้องมีทนายไหม จริงๆไม่ต้องมีทนายก็ได้ แต่ต้องลองศึกษากฎหมายเพิ่มเติมดูดีดีครับ เพราะบางทีเราอาจพลาดได้ครับ โดยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ควรเรียกไปโดยมีเหตุผลประกอบที่ชัดเจนครับ เช่นทำงานมา 7 ปีอายุ 45 ปีแล้ว อาจเรียกไป 36 เดือนครับเพราะอาจอ้างกับศาลว่าอายุมากแล้วหางานไม่ได้ครับ (แต่ศาลก็ให้ตามที่ผมบอกแหละ 5555 ) อันนี้ไม่ต้องกลัวเวลาขึ้นศาลครับ ถ้าเราคิดว่าเราไม่ผิดจริงๆ ขึ้นศาลแบบไม่มีทนายไปเล่าความจริงให้ศาลฟัง ขอความเห็นใจ จะดีกว่าครับ 

ขอให้ลูกจ้างทุกคนโชคดีครับ ไม่โดนเลิกจ้างคือดีสุดแล้วครับผม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่