ชีวิตเมื่อถูกเลิกจ้างตอนอายุ 45 ปี อย่างไม่คาดคิด

มีเรื่องราวอยากฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ และมีประสบการณ์อยากแบ่งปัน เป็นข้อคิด ข้อเตือนใจ สำหรับคนที่ทำงานเป็นลูกจ้าง พนักงานออฟฟิศ (White Collar)
 
ผมอายุ 45 ปี ไม่มีครอบครัว เป็นคนรุ่น Gen X ปลายๆ จบการศึกษา ป.ตรี-ป.โท มหาวิทยาลัยรัฐบาล ทำงานงานในธุรกิจประกันวินาศภัยมาเกือบ 20 ปี ในส่วนงานการขาย ทำแผนงานการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมตัวแทนนายหน้า ซึ่งจะอยู่ในส่วนงานหารายได้เข้าบริษัทมาโดยตลอด และบริษัทสุดท้ายก่อนถูกเลิกจ้าง ก็ทำงานมา 5 ปี แถมยังเป็น Top 3 ของบริษัทประกันวินาศภัยญี่ปุ่นอีกด้วย ตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส เงินเดือน 80,000 บาท ลำดับเรื่องราวจึงเป็นดังนี้

1. ในช่วงโควิด บริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้าน WFH ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ไม่ได้ใช้รถ อุบัติเหตุจึงเกิดน้อยมาก ทำให้สิ้นปี 2563 บริษัทมีกำไรเพิ่มเป็น 2 เท่าจากปี 2562 แต่ยอดขายลดลง 10% ส่งผลให้ต้นทุนพนักงานเพิ่มขึ้น (% เงินเดือนและสวัสดิการเทียบกับยอดขาย) เมื่อต้นปี 2564 ทำให้สำนักงานภูมิภาคที่สิงคโปร์สั่งให้ตัดค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้ % กลับมาเท่าเดิม

เมื่อปี 2563 ช่วงที่โควิดระบาดมาสักพักแล้ว มีข่าวโรงงานปิดตัว บริษัทหลายแห่งเลิกจ้างพนักงาน ผมก็ยังคิดในใจว่า เรายังโชคดีที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นที่ใหญ่และมั่นคง แถมบริษัทยังมีกำไรต่อเนื่องมากกว่าปีที่ผ่านมา ยังไงบริษัทก็คงไม่มีนโยบายเอาพนักงานออก ผมยังสบายใจว่า ยังไงก็รอด ไม่ได้เดือดร้อน

2. ฟ้าผ่าเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ผมกำลังนั่งทำ product presentation ชุดใหม่ อยู่ๆ HR ก็โทรเรียกให้ไปพบที่ชั้น 10 ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ได้เอะใจอะไร เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่งไปปรึกษาถึงเกณฑ์ประเมินผลงานที่ผมไม่เห็นด้วย มี KPI หลายอย่างที่ปีที่แล้วไม่ได้บอก แต่กลับเอามาใช้ประเมินในปีนี้ ซึ่งคนประเมินก็บอกว่า ขอโทษที่ไม่ได้บอก (แค่นั้น) แต่ก็ประเมินไม่ให้ผ่าน ซึ่งโดยปกติ พนักงานจะประเมินตนเอง และส่งให้ผู้ประเมินแก้ไข ต่อให้ถกเถียงอย่างไรก็ต้องแก้ตามคนที่ประเมินต้องการ (ขึ้นปีที่ 5 ผมได้ย้ายฝ่ายใหม่ เนื่องจากถูกเจ้านายบังคับให้ย้ายออกด้วยความไม่เต็มใจ)

เวลาที่ HR และฝ่ายที่ต้องคัดคนเพื่อเลิกจ้าง ผมถูกเลิกจ้างโดยอ้างเหตุผลว่า การประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งน่าประหลาดใจ เพราะ 4 ปีที่ผ่านมา ทำงานผ่านเกณฑ์ด้วยดีมาตลอด ในปีที่ไม่มีโควิด คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์จะถูกเรียกคุยและให้ทำแผนงานปรับปรุงการทำงาน ซึ่งจากการถามพี่ๆ คนเก่าๆ เขาบอกว่า บริษัทไม่เคยไล่คนออกเลยถ้าไม่ใช่เรื่องทุจริต ผมมีเพื่อนสนิทที่ถูกเลิกจ้างพร้อมกันก็มานั่งวิเคราะห์กัน สาเหตุที่ HR ไม่ได้บอก คือ เมื่อได้จำนวนคนที่ถูกเลิกจ้าง แต่ละฝ่ายจะไปดูว่า มีใครที่จะเอาออกได้บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มี back up ไม่ใช่เด็กนาย อายุงานน้อย แต่อายุเยอะ เงินเดือนเยอะ ถ้าเอาออกแล้วและหาคนมาแทนได้ โดยจ่ายเงินน้อยลง ซึ่งผมเป็นกรณีนี้ ผมถูกเลิกจ้างวันพฤหัสบดี แต่วันจันทร์ถัดมา คนใหม่เข้ามาแทนทันที โดยที่อายุน้อยกว่า น่าจะ 30 ต้นๆ และเงินเดือนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

บางทีก็คิดโทษตัวเองว่า สาเหตุการตกงาน อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ประจบประแจงใคร ไม่เอาใจเจ้านาย หรืองานที่เราทำ ก็ทำไว้หมดแล้ว ต่อไปเอาใครมาทำแทนก็ได้ จะอธิบายให้คนนอกฟังยังไง เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่า คนที่ถูกเลิกจ้าง คือ คนไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีคุณภาพ ทำงานไม่ดี ไม่ผ่านการประเมิน

3. ในช่วงต้นปี 2564 ผมถูกสั่งให้ทำแผนงานประจำปี ทำ presentation ให้รีบเสร็จแล้วส่ง ซึ่งก็ส่งก่อนวันที่จะถูกบอกเลิกจ้าง สิ่งที่เจ็บใจ คือ ผมกลับมาทำงานที่บริษัทนี้รอบ 2 ตอนอายุ 40 หลังจากที่เคยทำงานที่นี่มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเจ้านายก็เป็นคนชักชวนให้กลับมาทำงาน เพราะไม่มีใครทำแทนได้ และอีก 10 ปีจะเกษียณที่อายุ 55 ก็วางแผน วางอนาคตไว้ว่า ผมจะไม่ย้ายงานอีกแล้ว เพราะอยากจะเกษียณที่นี่

4. ชีวิตต้องเดินต่อ หันไปมองข้างหลังก็ไม่เกิดประโยชน์ เงินชดเชยที่ได้จากบริษัท เป็นอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มากกว่า ไม่น้อยกว่า เพราะ HR มีหน้าที่จ่ายให้น้อยที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด เพราะสุดท้ายแล้ว * HR มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์บริษัทให้มากที่สุด ไม่ใช่ผลประโยชน์ของพนักงาน * ซึ่งบริษัทไม่ได้ดูว่า พนักงานคนนี้อยู่กับบริษัทมากี่ปี หรือมีผลงาน ความดีความชอบอะไรมาก่อน ตอนที่อยู่ในห้อง หูอื้อไปหมด ไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะคิดในใจว่า ไม่ควรจะเป็นเรา * คำพูดที่บาดใจของผู้บริหาร คือ ผมไม่ใช่ดาวรุ่งของบริษัทอื่นต่อไป และพยายามช่วยเต็มที่แล้ว แต่ก็ช่วยไม่ได้ * สุดท้ายแล้วก็จำต้องยอมเซ็นเอกสารการเลิกจ้าง โดยระบุเหตุผลอันสวยหรูในจดหมายว่า เลิกจ้างเพราะมีการปรับโครงสร้างจากปัญหาโควิด

ส่วนเงินชดเชยที่ได้ก็ต้องมาจัดแจงแบ่งสันปันส่วนเป็น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าประกันชีวิต ค่าประกันรถ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ก็ยังมีเงินประกันการว่างงานมาช่วยประทังได้หลายเดือนอยู่ แม้จะไม่ได้มาก แต่ก็ดีกว่าไม่ได้เลย สิ่งที่เคยวางแผนอนาคตไว้ ต้องล้มหมด ปรับใหม่หมด เรื่องผ่อนบ้านเรื่องใหญ่ยังไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ จะขายตอนนี้ก็ไม่มีคนซื้อ 

5. ช่วงที่ผ่านมา พยายามสมัครงานตามเวบไซต์หางาน ถามพี่ๆ เพื่อนๆ เพื่อให้ได้ข่าววงใน ซึ่งทุกคนก็อยากช่วยนะ แต่สถานการณ์โควิดทำให้ทุกบริษัทรัดเข็มขัด การสมัครงานในเวบไซต์ก็สมัครเป็นหลายร้อยบริษัท ไม่เฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัยเท่านั้น อะไรพอจะสมัครได้ก็สมัคร แต่ความยาก คือ ส่วนใหญ่จะไม่รับคนที่อายุเกิน 40 ปี หรือ รับระดับบริหารงาน VP , SVP ที่ต้องเคยผ่านงานบริหารทีมมาไม่น้อยกว่า 40-50 คน ซึ่งตำแหน่งผมเป็นระดับกลางๆ อยากจะทำงานในตำแหน่งสูงขึ้นก็ไม่ได้ จะไปทำตำแหน่งที่ต่ำกว่า บริษัทก็ไม่รับ คุณสมบัติทั้งประสบการณ์ทำงาน อายุ เงินเดือน การศึกษา เกินกว่าที่บริษัทประกาศรับ ทั้งที่ผมก็อยากทำงาน ถึงแม้เงินเดือนได้แค่ 30,000-40,000 ก็ไม่เป็นไร ขอมีงานทำไว้ก่อน ขอมีเงินเข้ามาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายบ้างก็ยังดี

6. บางคนอาจแนะนำว่า ทำไมไม่ไปขายของออนไลน์ คนรุ่นใหม่ทำกันเยอะแยะ ซึ่งจะบอกว่า จำนวนคนที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าคนไม่ประสบความสำเร็จเยอะมาก คนที่ออกยูทูปคือคนสำเร็จ หรือบางคนอาจบอกว่า ทำไมไม่เอาเงินไปลงทุนในบิทคอยน์ หุ้น กองทุนอื่นๆ ซึ่งจะบอกว่า แต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน แต่ก็กำลังมองหาในสิ่งที่คิดว่าพอทำได้ ซึ่งตอนนี้ก็ศึกษาข้อมูลไว้หลายอย่าง แต่เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจที่แย่ จึงยังทำอะไรได้ไม่มาก แต่ก็ต้องรีบทำ เพราะเงินร่อยหรอลงเรื่อยๆ ถ้าไม่หาเงินมาเติม

7. สิ่งที่อยากจะบอกคนรุ่นใหม่ หรือรุ่นเดียวกันว่า

- ถ้าคุณไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูง ไม่ได้ทำงานเป็นวิชาชีพ เช่น หมอ วิศวะ ไอที เป็นต้น การถูกเลิกจ้างหรือตกงานอย่างไม่ทันตั้งตัว เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีเหตุผลต้องไปร่ำร้องขอความเมตตาจากบริษัท สำหรับผม ไม่มีเวลาไปร่ำลาพี่ๆ เพื่อนๆ เลย เดินออกจากห้อง HR ก็กลับมาเก็บของแล้วส่งคืนโน้ตบุ๊คในเย็นวันนั้น งานที่ทำค้างไว้ก็ลบไฟล์ทิ้ง เพราะไม่มีประโยชน์อะไรต้องเก็บไว้

- อย่างที่หลายคนเคยบอกกัน คนเราควรมีอาชีพสำรองตั้งแต่เนิ่นๆ ปัจจุบันมีหลายอาชีพที่ทำสำรองได้ และมีช่องทางมากกว่าสมัยก่อนเยอะ หาสิ่งที่ชอบให้เจอ ถ้าตอนนี้ยังไม่มีก็รีบหาในขณะที่ยังมีงานประจำอยู่

- อย่ารังเกียจอาชีพค้าขาย ถ้าที่บ้านมีร้านค้าหรือมีกิจการส่วนตัว เมื่อทำงานถึงระดับหนึ่งแล้ว ถ้ากลับไปพัฒนาธุรกิจที่บ้านก็จะดีกว่าเป็นลูกจ้างตลอดไป อาชีพค้าขายหลายอาชีพที่ดูไม่ทันสมัย เงินน้อย ไม่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ทำให้รวยได้ ถ้าหาตลาดดีๆ หรือแม้แต่อาชีพเกษตร ก็มีหลายอย่างที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจ แต่สร้างรายได้ได้ดี ลองเปรียบเทียบว่า ทำงานในห้องแอร์สบายๆ แต่งตัวสวยๆ สิ้นเดือนรับเงินเดือนแน่นอน แต่ ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน ในอนาคต อาจมีโรคใหม่ที่เหมือนกับโควิดเกิดขึ้นอีกก็เป็นได้

- รายรับ ไม่สำคัญเท่า เงินเหลือ ถึงแม้คุณได้เงินเดือนเยอะ แต่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็อาจเหลือเก็บน้อย หรือไม่ได้เก็บเลย ผมเองมีเงินเก็บแต่ก็ต้องมีเรื่องให้ใช้ตลอด เพราะต้องดูแลพ่อแม่ ไม่ต่างจากใครหลายคน เปรียบเทียบคนที่ได้เงินเดือนน้อย แต่มีรายจ่ายน้อย สุดท้ายจะมีเงินเหลือเก็บมากกว่า

- ค้นหาความชอบจริงๆ เพราะบางทีสิ่งที่เรียนมา ก็เรียนตามเพื่อน แต่พอมาทำงานแล้ว กลับพบว่า ไม่ชอบ ไม่ถูกชะตา หาตัวเองให้เจอ ถ้าเจอเร็วก็จะยิ่งดี

- เริ่มเก็บเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน เก็บก่อนใช้ เมื่อมีเงินจะเอาไปลงทุนอะไรก็ได้ แต่ถ้าไม่มีเงิน ก็ลงทุนต่อไม่ได้

- การศึกษาดี หน้าที่การงานดี ก็ไม่ได้การันตีอนาคต เพราะอนาคตไม่แน่นอน การเมืองในบริษัทไม่แน่นอน ถ้าสายที่ตัวเองสังกัดยังมีอำนาจ มีตำแหน่งอยู่ก็อาจสบายใจได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่เสมอไป หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ใครจะคิดว่า อาชีพนักบินที่เงินดีมาก เท่ๆ ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากเป็น ยังตกงานในยุคโควิดเลย และอาจโชคร้ายกว่าพนักงานออฟฟิศที่คงหางานลำบากกว่ามาก

- เมื่ออายุ 30 เป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรง มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมทำงานหนัก และปรับเปลี่ยนหน้าที่ตามที่บริษัทต้องการ หัวอ่อนเชื่อฟังและทำตามนโยบายบริษัท พออายุเริ่มเข้า 40 ความคิดความอ่านอาจจะไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ แต่มีประสบการณ์ มีความสุขุมลุ่มลึกและความนิ่งในการทำงาน แต่ถ้ายังไม่สามารถขึ้นตำแหน่ง เช่น หัวหน้างาน หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ได้ล่ะก็ หากมีการเลิกจ้างก็อาจได้รับสิทธิ์นั้น เพราะส่วนใหญ่บริษัทมักจะไม่เอาหัวหน้างานออก เพราะยังมีความสำคัญกับบริษัท และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่หัวหน้างานมักจะเก็บงานสำคัญไว้กับตนเองให้มากที่สุด ไม่ยอมกระจายงานให้ลูกน้องทำ เพื่อแสดงให้บริษัทเห็นความสำคัญของตนเองที่บริษัทขาดไม่ได้

8. หลังจากบ่นมาหลายย่อหน้า อัดอั้นมานาน สุดท้ายก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เจอเหตุการณ์หรือตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ไม่ได้โลกสวย เพราะทุกคนก็ต้องดิ้นรนตามศักยภาพ ตามมีตามเกิด ต้องปรับตัวและเอาตัวรอดให้ได้ อย่างไรก็ตาม ปี 2565 โควิดก็ยังอยู่กับเราอย่างน้อยก็ครึ่งปีแรก และกว่าจะคลี่คลาย ก็คงเป็นต้นปี 2566 เอาใจช่วยทุกคนรวมทั้งตัวเองให้รอดไปด้วยกันครับ

ขอบคุณมาก
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่