เส้นเลือดขอดที่ขา ปัญหากวนใจ😥

          สวัสดีครับ เพื่อน ๆ หลายคนคงเคยได้ยินหรือประสบปัญหาเส้นเลือดขอด ซึ่งมักทำให้เกิดความไม่สวยงาม แต่ทราบหรือไม่ครับว่าในบางครั้งเส้นเลือดขอดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ วันนี้พี่หมอจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จักวิธีการป้องกัน สังเกต และดูแลตัวเองเกี่ยวกับภาวะเส้นเลือดขอดนะครับ
          เส้นเลือดขอด (Varicose Vein) คือ ภาวะหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนังขยายตัวผิดปกติ จนมองเห็นเป็นเส้นคล้ายใยแมงมุม หรือเห็นเป็นเส้นเลือดขดปูดขึ้น ภาวะเส้นเลือดขอดสามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะหลายส่วนของร่างกาย  โดยเส้นเลือดขอดที่ขาเป็นภาวะเส้นเลือดขอดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 4 ในสหรัฐอเมริกามีภาวะเส้นเลือดขอด และมากกว่า 23% ได้รับผลกระทบจากเส้นเลือดขอด นอกจากปัญหาเรื่องความสวยความงามแล้ว เส้นเลือดขอดที่ขายังส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยและไม่สบายตัว บางครั้งเส้นเลือดขอดอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรง  หากเส้นเลือดขอดที่ขารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน พบอาการปวดบวม กดเจ็บหรือผิวหนังเริ่มหนา เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ  ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธีนะครับ
 
อาการ😞
          อาการของเส้นเลือดขอดที่ขาแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่สามารถมองเห็นหลอดเลือดโป่งนูน จนถึงมีแผลเส้นเลือดขอดเรื้อรัง ซึ่งเป็นภาวะเส้นเลือดขอดรุนแรงที่รักษาให้หายได้ยาก เส้นเลือดขอดที่ขามักพบมากบริเวณน่อง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.       เส้นเลือดฝอยขดคล้ายเส้นใยแมงมุม (Spider Vein) เป็นเส้นเลือดขอดที่ขาในระยะเริ่มต้น เกิดจากหลอดเลือดฝอยขดมองเห็นคล้ายใยแมงมุมสีม่วงหรือแดง ทั้งนี้ยังสามารถพบได้ที่ใบหน้า และอาจมีขนาดที่แตกต่างกัน 
2.       เส้นเลือดขอดลักษณะคล้ายเส้นเลือดโป่ง (Varicose Vein) เนื่องจากผนังเส้นเลือดเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้เส้นเลือดปูดขึ้นและขดเป็นหยัก มองเห็นเป็นสีเขียวหรือสีเขียวผสมม่วง ขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร 
 
สัญญาณของภาวะเส้นเลือดขอด❗
·      เส้นเลือดที่มีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำเงิน
·      เส้นเลือดที่มีลักษณะบิดและโป่ง มักปรากฎเป็นเส้นบริเวณน่อง
·      รู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณขาและน่อง 
·      รู้สึกว่าขาหนัก หรืออึดอัด
·      แสบร้อน ปวดกล้ามเนื้อ และข้อเท้าบวม
·      อาการปวดแย่ลงหลังจากนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
·      ผิวแห้ง คัน รอบเส้นเลือด 
·      มีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวรอบเส้นเลือดขอด
·      ตะคริวที่ขา โดยเฉพาะตอนกลางคืน
·      อาการต่าง ๆ ข้างต้นมักแย่ลงในช่วงที่อากาศอบอุ่น 
 
สาเหตุการเกิดเส้นเลือดขอด👩‍⚕
          หลอดเลือดแดงเป็นตัวนำเลือดจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขณะที่หลอดเลือดดำจะส่งเลือดจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายกลับไปยังหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณขาส่วนล่างทำหน้าที่คล้ายเครื่องสูบน้ำ และผนังเส้นเลือดที่ยืดหยุ่นช่วยให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจได้ดี โดยในเส้นเลือดดำจะมีลิ้นเล็ก ๆ ซึ่งจะเปิดออกเมื่อเลือดไหลกลับไปยังหัวใจ จากนั้นจะปิดเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับ หากลิ้นที่ทำหน้าที่กั้นเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับนี้อ่อนแอหรือเสียหาย เลือดอาจไหลย้อนกลับและสะสมในเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดยืดหรือบิดได้ เส้นเลือดที่อยู่ห่างจากหัวใจมากที่สุดอย่างเส้นเลือดที่ขา มักได้รับผลกระทบ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้เลือดไหลกลับไปยังหัวใจได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้เลือดไปสะสมที่เส้นเลือดบริเวณขา เพิ่มความดันภายในเส้นเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดดำบริเวณขาอ่อนแอและเสียหาย เป็นที่มาของภาวะเส้นเลือดขอดที่ขานั่นเองครับ
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด📢
เส้นเลือดขอด เกิดจากปัจจัยทั้งทางร่างกายและพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
·      เมื่ออายุมากขึ้น ลิ้นภายในหลอดเลือดที่ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปสะสมในเส้นเลือดส่วนปลายจนกลายเป็นเส้นเลือดขอดได้
·      ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นเส้นเลือดขอดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงส่งผลต่อความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือดดำที่น้อยลง 
·      การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นเลือดขอด
·      กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่หรือบุคคลในครอบครัว
·      การมีน้ำหนักเกินทำให้เกิดแรงกดดันต่อเส้นเลือดเพิ่มขึ้น
·      การยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดเส้นเลือดขอดได้มากขึ้น การเคลื่อนไหวช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดการเกิดเส้นเลือดขอด
·      การใส่รองเท้าส้นสูง ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่ดี รวมถึงการนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ ทำให้เส้นเลือดบริเวณขาถูกกดทับ  
·      ภาวะที่มีแรงกดดันช่องท้องอาจทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้ เช่น การตั้งครรภ์ ท้องผูก เนื้องอก 
 
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้🌟
ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด แม้ว่าจะพบได้ยาก แต่ก็ยังพบได้ เช่น 
·      การเกิดแผลที่เจ็บปวดบนผิวหนังใกล้กับเส้นเลือดขอด โดยเฉพาะบริเวณใกล้ข้อเท้า ซึ่งมักพบผิวเปลี่ยนสีก่อนเป็นแผล 
·      โอกาสที่เส้นเลือดอื่น ๆ ภายในขาอาจขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปวดขาและบวมได้ ควรรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการปวดหรือบวมที่ขาบ่อย ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณของลิ่มเลือดอุดตัน
·      การที่เส้นเลือดใกล้ผิวหนังมีอาการปริแตก แม้จะทำให้เลือดออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ควรพบแพทย์เช่นกัน
 
ภาวะแทรกซ้อนอันตราย😥
นอกจากภาวะแทรกซ้อนที่ไม่อันตรายมาก เส้นเลือดขอดก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายถึงชีวิตได้นะครับ
·      ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) เป็นภาวะร้ายแรงที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ทั้งนี้ หากมีภาวะเส้นเลือดขอดที่รุนแรง ก็มีโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำได้ อาการของภาวะนี้ ได้แก่ ปวด บวม และแดงที่ขา ลิ่มเลือดอาจเกิดขึ้นที่แขนหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที
·      ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดนั้นรุนแรงมากและอาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการบ่งชี้ต่าง ๆ ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอ (อาจไอเป็นเลือด) หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก และเป็นลม หากมีอาการดังกล่าวอาจหมายถึงลิ่มเลือดอุดตันในปอด ควรขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน หรือไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดนะครับ
 
เส้นเลือดขอด ป้องกันได้ ไม่ยาก💁‍♀️
·      หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
·      เปลี่ยนท่านั่งหรือยืนเป็นประจำ
·      รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง รวมถึงลดการรับประทานรสเค็มจัดเพราะโซเดียมที่มากเกินไปอาจทำให้บวมได้
·      การออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำช่วยให้กล้ามเนื้อน่องทำงานได้โดยไม่เมื่อยล้ามากเกินไป เช่น ว่ายน้ำเดิน ปั่นจักรยาน และโยคะ
·      ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
·      หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป โดยเฉพาะรอบเอว ขาหนีบ และขาท่อนบน เนื่องจากอาจทำให้เลือดไหลเวียนกลับไปยังหัวใจไม่ดีเท่าที่ควร
·      สวมถุงน่องช่วยพยุง ซึ่งให้แรงกดเล็กน้อยเพื่อเพิ่มแรงดันต่อกล้ามเนื้อขาและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ผลการศึกษาในปี 2018 พบว่าผู้ที่ใช้ถุงน่องช่วยพยุงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ อาการปวดเมื่อยจากเส้นเลือดขอดลดลง 
·      เพิ่มอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น อัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ กล้วยหอม สามารถช่วยเรื่องเส้นเลือดขอดได้โดยจะช่วยลดการกักเก็บน้ำในร่างกาย และมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิต จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
·      เพิ่มอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ช่วยลดโอกาสการเกิดเส้นเลือดขอดได้ สารฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี และทำให้โอกาสการเกิดเลือดสะสมในหลอดเลือดลดน้อยลง นอกจากนี้ ยังช่วยลดความดันโลหิตในหลอดเลือด อาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ ผักต่าง ๆ รวมทั้งหัวหอม พริกหยวก ผักโขม และบร็อคโคลี่ ผลไม้รสเปรี้ยวและองุ่น เชอร์รี่ แอปเปิ้ล และบลูเบอร์รี่ รวมไปถึงโกโก้ กระเทียม
·      ยกขาให้สูงในความสูงระดับหัวใจหรือสูงกว่านั้น พร้อมทั้งกระดกข้อเท้าขึ้น-ลง เพื่อช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น เลือดกลับหัวใจได้ดีขึ้น ส่งผลให้ความดันในหลอดเลือดที่ขาลดลง และแรงโน้มถ่วงจะช่วยให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจได้อย่างราบรื่น สามารถทำได้หลังเลิกงานหรือก่อนนอน
·      นวดขาหรือน่องเบา ๆ ช่วยให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ดีขึ้น และเป็นการคลายกล้ามเนื้อที่ตึงหลังจากทำงานมาทั้งวันได้อย่างดี โดยสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ที่อ่อนโยนกลิ่นที่ชอบร่วมด้วยเพื่อความผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
·      สิ่งสำคัญคือ ต้องหลีกเลี่ยงการกดลงบนเส้นเลือดโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เนื้อเยื่อที่บอบบางเสียหายได้
 
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์👨‍⚕
          โดยปกติแล้ว ภาวะเส้นเลือดขอดที่ขามักไม่มีอาการรุนแรงและไม่ต้องการการรักษา แต่หากอาการเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงความสวยความงาม รู้สึกเจ็บปวด หรือมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์
·      เส้นเลือดขอดทำให้เจ็บปวดหรือรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว
·      มีอาการเจ็บแสบบริเวณผิวหนังรอบเส้นเลือดขอด 
·      อาการปวดขาทำให้เกิดการระคายเคืองในเวลากลางคืน และรบกวนการนอนหลับ 
·      อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอ หรือไอเป็นเลือด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก และเป็นลม
หากเพื่อน ๆ มีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องครับ
 
การวินิจฉัย🩺
          นอกเหนือจากประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกายแล้ว ขั้นตอนการวินิจฉัยเส้นเลือดขอดเพิ่มเติม ทำได้โดยการอัลตร้าซาวด์หลอดเลือด เพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือดและโครงสร้างของหลอดเลือดที่ขา  
 
เส้นเลือดขอด รักษาได้ ไม่ต้องกังวล🩹
กรณีการรักษาเส้นเลือดขอดเบื้องต้นไม่ได้ผลหรือรู้สึกไม่สบายอย่างรุนแรง แพทย์อาจพิจาณาการรักษา ดังนี้ 
·      รับประทานยาบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด ในกลุ่ม Diosmin และ Hesperidin สามารถลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ ทำให้ลิ้นในหลอดเลือดดำเป็นปกติ โดยเฉพาะเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก 
·      การใส่ถุงน่องทางการแพทย์สำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking) ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ยกเว้นช่วงเข้านอน และให้ยกปลายเท้าให้สูงขึ้นเวลานอน
·      การรักษาด้วยเลเซอร์ มักใช้เพื่อปิดหลอดเลือดดำขนาดเล็กและหลอดเลือดดำแมงมุม  โดยแสงเลเซอร์เข้มข้นจะพุ่งตรงไปยังเส้นเลือด ทำให้ค่อย ๆ จางหายไป 
·      การฉีดสารเคมี (Sclerotherapy) โดยแพทย์ฉีดสารเคมีเข้าไปในเส้นเลือดขอดขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งทำให้เกิดรอยแผลเป็นและปิดลง เส้นเลือดขอดจะจางหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ อาจจำเป็นต้องฉีดหลอดเลือดดำมากกว่าหนึ่งครั้ง
·      การร้อยไหมเอ็นโดสโคปิกทรานสลูมิเนเตอร์ ซึ่งเป็นแสงพิเศษผ่านแผลใต้ผิวหนังเพื่อให้แพทย์เห็นว่าต้องเอาเส้นเลือดส่วนใดออก จากนั้นจะตัดและเอาเส้นเลือดเป้าหมายออกด้วยอุปกรณ์ดูดผ่านแผล โดยใช้ยาชาทั่วไปหรือยาชาเฉพาะที่ หลังการผ่าตัดอาจมีเลือดออกและฟกช้ำ
·      การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ  โดยมีแผลเล็ก ๆ เหนือหรือใต้เข่าด้วยการสแกนอัลตร้าซาวด์ จากนั้นก็ร้อยท่อเล็ก ๆ หรือสายสวนเข้าไปในเส้นเลือด แล้วปล่อยพลังงานคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปในสายสวน ซึ่งพลังงานคลื่นความถี่วิทยุทำให้เส้นเลือดร้อนขึ้น ทำให้ผนังปิดอย่างมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนนี้เหมาะสำหรับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดใหญ่
·      การผ่าตัดเอาเส้นเลือดขอดออก (Varicose vein stripping) เป็นการผ่าตัดเอาเส้นเลือดที่ขอดออก เหมาะสำหรับ เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่และยาวมาก ๆ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่