JJNY : 5in1 แพทย์กังวลBA.4- BA.5│เตามหาเศรษฐีไม่ช่วยอะไร│รถโดยสารโคราชขายรถประชดรบ.│ก.ค.ข้าวถุงขึ้น│สภาเดือด!ขู่นับองค์

วงการแพทย์กังวล หลัง โอมิครอน BA.4- BA.5 แพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1
https://www.nationtv.tv/news/378877409
 
 
อีกหนึ่งความกังวลใจของวงการแพทย์ทั่วโลก หลังโควิดโอมิครอน BA.4-BA.5 ลุกลามหนักขึ้น ผลวิจัยชี้เชื้อรุนแรงทำปอดอักเสบ ขณะที่แพทย์ย้ำเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังตนเองให้มาก

ชวนคอข่าวเกาะติดความคืบหน้าประเด็นร้อน โควิดโอมิครอน BA.4-BA.5 ลุกลามหนักทางด้าน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคระบาดไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่คาดการณ์กันว่า มีการแพร่ระบาดได้ดีและเร็วกว่า BA.2.12.1 ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ทั่วโลกพากันกังวลในประเด็นนี้

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 โดยมีรายละเอียดดังนี้

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว  
 
ส่วนหนามของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ (life-threating) 
     
BA.4 และ BA.5 ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษเกิดความตื่นตระหนกเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสืบเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วันระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการพบปะสังสรรค์ใกล้ชิดโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน นำมาสู่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 ในสัปดาห์ถัดมา
     
ในทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
 
จับตาข้อมูลการกลายพันธุ์
 
การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง “452” อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” ที่ WHO ให้เฝ้าระวังมีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility) อีกทั้งอาจจะมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์ (ปอด) จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (fusogenicity หรือ multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ระบาดในอดีต

จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452” จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)” เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)” หรือ "กลูตามีน (Q)” ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) 
     
ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ ให้สุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับและทำลายด้วย “แอนติบอดี” ที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว (infected multinucleated syncytial pneumocytes) จะกลายเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น เกิดการอักเสบ และบางรายลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยรุนแรง
 
สายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น “R452” ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes) 
 
ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์บริเวณดังกล่าว กรดอะมิโนยังคงเป็น “L452” ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ
 
แต่ที่น่ากังวลคือทั้งโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.4” และ “BA.5” ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 ส่วนสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น “Q452” กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ “เดลตา” อันอาจก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)
 
ส่วนโปรตีนหนาม (Spike protein) ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.2 จะมีความเหมือนกับสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 มากกว่า สายพันธุ์ย่อย BA.1 ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 น่าจะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย  BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 ได้มากกว่าจากการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1 โดยทั้งในประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาแม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อย  BA.1 ตามมาด้วยสายพันธุ์ย่อย   BA.2 อย่างยาวนาน แต่กระนั้นสายพันธุ์ย่อย   BA.4 และ BA.5 ยังสามารถระบาดได้ในแอฟริกาใต้ และสายพันธุ์ย่อย   BA.2.12.1 ก็สามารถระบาดได้ในสหรัฐอเมริกา อันแสดงว่าการกลายพันธุ์บนสายจีโนมของสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” ณ ตำแหน่ง “452” น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการแพร่ระบาด
     
ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม โดย WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการกลานพันธุ์ ณ. ตำแหน่ง 452 เหมือนสายพันธุ์เดลตา คาดว่าจะทราบผลอาการทางคลินิกจากผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใน 2-4 สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม
 
จึงควรฉีดวัคซีน หากยังไม่ได้ฉีดและฉีดเข็มกระตุ้น เมื่อครบกำหนด เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำหากมีการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 เข้ามาในประเทศไทย เพราะภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือจากวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ฉีดนานกว่า 4 เดือนอาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องเรามากจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ลดลง 
 
รายงานข่าวล่าสุดในวันนี้ 22 มิถุนายน 2565 โฆษกรัฐบาล เผย นายกรัฐมนตรี สั่งกระทรวงสาธารณสุข สกัด "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5" ที่พบในยุโรป หลังไทยยกเลิกลงทะเบียน Thailand Pass ชาวต่างชาติ
 
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าสังเกตสถานการณ์โควิด-19 ในยุโรป
 
โดยขอให้วางแผนรับมือล่วงหน้าในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังไทยจะมีประกาศยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass ของคนต่างชาติ หลังจากมีการพบไวรัสโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เพิ่มขึ้นในยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน
 
ซึ่งจากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก “GISAID” ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ไปแล้วจำนวน 23, 26, และ 18 ราย ซึ่งยังเป็นจำนวนที่ไม่น่ากังวล อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้
 
โดยสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอยู่ในระดับทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้น เชื่อมั่นว่าถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ปฏิบัติตามมาตรการของทางสาธารณสุข เพื่อสร้างให้ไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งสำหรับคนไทยและชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยด้วย
 
วงการแพทย์เผยพบ BA.5-BA.4 เพิ่มสูงขึ้นในยุโรป
 
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID มีรายงานในประเทศแถบยุโรปและแอฟริกาใต้พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น โดย BA.5 พบการกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นมากที่สุดประมาณเกือบ 90 ตำแหน่ง ส่วน BA.4 พบการกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 80 ตำแหน่ง ซึ่งการกลายพันธุ์มากขึ้นก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและอาจแพร่ไปทั่วโลกได้ในอนาคต แต่อาการจะรุนแรงมากหรือไม่ ต้องติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในรพ.ว่ามีอาการรุนแรงแค่ไหน
กังวลการติดเชื้อทำให้เกิดปอดอักเสบ
 
ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า แต่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสที่เข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่า 80% รองลงมาคือ แอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ตามมาด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม สเปน อิตาลี เดนมาร์ก ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบยุโรปเกือบทั้งหมดที่เริ่มเห็นสัญญาณผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ารพ.เพิ่มขึ้น
     
“สิ่งที่น่ากังวลคือ ผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า BA.4 และ BA.5 เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1และ BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่ปอด” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว



พ่อค้าแม่ค้าลั่น เตามหาเศรษฐี ไม่ได้ช่วยอะไร ของขึ้นราคาทุกอย่าง แพงเหมือนเดิม
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7122762
 
พ่อค้าแม่ค้าลั่น เตามหาเศรษฐี ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะของขึ้นราคาทุกอย่าง แพงเหมือนเดิม วอนรัฐช่วยหันมามองประชาชนนิดนึง
 
จากกรณีกระทรวงพลังงานชวนคนไทยลดใช้พลังงานด้วย เตามหาเศรษฐี หรือเตาซุปเปอร์อั้งโล่ ที่สามารถประหยัดไม้ ฟืนและถ่านที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ถึง 500-600 บาท/ครัวเรือน/ปี และช่วยลดการใช้แก๊ส LPG ในครัวเรือน จากนั้นจึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากว่า ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ดีเท่าไหร่นัก ตามที่ข่าวนำเสนอไปแล้วนั้น
 
ล่าสุดวันที่ 22 มิ.ย. 65 คุณนุ่น เจ้าของร้าน 304 center ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า เตาอั้งโล่ขึ้นราคามาจากปีที่แล้ว 5 บาท ส่วนยอดขายเตาอั้งโล่ในปัจจุบันก็จะขายดีในช่วงของเทศกาล ส่วนวันปกติก็จะขายได้เรื่อย ๆ แต่ยอดขายดีกว่าแต่ก่อน และอีกหนึ่งปัจจัยในเรื่องของถ่านก็ถีบราคาขึ้นเช่นกัน ตนคิดว่าไม่สมควรที่จะขึ้นราคา เพราะชาวบ้านได้รับผลกระทบ และที่ร้านเวลาลูกค้ามาซื้อสินค้าก็มักจะบ่นกันว่าราคาที่ขึ้นสูงจากปกติ ซึ่งก็พยายามที่จะขายเท่าทุนได้กำไรเพียงนิดหน่อยเพื่อช่วยลูกค้า แต่สินค้าบางตัวก็ต้องยอมโดนบ่นเพราะต้นทุนสูงขึ้น
 
ด้าน นางสาวดวงใจ เจ้าของร้านลูกชิ้น ที่ใช้เตาอั้งโล่ในการประกอบอาชีพค้าขาย กล่าวว่า จากผลกระทบที่วัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นแก๊สหรือถ่านที่ขึ้นราคา ที่ร้านของตนได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะกำไรที่เกิดจากการขายของหากวัตถุดิบขึ้นราคาก็ต้องได้กำไรน้อยลง ส่วนเตาอั้งโล่ที่ซื้อมาเมื่อปีก่อนในราคา 150 บาทเป็นเตาขนาดใหญ่เบอร์1 แต่ที่ไปสอบถามราคามาล่าสุด ราคาอยู่ที่ 180 บาท
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่