“บีอีซี สตูดิโอ” อาวุธใหม่ “บีอีซี เวิลด์” ลงทุนโรงถ่าย-บุคลากร ปั้น “ซีรีส์” ส่งออกเทียบชั้นเกาหลี

“บีอีซี สตูดิโอ” อาวุธใหม่ “บีอีซี เวิลด์” ลงทุนโรงถ่าย-บุคลากร ปั้น “ซีรีส์” ส่งออกเทียบชั้นเกาหลี



เอาจริงแบบจัดเต็ม! “บีอีซี เวิลด์” เปิดบริษัทย่อย “บีอีซี สตูดิโอ” ลุยงานผลิต “ซีรีส์” เพื่อส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะ ลงทุนสร้างสตูดิโอหนองแขมเฟสแรก 400 ล้านบาท ปั้นบุคลากรทั้งเขียนบท-โปรดักชัน-ซีจี เพื่อยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ให้เป็นสากล ดึงตัว “อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง” จาก True CJ Creations คุมทัพ ส่งต่อองค์ความรู้การผลิตซีรีส์จากเกาหลี

สภาวะ “ดิสรัปต์ชัน” ในวงการโทรทัศน์ ทำให้ “บีอีซี เวิลด์” พึ่งพิงเฉพาะรายได้จาก “ช่อง 3” ไม่ได้อีกต่อไป จึงมีการวางกลยุทธ์ ‘New S-curve’ สร้างธุรกิจ “ผลิตคอนเทนต์” ไม่ใช่แค่ป้อนให้กับช่อง 3 แต่เพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศซึ่งมีโอกาสกว้างกว่า แต่ก็ต้องแข่งขันสูง และต้องยกระดับคอนเทนต์ให้เป็นสากล

“อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง” กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด เปิดเผยว่า จากกลยุทธ์ของบีอีซี เวิลด์ทำให้บริษัทย่อยแห่งใหม่นี้จะเป็นหัวหอกในการสร้างคอนเทนต์ป้อนตลาดต่างประเทศ โดยบริษัทมีการศึกษาตัวอย่างจาก “เกาหลีใต้” ซึ่งสามารถพัฒนาซีรีส์ให้เป็นสากลจนเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย เพื่อนำมาเปรียบเทียบอุดช่องโหว่ในไทย

“อภิชาติ์ หงส์หิรัญเรือง” กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจ บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด

ข้อสรุปที่อภิชาติ์พบว่าเป็น “จุดที่ต้องพัฒนา” ของละครหรือซีรีส์ไทยหากอยากไปตลาดโลก มีทั้งหมด 3 ข้อ คือ

1.บทละคร ต้องยกระดับให้เป็นสากลในด้านวิธีการเล่าเรื่อง และการพัฒนาตัวละครให้ลึกขึ้น ในขณะที่ยังคงรสชาติของวัฒนธรรมไว้ได้

2.โปรดักชันการผลิต ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญมาก โดยการผลิตซีรีส์ของเกาหลีเรื่องหนึ่งใช้เวลาเพียง 4 เดือนถ่ายเสร็จ ขณะที่ไทยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 เดือน

ข้อแตกต่างคือ เกาหลีมีการสร้างสตูดิโอในร่ม ทำให้สามารถเซ็ตแสงกลางวัน-กลางคืนได้ ควบคุมเวลาได้ ซีนถ่ายทำส่วนใหญ่อยู่ในสตูดิโอเดียว ไม่ต้องเคลื่อนย้ายมาก ขณะที่ไทยมักจะใช้สถานที่ถ่ายทำนอกสตูดิโอ ซึ่งทำให้การควบคุมแสงทำได้ลำบาก การถ่ายทำไม่ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เกาหลีจะมีการถ่ายทำ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ไทยมีวิธีทำงานแบบถ่ายทำควบ 2 กองถ่ายแต่ใช้คนกองชุดเดียวกัน ทำให้แต่ละกองจะได้คิวถ่าย 3-4 วันต่อสัปดาห์ จึงใช้เวลานานต่อหนึ่งเรื่อง

นอกจากนี้ เกาหลีจะมีการถ่ายทำ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ไทยมีวิธีทำงานแบบถ่ายทำควบ 2 กองถ่ายแต่ใช้คนกองชุดเดียวกัน ทำให้แต่ละกองจะได้คิวถ่าย 3-4 วันต่อสัปดาห์ จึงใช้เวลานานต่อหนึ่งเรื่อง


ตัวอย่างภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ Squid Game ในโรงถ่าย โดยใช้สกรีนช่วยเพื่อทำซีจีในภายหลัง (Photo: YouTube@Still Watching Netflix)

3.นักแสดง ต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพการแสดงที่ยกระดับมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มองว่าข้อดีของนักแสดงไทยนั้นมีบุคลิก รูปร่างหน้าตาที่เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ


ลงทุน 400 ล้านเนรมิตสตูดิโอหนองแขม

อภิชาติ์กล่าวต่อว่า บีอีซี สตูดิโอ จึงมีการลงทุนเพื่อตอบโจทย์ทุกอย่างเหล่านี้ทั้งทางกายภาพและบุคลากร แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1.Studio
บริษัทเตรียมงบลงทุน 400 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างสตูดิโอ “CH3 Sound Stage Studio” เฟสแรก ในพื้นที่โรงถ่ายหนองแขมซึ่งมีที่ดินรวม 72 ไร่ (ที่ดินของตระกูลมาลีนนท์)

ที่ดินนี้เดิมมีการสร้างเซ็ตติ้งประเภท Backlot ไว้อยู่แล้ว เป็นฉากถ่ายทำแบบกลางแจ้งสำหรับละครประเภทพีเรียด แต่การสร้างสตูดิโอแบบ Sound Stage จะเป็นแบบในร่ม ใช้ถ่ายทำซีนภายในอาคารต่างๆ สามารถจัดแสงได้ง่าย และถ่ายทำแบบ Green Screen ได้ โดยเฟสแรกจะมีทั้งหมด 6 สตูดิโอ แบ่งเป็นขนาด 2,000 ตร.ม. 2 สตูดิโอ, 1,500 ตร.ม. 2 สตูดิโอ และ 800 ตร.ม. 2 สตูดิโอ


ภาพจำลองสตูดิโอแบบ Sound Stage ที่จะก่อสร้างขึ้น


สตูดิโอแบบ Backlot ใช้ในการถ่ายทำละครพีเรียด


2.Creative

กรณีนี้บีอีซี สตูดิโอต้องการจะยกระดับนักเขียนบทในไทยให้พัฒนาบทได้เป็นสากล จึงเปิดโปรเจ็กต์ Workshop การเขียนบท โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 12 แห่งของไทย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเป็นวิทยากรอบรม

รอบแรกเดือนเมษายน 2565 มีการรับสมัครและจัด Workshop ไปแล้ว 35 คน (คัดเลือกจากใบสมัครกว่า 600 คน) และหลังจากนี้จะมีการเปิดรอบต่อๆ ไป

3.Production
บีอีซี สตูดิโอมีการว่าจ้างทีมงานผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่เป็น in-house ทำให้สามารถวางแผนการพัฒนาการถ่ายทำได้คล่องตัว

4.Post-production
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ไทยแตกต่างจากสากล คือการทำ “ซีจี” (Computer Graphic) หลังการถ่ายทำที่ต้อง ‘เนียน’ ให้มากขึ้น ซึ่งบริษัทจะมีการนำเข้าเทคโนโลยี และติดต่อผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเทรนนิ่งให้กับบุคลากรทีมซีจีของบีอีซี สตูดิโอ

นอกจากนี้ จะมีการใช้เทคโนโลยี Virtual Production เข้ามาถ่ายทำด้วย โดยเทคโนโลยีนี้เป็นการใช้กำแพง LED ฉายภาพฉากเสมือนจริงขึ้นมาระหว่างถ่ายทำ ไม่ต้องรอใส่ฉากเข้าไปใน Green Screen ภายหลัง



ประเดิม 3 ซีรีส์แรก เริ่มเปิดกล้องปีนี้

ด้านโมเดลธุรกิจของบีอีซี สตูดิโอ ดังที่กล่าวว่าเป็นการผลิตเพื่อเจาะตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะ บริษัทจะมีทั้งการผลิตแบบ Original Series ด้วยทีมงานของบีอีซีเอง และติดต่อขายให้กับ OTT และช่องโทรทัศน์ในประเทศต่างๆ โดยซีรีส์กลุ่มนี้จะลงฉายในช่อง 3 และดิจิทัลแพลตฟอร์ม 3Plus ด้วย รวมถึงบริษัทยังมีการผลิตแบบ Co-Production กับสตูดิโอหรือช่อง OTT ต่างประเทศด้วย ขณะนี้มีดีลที่กำลังเจรจาและจะประกาศได้เร็วๆ นี้

อภิชาติ์กล่าวถึงตลาดศักยภาพของไทย แน่นอนว่าอันดับ 1 คือ “จีน” ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด รองๆ ลงมา เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ทวีปอเมริกาใต้


ซีรีส์ที่เริ่มการถ่ายทำในปี 2565 ของ บีอีซี สตูดิโอ

โดยปี 2565 นี้มีซีรีส์พร้อมเปิดกล้องถ่ายทำแล้ว 3 เรื่อง จะเริ่มเปิดกล้องครบในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ได้แก่

• มือปราบกระทะรั่ว – ซีรีส์แนว Action Comedy กำกับโดย ฉิก-สกล เตียเจริญ นำแสดงโดย เต๋อ-ฉันทวิชช์ และ เต้ย-จรินทร์พร

• เกมโกงเกมส์ – ซีรีส์แนว Crime & Suspense กำกับโดย โต้ง-ตรัยยุทธ กิ่งภากรณ์ นำแสดงโดย กระทิง-ขุนณรงค์ และ เก้า-สุภัสสรา

• ร้อยเล่ม เกมส์ออฟฟิศ – ซีรีส์แนว Drama กำกับโดย เอ-นัฐพงศ์ วงษ์กวีไพโรจน์ นำแสดงโดย มิ้นต์-ชาลิดา และ นนกุล ชานน

ถือเป็นการประเดิมปีแรกของบีอีซี สตูดิโอ แต่จริงๆ แล้ว อภิชาติ์มองว่าบริษัทสามารถรับกำลังผลิตได้ถึง 10 เรื่องต่อปี

ไทยคือ “ดาวรุ่ง” ดวงใหม่ แต่ต้องใช้เวลาพัฒนา “คน”

แม่ทัพของบีอีซี สตูดิโอนั้นเคยเป็นกรรมการผู้จัดการ True CJ Creations มาก่อน ทำให้ได้องค์ความรู้และอินไซต์จากฝั่งเกาหลีผ่าน CJ Entertainment มาไม่น้อย และมุมมองจากฝั่งเกาหลีเชื่อว่าคอนเทนต์บันเทิงไทยนั้นมีโอกาส

“ถ้าจะมีประเทศไหนในเอเชียที่จะเป็น ‘ดาวรุ่งดวงใหม่’ ต่อจากเกาหลีใต้ได้ ก็ต้องเป็นประเทศไทย เพราะเรามีองค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่ไม่แพ้ใคร อย่างอาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก เรามีดาราที่หน้าตาดี บุคลิกดี เป็นที่ยอมรับ และประเทศเรามียุทธศาสตร์ที่เป็นมิตรกับหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มองเชิงบวกกับเราทั้งหมด” อภิชาติ์กล่าว

“สิ่งที่สำคัญวันนี้คือบุคลากรซึ่งต้องใช้เวลาพัฒนา เป็นเรื่องที่ใช้เงินทุ่มขึ้นมาทันทีไม่ได้”

อภิชาติ์มองเป้าหมายสูงสุดขององค์กรว่า บริษัทต้องการจะยกระดับการผลิตคอนเทนต์ให้ทัดเทียมต่างประเทศ และตั้งเป้าว่าภายในปี 2567 คนไทยจะได้เห็นซีรีส์ไทยจากบีอีซีที่มีคุณภาพสากลอย่างแน่นอน

https://positioningmag.com/1389092
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่