ชีวิตแสนสั้น...อย่าติดกับ "ทฤษฎี/ปริยัติ" นาน--จนแก่เฒ่าโรยรา

อายุ 50-60 ปีแล้ว...ไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สเรียนอภิธรรม

อายุ 50-60 ปีแล้ว...ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเอานักธรรมเอก, เอาเปรียญ 4-5-6-7-8-9

อายุ 50-60 ปีแล้ว...ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเอาปริญญาตรี-โท-เอก

***************

คุณว่า คนที่อายุ 50-60 ปีแล้ว...ควรศึกษาหาความรู้ ภาค "ทฤษฎี/ปริยัติ" อะไรบ้าง...ที่พอจะเป็นพื้นฐานให้ประพฤติปฏิบัติได้ถูก ได้ตรง...ที่พอจะเป็นพื้นฐานให้บรรลุธรรมขึ้นสูงได้?

...ที่ไม่เยอะเกิน
...ที่ไม่ติดหล่ม ติดกับดักความรู้ภาคทฤษฎี/ปริยัติ

* เอาแบบพอดี ๆ คือ คนที่มีอายุ 50-60-70 ปีแล้ว...ควรศึกษาหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอะไร?

...ควรมุ่งทำอะไร?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 12
เราขอแบ่งปันประสบการณ์และความเห็นของเรานะคะ  เกี่ยวกับพ่อแม่เราค่ะ^^

จริงๆ แล้ว  ครูบาอาจารย์ที่เน้นไปทางสายปฏิบัติ เน้นไปที่การฝึกภาวนา
หรือจะเรียกว่า เน้นไปทาง "วิปัสสนาธุระ"  
อาจารย์ทุกท่านไม่เคยปฏิเสธ "ปริยัติ"   ...ไม่ได้บอกว่า ปริยัติ นั้นไม่สำคัญ
อาจารย์หลายท่านที่มาเจริญในการฝึกภาวนา  ก็เคยผ่านการศึกษาปริยัติมาอย่างยิ่งยวด

เพราะฉะนั้น ต้องขอย้ำว่า ไม่มีใครที่เจริญในธรรมหรือใฝ่ธรรมอย่างถูกทาง  แล้วจะปฏิเสธปริยัติ
หรือบอกว่า ปริยัติเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์


แต่ที่ครูบาอาจารย์หลายท่าน เตือนไว้คล้ายๆ กัน คือ
การศึกษาปริยัติ  ก็ต้องหาความพอดีค่ะ

เพราะคนปกติทั่วไป พอรู้ตำรา รู้หลักการ รู้ปริยัติมากๆๆๆ
มันก็จะหนีไม่พ้น ที่จะยึดติดยึดมั่นในตัวหนังสือมากไป
หลงใหล หลงจมในหลักการ เพลิดเพลินในการตีความตำรา วิเคราะห์หลักการโน่นนี่
แล้วหลงคิดว่าตัวเอง "เข้าใจธรรม"  เพราะรู้หลักการละเอียดยิบ แจกแจงได้หมด  
...ซึ่งมีคนติดยึดในตำราแบบนี้ไม่น้อยค่ะ  

ครูอาจารย์หลายท่านซึ่งเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว เห็นโทษของการยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้  
ท่านจึงเตือนว่า หากยึดมั่นในตำรามากไป  ใจมันจะหลงจมในภาคทฤษฎี  
แล้วการใส่ใจที่จะลงมือฝึกภาคปฏิบัติมันจะน้อยลง

ยิ่งรู้ตำราเยอะ  ยิ่งยึดมั่นในตัวหนังสือ หลงใหลในความรู้ที่ตัวเองมี จนลืมไปว่า  
ที่เค้าเขียนไว้ในหนังสือ...เค้าให้ไว้เป็นแนวทางเพื่อให้ไปลงมือปฏิบัติมากๆ
ไม่ใช่ให้ไปจมกับตัวหนังสือ!!  มัวแต่คิดวิเคราะห์ ตีความมากไป

เปรียบเหมือน มีแผนที่อยู่ในมือ  แผนที่เค้าเอาไว้ให้ศึกษาเป็นแนวทาง  
แล้วให้ลงมือออกเดินเพื่อไปสู่เป้าหมาย
ไม่ใช่ไปหลงจม หลงใหล ยึดมั่นในแผนที่มากไป  ชื่นชมความงดงามของแผนที่
แต่ไม่ค่อยได้ออกเดินไปพบสถานที่จริงๆ  มัวแต่วิเคราะห์แผนที่มากเกินไป
มันก็ไม่ค่อยได้เดินหน้าสู่เป้าหมาย  ไม่ได้ออกไปเผชิญโลก  ไม่ได้ออกไปเผชิญสภาวธรรมที่แท้จริง
มัวแต่ติดจมกับลายเส้น ภาพต่างๆ คำบรรยายต่างๆ ในแผนที่

หรือครูอาจารย์บางท่าน  เปรียบว่า เหมือนคนป่วยเป็นโรค  
แล้วมัวแต่อ่านสลากยา อ่านตำรายา  แต่ไม่ลงมือกินยาซะที
มันก็ไม่มีทางหายโรคได้อย่างแท้จริงค่ะ

หรือ เปรียบว่า อยากรู้จักเกลือ อยากรู้รสชาติเกลือ  
แต่มัวไปอ่านหนังสือที่เค้าอธิบายเรื่องเกลือ
คิดวิเคราะห์ตัวหนังสือที่เค้าบรรยาย
แต่ไม่เอาเวลาไปออกค้นหาว่า จะทำยังไง ถึงจะได้พบเกลือ แล้วได้ชิมเกลือจริงๆ

เรื่องพวกนี้ มันเป็นความหลงแบบนึงค่ะ จะเรียกว่าเป็นอัตตา เป็นมานะ เป็นกิเลส ฯลฯ
คนเรา พอมีอะไรเยอะ ก็หลงใหลในสิ่งนั้น  ยึดมั่นในสิ่งนั้น
มีทรัพย์สิน มีชื่อเสียง เยอะ   ก็ยึดมั่น หลงใหลในสิ่งนั้น
มีความรู้ ความจำ เยอะ  ก็ยึดมั่น หลงใหลเช่นกัน
แล้วก็หมดเวลาในชีวิต  ไปกับสิ่งที่เราหลงใหลนั่นแหละค่ะ

--------------------

แต่ถ้าจะมองในแง่ที่ว่า  หลงใหลในตำรา ในปริยัติ
ก็ยังดีกว่าหลงใหลในการเสพสิ่งบันเทิงอื่นๆ ทางโลก
...อันนี้ ก็จริงค่ะ

คือบางคนอาจมองว่า  จะบรรลุนิพพานในชาตินี้เลย ก็อาจจะไม่ใช่ง่ายๆ
เพราะฉะนั้น เอาใจผูกไว้กับพระธรรม กับปริยัติ ก็ยังดี
อย่างน้อยชาติต่อๆ ไป  ก็น่าจะได้เกิดมาใฝ่ธรรมอีก
ซึ่งความคิดนี้ เป็นความคิดของพ่อแม่เราค่ะ


ซึ่งเราก็เข้าใจพวกเค้านะคะ  คือ  แต่ก่อนพ่อแม่ดูทีวี ฟังเพลง  
เสพสิ่งบันเทิงทั่วไป   พออายุมาก  ก็ลดสิ่งบันเทิงทางโลก
แล้วหันมาสนใจธรรม  ถึงแม้จะฟังธรรมทั่วไป  สนใจปริยัติ
แต่ไม่สนใจปฏิบัติ  .... เราก็อนุโลมว่า ก็ยังดีกว่าเสพแต่สิ่งบันเทิงทางโลก

แต่เราเป็นลูก  เราก็หาวิธีที่จะค่อยๆ ชักจูงใจพ่อแม่
ให้เริ่มมาสนใจการลงมือปฏิบัติธรรม  การฝึกภาวนา  
โดยต้องค่อยๆ พูดคุยกัน   ค่อยๆ เรียนรู้กันไปค่ะ^^

------------------------------

แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ  ที่แม่จำได้เกี่ยวกับพุทธ  มีไม่กี่เรื่อง
เรื่องนึง ก็คือ  คำสอนที่ว่า "ละเว้นความชั่ว  ทำความดี  ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หรือผ่องแผ้ว ผ่องใส"

แม่บอกว่า ไอ้เรื่องละเว้นความชั่ว ทำความดี   เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยากค่ะ
แต่ ไอ้การ "ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ผ่องใส" เนี่ย... มันต้องทำกันยังไง???

เราว่า นี่คือ ปัญหานึงของการสื่อสารด้วยภาษาค่ะ เป็นเรื่องปกติของโลกมนุษย์  
เพราะจะมีคนที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ....ก็ต้องไปอธิบายลงรายละเอียด
ซึ่งก็น่าเห็นใจค่ะ  เพราะตัวเราเอง ก่อนหน้านี้เราก็ไม่เข้าใจค่ะ
ว่า ไอ้การทำจิตใจให้บริสุทธิ์เนี่ย  มันทำกันยังไง

ก็อยากให้ใจมันบริสุทธิ์ ผ่องใสนะ
แต่พอมีอะไรมากระทบ  ใจมันก็หงุดหงิด ขุ่นมัว โกรธ ฯลฯ
ไม่เคยมีใครมาอธิบายให้เข้าใจเลยว่า   การทำใจให้มันบริสุทธิ์ต้องทำยังไง?

สรุป ก็คือ  เราบอกแม่ว่า  การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ผ่องแผ้ว
มันต้องมีวิธีฝึก  ถ้าไม่ฝึก มันก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แม่ก็เลยสนใจว่า มันต้องฝึกยังไง  ไม่เคยมีใครสอนแม่

เราก็เลยลัดตรงเข้าสู่เรื่องการฝึกปฏิบัติธรรม หรือฝึกภาวนา นี่แหละ
ที่แม่ต้องฝึก เพื่อจิตใจจะได้ผ่องใส   โดยฝึกตามหลักสติปัฏฐาน

โดยเราขอเล่าให้ลัดๆ ว่า  หลังจากนั้น  ก็ต้องให้แม่ลองฝึกเจริญสติตามหลักสติปัฏฐานดู
แม่บอกว่า  ถ้าอธิบายทฤษฎีมาก  แม่ไม่เข้าใจหรอก
จะให้ฝึกยังไง ก็บอกมา

เราก็เลยสอนแม่ฝึกเจริญสติ  ให้แม่ได้ลองฝึกแบบง่ายๆ  ทุกวัน
ฝึกแบบสบายๆ  ไม่เคร่งเครียด    นึกได้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ให้กลับมามีสติ รู้สึกตัวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่
และก็มีเทคนิคอื่นๆ  ที่ครูอาจารย์สอนไว้

พอฝึกไปเรื่อยๆ  แม่ก็จะเข้าใจมากขึ้นว่า  อ๋อ ฝึกสติ มันเป็นแบบนี้
มันต่างจากสวดมนต์ยังไง   มันต่างจากการนั่งสมาธิยังไง
... สรุปคือ  การสอนเด็ก หรือสอนผู้ใหญ่   การแนะนำให้เค้าลงมือทำบ่อยๆ เรื่อยๆ
จะทำให้พวกเขาเข้าใจได้ง่ายกว่าไปเน้นภาคทฤษฎีค่ะ

ฝึกภาวนา หรือฝึกสติปัฏฐาน  เป็นคำตอบสุดท้ายของเราค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่