ชุกฮวยฮึ้ง ประเพณีผ่านพ้นวัยเด็ก

บันทึก 12 มิย. 65
ใกล้เดือนเจ็ดของจีน ทำให้คิดถึงเด็กๆหนุ่มสาวกับประเพณีชุกฮวยฮึ้ง

ในวันนี้เด็กๆที่อยู่ในพิธีกรรมจะถือเป็นคนที่มีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ค่ะ ในพิธีพวกเค้าจะได้ใส่ชุดใหม่สีแดง 
ใส่เกี๊ยะสีแดงด้วย (จำเกี๊ยะไม้ได้มั้ยคะ ที่เดินทีเสียงดังไปสามบ้านแปดบ้าน แล้วทำไมต้องใส่เกี๊ยะในวันนี้ด้วย?
ประเพณี “ชุกฮวยฮึ้ง” หรือประเพณีเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น เตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า 
โดยจะมีขึ้นในวันที่ 7 เดือน 7 (ของจีน) ซึ่งปีนี้จะน่าจะตรงกับวันที่ 4 สค. ถ้าแม่นันนับไม่ผิดนะคะ 
หลายๆคนเริ่มสงสัยกันแล้วใช่มั้ยคะ เอ๊ะ! แม่นันกำลังพูดถึงวันอะไรของเค้าเนี่ย ไม่เห็นเข้าใจเลย...
“แปลกที่อาอึ้ม (คุณแม่) ไม่เคยทำพิธีนี้ให้พวกเราเลย มีแต่อาแจ้นี่ล่ะที่ทำให้ลูกๆทั้ง 6 คน 
เพราะแจ้เห็นครอบครัวที่แจ้ไปอยู่ด้วยเค้าทำให้ลูกเค้า แจ้ก็เลยจำมาทำให้กับลูกตัวเอง” อาหยี่แจ้ (พี่สาวคนที่สอง) เล่าให้แม่นันฟัง
มาฟังความหมายของคำว่า “ชุกฮวยฮึ้ง” กันค่ะ เอาทีละคำนะคะ “ฉุก” (คำเดียว) แปลว่า ออก ส่วนคำว่า “ฮวยฮึ้ง” แปลว่า สวน ค่ะ 
พอนำสองคำมารวมกันก็จะออกเสียงว่า “ชุกฮวยฮึ้ง” แปลว่า ออกจากสวน (ออกจากสนามที่เคยวิ่งเล่นในวัยเยาว์) 
แล้วพ่อแม่ต้องทำพิธีนี้ให้ลูกในวัยไหนคะ? เมื่อลูกชายหรือลูกสาวอายุครบ 15 ขวบปี ก็จะทำพิธีกรรมนี้ให้ 
ถือวัยครบอายุ 15 เป็นวัยเปลี่ยนผ่าน จากวัยเด็กสู่วัยรุ่น จากที่เคยวิ่งเล่นซนเป็นเด็กตัวน้อยของพ่อแม่ 
ต้องเริ่มรับรู้ที่จะมีความรับผิดชอบในหน้าที่ต่อตนเอง เตรียมตัว เตรียมใจเป็นผุ้ใหญ่ที่มีคุณภาพในวันข้างหน้า 
ซึ่งในวันนี้ (บางครอบครัวเชื้อสายจีนในปัจจุบันก็ยังทำกันอยู่นะคะ) พ่อแม่ก็จะเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่สีแดงให้ลูก 
อาหารที่เตรียมก็มีไก่ทั้งตัว จะสับเรียบร้อยก็ได้แต่ต้องมีครบทุกส่วน จัดวางให้สวยงาม พร้อม ชาตือกัว 
หรือผัดตับหมูสักจาน 
ในสมัยโบราณจะใช้ขนมสีชมพูคู่ที่มีความหมายถึงชายหญิง 
คือขนม “เสียะหลิ่วก้วย” ที่มีรูปร่างคล้ายทับทิมแทนผู้ชาย และขนมซากั้กเล้า จีบให้มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม แทนผู้หญิง 
(ถ้าแม่นันออกเสียงชื่อขนมไม่ถูกขออภัยพร้อมขอท่านผู้รู้แนะนำด้วยนะคะ) นำไปกราบไหว้ขอบคุณ “พ่อซื้อ แม่ซื้อ” 
หรือที่คนจีนเรียก “กงหม่าพั้ว” เทพที่คอยปกปักรักษาเราตั้งแต่ยังตัวน้อยๆ ที่วัดเล่งเน่ยยี่ หรือชื่อไทยว่า วัดมังกรกมลาวาส 
และอีกแห่งหนึ่งแม่นันจำที่อาแจ้บอกไม่ได้ ซึ่งการพามาครั้งนี้จะเป็นการไหว้ขอบคุณครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ 
ว่าลูกชายลูกสาวคนนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาว พร้อมที่จะดูแลตัวเองได้แล้วนะ จะไม่รบกวน “กงหม่าพั้ว” อีกต่อไป

อาแจ้บอกว่าโบราณเค้าจะมีพิธีกรรมมากกว่านี้เยอะ ครอบครัวที่มีฐานะดีเค้าถึงกับสร้างสวนดอกไม้สวยงามในบริเวณบ้าน 
ไว้ให้ลูกวิ่งเล่นตั้งแต่ตัวน้อยๆ พอถึงวัย 15 ขวบปี ก็จะมีพิธีพาลูกออกจากสวน ประหนึ่งว่าถึงเวลาที่จะเลิกเล่นเป็นเด็กๆได้แล้วนะ
 เตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มีอิสระในตัวเอง ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว 

สมัยก่อนในวันนี้เด็กๆที่อยู่ในพิธีกรรมจะถือเป็นคนที่มีความสำคัญที่สุดก็ว่าได้ ในพิธีจะได้ใส่ชุดใหม่สีแดง 
ใส่เกี๊ยะสีแดงด้วย (จำเกี๊ยะไม้ได้มั้ยคะ รองเท้าไม้ที่ใส่แล้วเดินทีเสียงดังไปสามบ้านแปดบ้าน (ตอนเด็กๆแม่นันก็ใส่ค่ะ)
ทำไมต้องใส่เกี๊ยะในวันนี้ด้วย เพราะเกี๊ยะไม้จะสูงกว่ารองเท้าทั่วไป ประมาณว่าปรับตัวสูงขึ้น (ยกระดับตัวเอง ไม่ใช่เด็กๆแล้ว)
ได้อั่งเปาไว้เป็นเงินเริ่มต้นด้วย ได้ทานอาหารดีๆ ซึ่งอาหารแต่ละอย่างที่ให้ทานก็มีความหาย
เช่น ตือกัว, เต่ากัว ทานแล้วจะได้เป็น “กัว” (รับราชการตำแหน่งใหญ่โต) การกัดหัวไก่ หมายถึง ต่อไปจะได้เป็น “เจ้าคนนายคน”
และแม้กระทั่งการดื่มน้ำก็ต้องมีพิธี และมีความหมาย ในวันนี้เด็กๆสำคัญไม่แพ้วันออกเรือนเป็นเจ้าสาวเลยค่ะ

ดูคลิปนี้ประกอบแล้วจะเข้าใจมากยิ่งขึ้นเลยค่ะ 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แม่นันว่าประเพณีจีนสวยงามเต็มไปด้วยรายละเอียด และให้ข้อคิดดีด้วย 
ซึ่งประเพณีนี้แม่นันมองว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญและมองเห็นคุณค่าในตัวเด็ก ทำให้เด็กเกิดความมั่นใจที่จะเผชิญโลกต่อไป
...ใครเคยผ่านพิธีนี้มาบ้างคะ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่