JJNY : พท.อัด 8ปี"ตู่"แก้จนล้มเหลว│‘ก้าวไกล’ห่วงจัดสรรงบฯ│โรงแรม(ยัง) เหนื่อย│ชี้รบ.ทหารเมียนมาไม่มีทางล้มฝ่ายต่อต้านได้

พท. อัด 8 ปี "บิ๊กตู่" แก้จนล้มเหลว "คนจน" พุ่ง 20 ล้าน แนะ 2 แนวทางแก้
https://siamrath.co.th/n/355956
  
 
วันที่ 12 มิ.ย.65 น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แก้ไขปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 8 ปี เหตุใดยิ่งแก้ยิ่งจน บัตรคนจนเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ทะยานสู่ 20 ล้านคนแล้วในปีนี้  นอกจากนี้ช่วงปลายปี 2563 ยังได้ตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน (คจพ.) อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแผนแก้จนของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศจะเริ่มดำเนินการในเดือนก.ปี 2565  จะสำเร็จหรือไม่   

โฆษกพรรคเพื่อไทย  กล่าวต่อว่า หากจะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องยึดหลักเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส พุ่งเป้าไปที่คนไทย 2 กลุ่ม คือ เกษตรกร และประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ โดยเริ่มที่ 
 
1.กลุ่มเกษตรกร พรรคเพื่อไทยยึดหลัก พลิกวิกฤต เป็นโอกาส รดน้ำที่ราก  โดยต้องส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีตลาดอาหารส่งออก ใหญ่มหาศาล เช่น เนื้อวัว ควาย ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ  อีกทั้งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกรทั่วทุกภาคอยู่แล้ว  ดังนั้นจึงควรเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมบนผืนดินเดิม โดยพลิกเปลี่ยนจากวิถีเดิมๆ ตามความเคยชิน เช่น บนผืนดินที่เคยปลูกข้าวปีละ 2-3 รอบ เปลี่ยนเป็นปลูกข้าวโพดหลังนา  หรือถั่วหลังนา  เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น  ชดเชยการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมปีละเกือบ 10 ล้านตัน และราคาปุ๋ยกำลังพุ่งสูงกว่า 3 เท่า เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ทั้งหมดจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการเพิ่มรายได้ 
 
2.กลุ่มประชาชน  ราคาน้ำมันที่เป็นต้นเหตุต่อค่าครองชีพสูง เพราะต้นทุนค่าขนส่งเกี่ยวข้องกับการผลิตและการดำรงชีวิตทั้งหมด ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบยังพุ่งทะยานไม่หยุด  ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันบิดเบี้ยว  มีทั้งน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น จากในช่วงเดือนม.ค. 2565 อยู่ที่ 1.35 บาท/ลิตร  พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.82 บาท/ลิตร ในเดือนพ.ค. ตามที่สหพันธ์ขนส่งทางบกได้เคยให้ข้อมูล  นอกจากนี้ยังมีภาษีสรรพสามิต ภาษี VAT และเงินเข้ากองทุน  ดังนั้นในภาวะนี้ รัฐต้องหามาตรการแก้ไขเร่งด่วน  โดยต้องทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันและลดค่าการกลั่น เพื่อลดภาระค่าพลังงานโดยเร็ว

"เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จะมีเงินใช้จ่ายทันที เพราะโดยหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น จะหมุนสร้างรายได้ของผู้ขายและผู้ผลิตสินค้า เพิ่มมูลค่ารวม 3 รอบหรือ 3 เท่า รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้น รายได้รัฐจะเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องกู้มากมายเหมือนที่พลเอกประยุทธ์กำลังทำ  ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำไม่ได้  เพื่อไทยจะทำให้ดู" น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว 


 
‘ก้าวไกล’ ห่วง การจัดสรรงบฯ หลัง รบ.เพิ่มผู้รับสิทธิเกือบ 50% ‘กองทุนประชารัฐสวัสดิการ’ แต่งบเพิ่มแค่ 18%
https://www.matichon.co.th/politics/news_3395906

‘ก้าวไกล’ ห่วง การจัดสรรงบฯ หลัง รบ.เพิ่มผู้รับสิทธิเกือบ 50% ‘กองทุนประชารัฐสวัสดิการ’ แต่งบเพิ่มแค่ 18%
 
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่พรรคก้าวไกล นายกรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงของกระทรวงการคลัง ครบทุกหน่วยงานแล้วและในสัปดาห์หน้าจะเป็นคิวของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
นายกรุณพล กล่าวว่า แต่ประเด็นที่ทางพรรคก้าวไกลมีข้อกังวลคือการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวกับกองทุนประชารัฐสวัสดิการ เนื่องจากพวกเราคิดว่าเป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะเป็นการจัดงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ แต่รัฐบาลกำลังจะขยายกองทุนประชารัฐสวัสดิการ เป็น 20 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ 13.36 ล้านคน นั่นหมายความว่าคนที่จะได้สวัสดิการจะมีเพิ่มมากขึ้นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่งบก้อนนี้เพิ่มขึ้นเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สัดส่วน การใช้งบคงไม่แปรผันกับจำนวนของกองทุนฯรัฐบาลจะขยาย จำนวนผู้รับสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลก็ไม่ได้มีแผนปรับรถสวัสดิการของผู้ที่ได้รับสวัสดิการนี้นั่นคือทุกคนยังคงได้รับสวัสดิการเท่าเดิมในงบประมาณที่น้อยลง รัฐบาลเองก็มีแผนที่จะรับลงทะเบียนใหม่ แต่การรับลงทะเบียนใหม่ ไม่ใช่การรับลงทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเองก็มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในการจัดการและลงทะเบียนรวมถึงการตรวจสอบสิทธิ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้รวมอยู่ในงบ 18 เปอร์เซ็นต์ ที่เพิ่มขึ้นด้วย
 
นายกรุณพล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่า งบประมาณไม่น่าจะพอ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตอบคำถามว่าจะนำงบกลางในเรื่องสวัสดิการ ของกองทุนนี้ซึ่งเรามองว่าหากรู้อยู่แล้วว่าเราต้องใช้งบเท่าไหร่ทำไมไม่จัดสรรงบให้เพียงพอ แต่เลือกที่จะใช้งบกลางซึ่งสามารถตรวจสอบได้ยากมาก หรือในบางงบก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ที่สำคัญคืองบกลางไปงบฉุกเฉินที่จะใช้สำหรับเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นงบที่จะต้องใช้เมื่อถึงยามจำเป็นจริงๆแต่รัฐบาลกับเลือกใช้ในการที่จะจ่ายให้กับงบกองทุนที่รู้ก่อนล่วงหน้าอยู่แล้ว
 
นายกรุณพล กล่าวว่า อีกเรื่องที่เรากังวลคือการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบความไม่ปกติของการใช้งบและสุ่มตรวจผู้ถือบัตรประชารัฐสวัสดิการ 596 คน จากทั้งหมด 13.36 ล้านคน และจำนวน 350 คน จากที่ สุ่มตรวจเป็นการใช้บัตรของผู้ที่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งคิดเป็น 58.72 เปอร์เซ็นต์ จากที่ได้มีการสุ่มตรวจ นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวผิดปกติในช่วงยามเวลาวิกาล ที่คนส่วนใหญ่พักผ่อนและไม่ได้ใช้ทุรกรรมทางการเงินมาก แต่กลายเป็นมีการชำระบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในร้านเดียวกันสูงถึง 789 ครั้ง ในร้านร้านเดียวและมีผู้สวมสิทธิ์ผู้เสียชีวิต นี่คือความไม่ปกติที่ทางพรรคก้าวไกลอยากชี้แจงให้ประชาชนทุกคนได้เห็น
 
นายกรุณพล กล่าวว่า ทั้งนี้กมธ.งบฯของพรรคก้าวไกล ได้พิจารณางบนี้แล้วและเชื่อว่า ยังมีปัญหาอยู่ พรรคก้าวไกล มองว่าการจัดสวัสดิการแบบทั่วหน้าจะตอบโจทย์กว่า เพราะการจัดสวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงแบบของรัฐ คือจะช่วยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่จะทำให้การตรวจสอบนั้นมีค่าใช้จ่ายเรื่องยากและที่สำคัญอาจเกิดการทุจริตสวมสิทธิ์อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่การ จัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะทำให้สิทธิ์ของประชาชนทุกคนได้รับสวัสดิการในสัดส่วนเท่ากันไม่ว่าจะเป็นคนจนคนยากลำบากหรือคนที่ไม่ได้มีโอกาสได้ลงทะเบียน ทุกคนก็จะได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมไม่ใช่การให้สวัสดิการเหมือนการสงเคราะห์ ในยุคที่มีการผันผวนและความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้ว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การให้สวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงอาจจะทำให้คนที่สมควรได้บางคนตกหล่น ฉะนั้นการให้สวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงจะทำให้มีค่าใช้จ่ายในด้านธุรการและการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ ซึ่งเราได้คิดคร่าวๆในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์อยู่ที่ 500 ล้านบาท
 
ทั้งนี้หากเราให้อย่างทั่วหน้าเราจะสามารถจัดการเงินเหล่านี้ มาเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ความคืบหน้าของการเรียกร้องให้มีการถ่ายทดสดการประชุมกมธ.งบฯ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม แต่ก็ยังคงมีการถกเถียงกันในกมธ.งบฯอย่างกว้างขวาง ทั้งกลัวที่จะถูกฟ้องร้อง และความลับของกมธ.งบฯ เผยแพร่สู่สาธารณะ พรรคก้าวไกลขอให้รัฐบาลปรับตัวเอง เพราะอีกไม่ถึง 10 เดือน ก็จะครบวาระแล้ว ผ่านมา 3 ปีกว่า ประชาชนเดือดร้อน ฝากความหวังและยังไม่ได้รับสิ่งนั้นตอบแทน เหลือเวลาอีก 10 เดือน ปฏิบัติตัวให้เป็นที่พึ่งของประชาชนและเป็นแบบอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่เลือกการจัดการธรรมาภิบาลที่ถูกต้องสักที
 
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองถึงบัตรสวัสดิการประชารัฐจะมีผลต่อคะแนนเสียงของรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นายกรุณพล กล่าวว่า คงจะมีผลต่อคะแนนเสียงบ้าง เนื่องจากมองได้หลายมุม เพราะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนในการแจกให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยคนใดคนก็ยังตราตรึงกับการขี้อยู่ๆก็มีเงินเข้าบัญชี หรือสามารถใช้บัตรของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้มันทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ง่ายและสามารถทำให้ไปหาเสียงล่วงหน้าได้เช่นกัน


  
โรงแรม (ยัง) เหนื่อย 74% รายได้ฟื้นไม่ถึงครึ่ง
https://www.prachachat.net/tourism/news-951469

จากมาตรการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศด้วยการยกเลิกกักตัวทุกรูปแบบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
 
จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนพฤษภาคม 2565 (Hotel Business Operator Sentiment Index) โดยสมาคมโรงแรมไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ทำการสำรวจจากผู้ประกอบการ 164 แห่ง ระหว่าง 11-25 พฤษภาคม 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักเดือนพฤษภาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 36% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเมษายนที่อยู่ในระดับ 35%
  
ในพื้นที่ภาคตะวันออกมีอัตราการเข้าพักสูงสุดที่ 43% และภาคกลาง 42.7 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ขณะที่อัตราการเข้าพักในโรงแรมภาคใต้อยู่ในระดับ 35.54% ลดลงตามการเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น (เมษายนมีอัตราการเข้าพัก 40.8%) ส่วนภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักต่ำสุดที่ 26.3%
ทั้งนี้ เป็นผลจากนโยบายเปิดประเทศแบบไม่กักตัว หรือยกเลิก Test & Go ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว ต่างชาติที่ทยอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลบวกโดยตรงต่อความเชื่อมั่นการเดินทางท่องเที่ยว
นอกจากนี้ การยกเลิกหรือการปรับระบบ Thailand Pass ให้มีความสะดวกขึ้น รวมถึงการขยายสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ทำให้ส่งผลดีต่ออัตราการเข้าพักมากกว่าที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ไว้
  
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทย สะท้อนจากโรงแรมเกือบ 50% ยังมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติน้อยกว่า 10% ใกล้เคียงเดือนก่อน แต่ก็เริ่มมีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นบ้าง โดยพบว่า โรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชีย รองลงมา คือ ยุโรปตะวันตก
  
ขณะเดียวกันยังพบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2565 โรงแรมส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้น แต่โดยรวมยังคงมีรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยโรงแรม 40% ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% และโรงแรม 74% ยังมีรายได้กลับมาไม่ถึง 50% ขณะที่โรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกิน 50% มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 26% เพิ่มจากเดือนเมษายนที่มีสัดส่วน 14%
 
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าต้นทุนในการเปิดดำเนินการที่สูง เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้าและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ
  
นอกจากนี้ โรงแรมกว่า 50% เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไทยที่มีทักษะ โดยในเดือนพฤษภาคมโรงแรมโดยรวมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ 68.2% ของการจ้างงานก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะทยอยเข้ามาหลังการเปิดประเทศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่