แชร์ประสบการณ์หางานสาย Tech ในออสเตรเลีย สิ่งที่ควร & ไม่ควรทำถ้าอยากได้งาน

ตอนที่ 1 อ่านได้ที่นี่นะคร้าบ
https://ppantip.com/topic/41441324

-----------------------------

เนื่องจากว่าใน Pantip ปิดไม่ให้แก้ไขชื่อกระทู้แล้ว ผมเลยแก้ชื่อกระทู้เก่าให้เป็นตอน 2 ไม่ได้ T_T ขออภัยในความไม่สะดวกด้วยนะครับ

มาต่อกันเลยดีกว่า

ตอนที่ 2 สัมภาษณ์งานจน...

ความเดิมตอนที่แล้ว สัมภาษณ์งานที่แรก แล้วก็โดน Reject เรียบร้อย (จริง ๆ สาระเยอะกว่านี้ ถ้าใครยังไม่ได้อ่าน แนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านครับ อันนี้แบบย่อมาก ๆ 555)


รูป - วิวที่เมลเบิร์น ชอบเมืองนี้ตรงที่มีสวนเขียว ๆ ให้เดินเล่น ได้พักสายตาบ้าง

หลังจากที่เฟลมากับการสัมภาษณ์งานที่แรก ก็รวบรวมพลังมาตามหางานต่อ เพราะถ้าไม่หางาน ถึงจะไม่อดตาย แต่ก็แอบรู้สึกเสียดายเวลา ถ้าจะต้องใช้ช่วง Graduate Visa 2 ปี ไปหางานครับ ยิ่งหางานได้ช้า วีซ่าก็จะยิ่งเหลือน้อย

นอกจากตำแหน่ง Data Scientist แล้ว ผมก็หางานด้านอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงอื่น ๆ ด้วย ซึ่งงาน Software Engineer ก็น่าสนใจ เพราะผมเขียนโปรแกรมได้บ้างอยู่แล้ว และเขียนโปรแกรมเว็บไซต์ได้ระดับหนึ่งก่อนจะมาเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ถึงแม้ความรู้เทคโนโลยีที่มี น่าจะใกล้หมดอายุแล้วก็ตาม เพราะไม่ได้อัพเดทเทรนด์มา 2+ ปี

—---------

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

งานสายเทคโนโลยีเป็นสายที่เปลี่ยนแปลงไว ถ้าเราหายไป 6 เดือน เทรนด์ทั่วโลกอาจจะไปใช้ระบบใหม่ ๆ ภาษาใหม่ ๆ เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากทำงานสายนี้สู้ ๆ ครับ

แต่ข้อดีแบบสุด ๆ ของสายเทคก็มี คือ ความรู้ที่เราเรียนมา ทำงานมาจากประเทศไทย ก็ไปใช้กับที่อื่นได้สบาย ๆ เพราะเทคโนโลยีเหมือนกัน (บางประเทศ ได้ยินว่าถ้าโค้ดเก่ง ภาษาบ้านเค้าไม่ต้องเก่ง บริษัทก็แย่งตัวกัน)
—---------

นอกจากด้าน Software Engineer แล้ว อีกด้านที่ผมสนใจสมัครงานในตอนนั้น คือ ด้าน Data Visualization (อธิบายแบบสั้น ๆ คือ การนำ Data เอามาพลอตให้เข้าใจง่าย และสวย) เพราะเป็น TA สอนวิชาด้านนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัย ความรู้ที่มี เช่น การใช้โปรแกรม Tableau น่าจะพอใช้สมัครงานอยู่บ้าง ซึ่งคิดตื้นเกินไปมากตอนนั้น 555

พอคิดได้แล้วว่าจะสมัครงานสายอื่นบ้าง ก็ใช้วิธีเดิม คือ ไล่ดูงานที่ประกาศหาในเมลเบิร์นบนเว็บไซต์ LinkedIn และ Seek

ต้องขอชมว่า LinkedIn ทำระบบมาค่อนข้างดี นอกจากจะเสิร์จงานตามสถานที่ได้แล้ว ก็มีระบบชื่อ Easy Apply ทำให้เราสามารถอัพโหลด Resume เข้าไปเก็บไว้ แล้วพอดูประกาศงานบน LinkedIn ชอบอันไหน ก็กดปุ่ม Easy Apply ระบบจะส่ง Resume ไปให้คนประกาศงานอัตโนมัติ (แต่ก็ Easy Apply ไม่ได้ทุกงานนะ)

ความแปลกใหม่ที่คนไทยน่าจะเจอกัน ตอนสมัครงานต่างประเทศ คือ บางงานที่ออสเตรเลีย จะขอ Cover Letter เหมือนเป็นจดหมายที่เราส่งให้คนจะจ้างงาน เพื่อบอกว่าเราทำอะไรได้บ้าง ทำไมถึงอยากสมัครองค์กรเค้า ทำให้ต้องมานั่งเขียน Cover Letter สำหรับแต่ละบริษัท

วิธีที่ใช้ เพื่อให้ Cover Letter แตกต่างสำหรับแต่ละบริษัท คือ เรามี Cover Letter ที่เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ตัวเองไว้ประมาณหนึ่งแล้ว เขียนโปรแกรมได้ ใช้ภาษาโปรแกรมมิ่งนู้นนี้ได้ แล้วก็จะมีย่อหน้าที่เขียนเกี่ยวกับบริษัท และ Industry ที่บริษัทนั้นทำ เราก็เขียนตรงนั้นใหม่สำหรับแต่ละบริษัท

—---------

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

CV / Resume (ถ้าเอาความหมายจริง ๆ CV กับ Resume ต่างกันนิดหน่อย แต่ในบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจขนาดนั้น อาจจะเรียกสลับกันไปมาด้วยซ้ำ) ใช้ส่งซ้ำได้ แต่ปรับนิดหน่อยตามงานที่สมัครก็จะดี เช่น ถ้าเราจะสมัครงาน Data Engineer แล้วไปเขียนใน Resume ว่าอยากทำด้าน Data Scientist มาตั้งแต่เกิด บริษัทก็คงจะงงว่าแล้วจะสมัครมาทำแมวน้ำอะไร

ส่วนเรื่องความยาว Resume ส่วนตัวคิดว่า 1-2 หน้ากำลังดี ยาวกว่านี้ Recruiter (คนรับสมัครงาน) อ่านไม่ไหว

ส่วน Cover Letter (ถ้าบริษัทไหนขอ) ไม่ควรส่งไปแบบเขียนกลาง ๆ เพราะเค้าจะดูออก ให้เขียนสำหรับบริษัทนั้นจริง ๆ จะดีกว่า ใช้วิธีที่แนะนำไปด้านบนก็ได้
—---------

ตอนที่ 2.1 สัมภาษณ์งานด้าน Software Engineer

สุดท้าย ก็มีบริษัททัก LinkedIn Message มาว่า สนใจให้เราลองทำการบ้าน

 
รูป: LinkedIn Message ที่เค้าติดต่อมา ตอนนั้นพอเห็นก็กรี๊ดกร๊าดมาก เพราะส่งไปเยอะแยะไม่เคยมีใครตอบ

ในที่สุดความพยายามก็เห็นผล หลังจากที่นั่ง Apply บริษัทใหม่ ๆ ทุกคืน ติดต่อกันเป็นอาทิตย์

การบ้านที่เค้าส่งมารอบนี้ เป็นการบ้านแบบ Software Engineer จ๋า ๆ เลย คือ ให้เขียนเว็บดึงข้อมูลจาก API มาแสดงผล การบ้านไม่ยาก แค่งมโค้ดนิดหน่อยเพราะเป็น Framework ใหม่ แต่เราก็อยากให้ตอนพรีเซ้นท์ว้าวมากขึ้น เลยพยายามใช้ความรู้การทำเว็บไซต์ + ความรู้ Data Visualization เอาข้อมูลมาพลอตให้อลังการมาก เรียกได้ว่าถ้าไม่อธิบายอาจจะอ่านพลอตไม่ออก

ให้ทิปเพิ่มเติมสำหรับตอนสมัครงาน คือ เค้าจะชอบคนที่ใส่ใจในบริษัทเค้า (น่าจะทุกบริษัทอยู่แล้ว) เช่น ตอนสมัครงานที่นี่ ผมบอกไปว่ารู้จักบริษัทเค้าจาก UX/UI Meetup หนึ่งที่ไปมาเมื่อปีที่แล้ว เลยทำให้สนใจ ซึ่งไปมาจริง ๆ นะงานนั้น (แต่เค้าไม่ได้ทำด้าน Data โดยตรง ตอนแรกเลยไม่ได้สมัคร)

ตัดมาที่ตอนสัมภาษณ์ รอบนี้ไม่เตรียม Slide Deck 50 หน้าแล้ว เรียนรู้จากครั้งก่อนมา เอาไปแต่คอมพิวเตอร์สำหรับ Demo ตัวการบ้าน

พอไปถึง เค้าก็พาชมบริษัท มีห้องสัมภาษณ์ User Research นะ อันนี้ออฟฟิสนะ ฯลฯ เสร็จแล้วก็เข้ามาห้องสัมภาษณ์ ตอนนั้นเค้ายังเป็น Startup มีคนสัมภาษณ์ประมาณ 3 คน (คุ้น ๆ ว่าในบริษัทมี 4-5 คน)

แต่เราไม่สั่นกลัวแล้ว เพราะผ่านการสัมภาษณ์ 5 คนมาแล้ว 555555TT5555555

ด้วยความที่เป็น Startup การสัมภาษณ์จะค่อนข้างชิลมาก เข้าไปถึงก็คุยคำถามทั่วไป เช่น เรียนอะไรมาบ้าง ทำอะไรมาบ้าง ก็เล่าไปปกติ จนมาถึงช่วงที่เปลี่ยนคนมาถาม ซึ่งอีก 2 คนในห้องเป็นโปรแกรมเมอร์ของบริษัท

เค้าก็ให้เปิดโค้ดการบ้านที่เราทำมา รอบนี้โชคดีหน่อย ได้พรีเซ้นท์งานที่ทำจริง ๆ นิดหน่อย เสร็จแล้วเค้าก็ยิงคำถามในโค้ดที่เขียนมาแบบรายบรรทัด

อันนี้โหดกว่าสัมภาษณ์รอบที่แล้วอีก ตอนสัมภาษณ์กับธนาคาร ยังไม่ถามโค้ดรายบรรทัด…

ดีว่าเขียนเองเลยตอบได้บ้าง แต่ด้วยความที่ไม่ได้ทำเว็บไซต์มานานมาก บางข้อก็ตอบไม่ได้ หรือมีช่วงนึงที่เค้าโยนโจทย์มา อยากให้ปรับโค้ดตอนสัมภาษณ์ตอนนั้นเลย ก็ทำไม่ค่อยได้ สร้างภาพ Software Engineer ที่ไม่น่ารับเข้าทำงานเลย 555+

จบการสัมภาษณ์แบบงง ๆ ไม่แน่ใจว่าตัวเองได้มั้ย เพราะคิดว่าช่วงแรกก็ตอบคำถามเค้าได้อยู่นะ

ผ่านไปหลายวัน เค้าก็ส่งเมลมาบอกว่า… ไม่ได้งาน

เสียใจนิดหน่อย แต่ก็สู้ต่อไป (ก็ได้)

เดี๋ยวจะมาต่อนะคร้าบ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่