มาแล้ว8เลนเพชรเกษม”กะเปอร์-สุขสำราญ1,930ล้าน

มาแล้ว8เลนเพชรเกษม”กะเปอร์-สุขสำราญ1,930ล้าน
*ทล.สรุปEIAเสนอสผ.เปิดไฟเขียวขยายถนน25กม.
*พร้อมเซฟตี้ทางลอดกลับรถ9จุด+ใต้สะพาน13จุด
*ของบสร้างปี 68เสร็จ71รับแลนด์บริดจ์ 4แสนล้าน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า  สำนักสำรวจและออกแบบ ได้เร่งโครงการสำรวจและออกแบบ ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) สาย อ.กะเปอร์-อ.สุขสำราญ จ.ระนอง ระยะทาง 25.8 กม. งบประมาณ 1,930 ล้านบาท เพื่อขยายเส้นทางจากขนาด 2 ช่องจราจรให้มีขนาด 4 -8 ช่อง

เตรียมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาคาดว่าเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 68 ใช้เวลา 3 ปีสร้างเสร็จในปี 71

โครงการมีจุดเริ่มต้นที่ กม. 648+000 พื้นที่ ต.กะเปอร์ อ.กะเปอร์ จ.ระนอง แนวเส้นทางผ่านรพ.กะเปอร์ ทางแยกทางหลวงหมายเลข 4130 ไป บ.บ้านนา

และตัดผ่านชุมชน บ.ชาคลี และ บ.บางมัน สิ้นสุดโครงการที่ กม. 673+800 (บริเวณบ้านบางมัน) อยู่ในพื้นที่ ต.นาคา อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

รูปแบบโครงการแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศมี 3 ลักษณะ ได้แก่

1. รูปแบบโดยทั่วไปบริเวณพื้นที่ราบและลูกเนิน ออกแบบขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับทิศทางละ 2 ช่องจราจร) มีเกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.20 เมตร เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีตกว้าง 3 เมตร

2.บริเวณพื้นที่ผ่านย่านชุมชน ออกแบบขนาด 8 ช่องจราจร ประกอบด้วย บริเวณพื้นที่ บ.บางหิน ออกแบบขนาด 8 ช่องมีช่องจราจรสายหลัก4 ช่องจราจร (ไป-กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร)

เกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier) และเกาะยก (Raised Median) ปูด้วยพื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย (Stamped Concrete) กว้างช่องละ 3.50 เมตร  

ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ด้านในกว้าง 1.50 เมตร ช่องจราจรทางขนานข้างละ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3 เมตร เกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier) หรือเกาะกลางแบบยก (Raised Median) กว้าง 3 เมตร มีการก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กด้านซ้ายทางกว้าง 3 เมตร

ส่วนบริเวณพื้นที่ย่านชุมชน อ.กะเปอร์ และ บ.บางมัน ได้ออกแบบขนาด 8 ช่องจราจร สายหลัก 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร)  กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ด้านในกว้าง 1.50 เมตร ช่องทางขนานข้างละ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3 เมตร

ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร ด้านในกว้าง 0.50 เมตร มีเกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier) และแบบเกาะกลางแบบยก (Raised Median) กว้าง 3 เมตร และทางเท้ากว้าง 3.50 เมตร พร้อมระบบระบายน้ำและระบบสาธารณูปโภคสองข้างทางหลวง

3.แนวเส้นทางช่วงตัดผ่านพื้นที่ภูเขาชาคลี ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ความกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.20  เมตร  

เกาะกลางแบบแท่งแบริเออร์ (Median Barrier) กว้าง 3 เมตร และมีช่องจราจรสำหรับรถบรรทุก (Climbing Lane) 1 ช่องจราจร ความกว้าง 3.50 เมตร

รูปแบบจะมีทั้งการขยายทางหลวงเข้าไปทางด้านภูเขาซึ่งอยู่ขวาทางและรูปแบบที่มีการตัดภูเขาเพื่อปรับความลาดชันของถนนและช่วงที่ต้องปรับแก้โค้งราบให้มีความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังออกแบบการจัดจราจรช่วงที่ตัดผ่านย่านชุมชนและทางหลวงท้องถิ่น ดังนี้

1.รูปแบบสะพานทางลอดกลับรถ (Bridge for Underpass)  9 แห่ง เป็นการก่อสร้างสะพานบกบนทางหลวงโครงการให้ถนนท้องถิ่นลอดผ่านและกลับรถ ออกแบบให้มีความสูงเพียงพอที่รถประเภทต่างๆ ลอดผ่านได้ เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้สะดวกและปลอดภัย

2.รูปแบบจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลอง 13 แห่ง จะก่อสร้างจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลอง ให้ประชาชนในท้องถิ่นใช้ระบบกลับรถในโครงการเพื่อความปลอดภัย

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับโครงข่ายทางหลวงสนับสนุนการท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันตก รองรับการเดินทางและภาคขนส่งในพื้นที่ภาคใต้

สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ จ.ระนอง และแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Dorridor : SEC) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์หรือสะพานระเบียงเศรษฐกิจมูลค่า 4แสนล้านบาท) ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม










—————————
ที่มา : https://www.facebook.com/100047017301335/posts/555318819378690/
#ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์
#8เลนเพชรเกษม
#กะเปอร์สุขสำราญ
#สราวุธทรงศิวิไล
#กรมทางหลวง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่