เปิดแบบทางต่างระดับ”แยกตะลุโบะ” 900 ล้าน

เปิดแบบทางต่างระดับ”แยกตะลุโบะ” 900 ล้าน
* 10 พ.ค.นี้กรมทางหลวงฟังเสียงชาวปัตตานี
*ศึกษาเสร็จแล้ว-พร้อมลุย”อีไอเอ”ของบสร้าง

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า วันที่ 10 พ.ค.นี้ สำนักสำรวจและออกแบบจะจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 410 (แยกตะลุโบะ) อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ศาลากลาง จ.ปัตตานี

เพื่อรับฟังความคิดเห็นหน่วยงาน และประชาชนในพื้นที่ โดยที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาโครงการมูลค่า 900 ล้านบาท โดยมีมาตรการเพื่อให้มีผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยบริเวณทางแยกน้อยที่สุด                

สำหรับรูปแบบโครงการได้ออกแบบเป็นสะพานข้ามจุดตัดทางแยกในแนวทางหลวงหมายเลข 42 (ทล.42สายคลองแงะ-จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก (เขตแดนไทย/มาเลเซีย) หรือ ถนนเพชรเกษมสายปัตตานี-นราธิวาส เชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานีด้านฝั่งแยกตะลุโบะ เป็นสะพานคู่ขนานขนาด 4 ช่องจราจร

ด้านล่างใต้สะพานปรับปรุงเป็นสี่แยกสัญญาณไฟจราจร ทำให้การสัญจรในแนวถนนยะรัง และทล.410 สายปัตตานี-เบตง เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ ความสูงช่องลอดใต้สะพานมากกว่า 5.5 เมตร

พร้อมจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ฝั่ง ปรับทิศทางการจราจรแบบเดินรถทางเดียว เพื่อความรวดเร็วในการสัญจรและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง

ส่วนแนวถนนโครงการพื้นที่ทล.42 ระยะทางประมาณ 1.90 กม. และแนวทล.410 ระยะทาง 0.33 กม. ซึ่งมีขนาด 4 ช่องจราจร ส่วนบริเวณทางแยกมี 8 ช่อง ออกแบบให้มีทางเท้ากว้าง 3.00 เมตร และมีไหล่ทาง 2.00-2.50 เมตร ตลอดแนวทั้งสองฝั่งถนน ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างครอบคลุมพื้นที่โครงการทั้งหมด

เมื่อสรุปผลการศึกษาแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.จะเข้าสู่กระบวนการเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา ขณะเดียวกัน เตรียมของบประมาณก่อสร้างปี 67 ให้แล้วเสร็จและเปิดบริการในปี 70  

โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากแยกตะลุโบะมีปริมาณการจราจรหนาแน่น 70,000 กว่าคันต่อวัน เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักการขนส่งสินค้า  มีปัญหาการตัดกระแสจราจรจึงปิดทางแยกเพื่อลดจุดตัดโดยใช้รูปแบบการจราจรวนซ้ายไปกลับรถใต้สะพานแม่น้ำปัตตานีคล้ายๆ วงเวียน

จุดกลับรถนี้มี 2 ช่องไป-กลับ ปกติจุดกลับรถจะเป็นแบบเดินทางเดียว (วันเวย์) แต่จุดนี้จัดเดินรถแบบสวนเลน ไป 1 ช่อง กลับ 1 ช่อง บริเวณจุดกลับรถใต้สะพานมีช่องลอดใต้สะพานไม่สูงมาก รถบรรทุกที่มีความสูง 5 เมตรขึ้นไปไม่สามารถผ่านได้ ส่วนใหญ่เป็นรถเล็กขนาด 2-4 ล้อ เช่น รถเก๋ง รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ (จยย.)

ขณะเดียวกันจุดกลับรถห่างไกลชุมชน มีการก่อเหตุความไม่สงบบ่อยครั้ง อันตรายและไม่ปลอดภัยอย่างมาก  การปรับปรุงเป็นทางแยกต่างระดับ  เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกและใช้ระบบวงเวียนพื้นราบจะช่วยบรรเทาปัญหา

รวมทั้งลดอุบัติเหตุทำให้ประชาชนเดินทาง สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยขึ้น รองรับปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นในอนาคตและส่งเสริมการขนส่งและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ด้วย

ทั้งนี้สำนักสำรวจและออกแบบ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พีทีอีเอ็นจิเนียริ่งคอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท วิศวกร 31 จำกัด และ บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด เป็นผู้สำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ เริ่มต้นสัญญาวันที่ 20 ก.พ.64 จนถึง 15 พ.ค.65 ระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน งบศึกษา 18 ล้านบาท











เนื้อหา | ข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์
Photo Credit | แหล่งข่าวกรมทางหลวง

————————————

#ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์
#ทางต่างระดับแยกตาลุโบะ
ที่มา : https://facebook.com/story.php?story_fbid=546214390289133&id=100047017301335
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่