สอบถาม คนที่สนใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาครับ

อยากให้ทุกคนลองจิตนาการดูครับ ในช่วงรัชกาลสุดท้ายก่อนเสียกรุง ถ้าพระเจ้าอุทุมพรกับพระเจ้าเอกทัศน์เกิดเป็นศัตรูกัน แล้วแย่งชิงราชสมบัติ
พระเจ้าตากสิน กับ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จะเข้าข้างใคร และถ้าเกิดสู้กันจริงๆใครจะชนะ
(ความคิดส่วนตัวถ้าเกิดสู้กันจริงๆคงเสียคนเก่งๆไปเยอะเวลาพม่ามาบุกคงเสียหายมากจนฟื้นฟูไม่ได้)
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้าอุทุมพรทรงมีฐานสนับสนุนอยู่มากพอสมควรครับ ดังที่ปรากฏว่าทั้งกรมหมื่นเทพพิพิธ และเสนาบดีผู้ใหญ่คือ เจ้าพระยาอภัยราชาที่สมุหนายก พระยากลาโหม และพระยาพระคลัง ล้วนสนับสนุนให้พระเจ้าอุทุมพรเป็นพระมหาอุปราช ในขณะที่พระเจ้าเอกทัศถูกบีบให้ออกผนวช  จนกระทั่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรใกล้สวรรคตแล้วจึงลาผนวชกลับเข้าพระราชวัง

แต่หลักฐานร่วมสมัยของดัตช์ก็ระบุว่ามีเจ้าหลายองค์ไม่เห็นด้วยที่พระเจ้าอุทุมพรได้เป็นรัชทายาท แต่ไม่กล้าแสดงออก เจ้าสามกรมเองได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการจำนวนมากและสามารถครอบครองพื้นที่ตอนเหนือของพระนครเป็นฐานที่มั่น  แต่สุดท้ายพระเจ้าอุทุมพรกับพระเจ้าเอกทัศร่วมมือกันจับเจ้าสามกรมสำเร็จโทษได้  หลักฐานดัตช์ระบุว่าตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต พระเจ้าเอกทัศก็พยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำจัดเจ้าสามกรม (ซึ่งดัตช์มองว่าเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีคุณสมบัติเหมาะสมกว่าพระเจ้าเอกทัศ)   ดัตช์บันทึกด้วยว่าสาเหตุที่พระเจ้าอุทุมพรยอมสละราชสมบัติออกผนวช นอกจากประเด็นที่ได้ครองราชย์ก่อนโดยข้ามลำดับอาวุโสแล้วยังทรงขวัญเสียที่พระเจ้าเอกทัศทรงปราบปรามเจ้าสามกรมอย่างรุนแรงด้วย

ในช่วงแรกที่พระเจ้าเอกทัศครองราชย์ดูจะไม่มีฐานสนับสนุนมาก หลักฐานดัตช์ระบุว่าทรงเลื่อนมหาดเล็กข้าหลวงเดิม 4-5 คนที่มีพื้นฐานต่ำต้อยที่สุดขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในราชการ  ใกล้เคียงกับพระราชพงศาวดารที่ระบุว่าทรงตั้งพี่น้องของเจ้าจอมเพง เจ้าจอมแมน พระสนมเอก คือนายปิ่นเป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก   นายฉิมเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก  ทั้งสองเข้าออกในพระราชวังทั้งกลางวันกลางคืน ลอบคบชู้กับฝ่ายใน ไม่มีใครว่ากล่าวได้ เจรจาคำหยาบหมิ่นประมาทขุนนางผู้ใหญ่ให้เจ็บแค้น

ผลจากเรื่องนี้ทำให้เจ้าพระยาอภัยราชาที่สมุหนายก พระยายมราช พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพ็งจันทร์ ปรึกษากับกรมหมื่นเทพพิพิธที่ผนวชอยู่  คิดวางแผนก่อกบฏเชิญพระเจ้าอุทุมพรกลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้ง  ในช่วงนี้ผมคิดว่าถ้าพระเจ้าอุทุมพรยอมร่วมมือก็มีโอกาสที่จะทำสำเร็จได้  แต่พระเจ้าอุทุมพรเห็นแก่พระเจ้าเอกทัศที่เป็นพี่น้อง และระแวงว่าหากก่อการสำเร็จตนเองก็อาจถูกสำเร็จโทษเพื่อให้กรมหมื่นเทพพิพิธได้เป็นกษัตริย์   เลยนำเรื่องไปบอกพระเจ้าเอกทัศทั้งหมด แลกกับการขอให้ละเว้นชีวิตผู้ก่อการเหล่านี้


พระเจ้าอุทุมพรมีโอกาสอีกครั้งเมื่อลาผนวชกลับมารับศึกพม่า  พระองค์มีอำนาจมากพอที่จะปลดปล่อยขุนนางที่สนับสนุนพระองค์ที่ต้องโทษ  สามารถลงพระราชอาญาคนใกล้ชิดของพระเจ้าเอกทัศอย่างพระยาราชมนตรี (ปิ่น) ที่ถูกเฆี่ยนแล้วจำไว้ เมื่อตายแล้วแล้วเอาศพถูกเสียบประจาน  จมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) ถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้  พระยาราชวังสันที่เป็นพรรคพวกของพระยาราชมนตรี (ปิ่น) ถูกเฆี่ยนแล้วตายในภายหลัง ถูกเสียบประจานเช่นเดียวกัน   ในช่วงนี้ถ้าพระเจ้าอุทุมพรเด็ดขาดพอที่จะกำจัดพระเจ้าเอกทัศก็น่าจะทำได้ครับ  แต่สุดท้ายพระองค์ก็ลาผนวชอีกครั้ง  

หลังจากนั้นก็ปรากฏในหลักฐานดัตช์ว่าขุนนางฝ่ายพระเจ้าอุทุมพรถูกกดลงไปอีกครั้ง  ขุนนางของพระเจ้าเอกทัศไม่สนใจกฎหมายบ้านเมืองสนใจแต่ผลประโยชน์ส่วนตน  บรรดาเจ้านายฝ่ายในที่เป็นพี่น้องของพระเจ้าเอกทัศกับพระเจ้าอุทุมพรเปลี่ยนข้างเสมอขึ้นอยู่กับว่าใครขึ้นมามีอำนาจ  ดัตช์มองว่าเจ้าหญิงเหล่านี้ในสมัยพระเจ้าเอกทัศเลวร้ายยิ่งกว่าขุนนางเพราะพยายามจะครอบงำพระเจ้าเอกทัศให้ใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขต  ทั้งขุนนางและเจ้าหญิงต่างเป็น "ผู้ขูดรีด" ทางการค้าของสยาม   หลักฐานฝรั่งเศสเขียนไว้ตรงกันว่าสมัยพระเจ้าเอกทัศเจ้าหญิงเหล่านี้มีอำนาจยิ่งกว่ากษัตริย์ และสามารถเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ้านเมืองตามอำเภอใจ เช่นความผิดโทษประหารถูกเปลี่ยนเป็นริบทรัพย์เพื่อเข้ากระเป๋าเจ้าหญิงเหล่านี้  ข้าราชการเห็นความโลภของเจ้าหญิงเหล่านี้ก็ทำตามบ้าง    หลักฐานต่างประเทศมองว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีการคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงรุนแรงมาก และเศรษฐกิจตกต่ำจากสงครามพระเจ้าอลองพญาด้วย

มีเสนาบดีพระคลังคนหนึ่งที่ดัตช์มองว่าเป็นคนสุจริต ต้องออกบวชตามพระเจ้าอุทุมพรไปใน พ.ศ. 2304 เพื่อหลีกหนีจากการคุกคามจากพระราชวงศ์ เนื่องจากเป็นขุนนางคนเดียวที่ดัตช์เห็นว่าต่อต้านพระราชวงศ์ที่ขูดรีด   ผมคิดว่าช่วงหลังจากนั้นพระเจ้าอุทุมพรไม่น่าจะมีฐานอำนาจพอจะช่วงชิงอำนาจจากพระเจ้าเอกทัศแล้ว และยังมีสงครามกับพม่าล้อมกรุงอีก การลุกขึ้นมาแย่งชิงอำนาจเวลานั้นอาจไม่ได้เกิดประโยชน์เท่าไหร่ครับ



ส่วนเรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีกับรัชกาลที่ 1 จะเข้าข้างใคร  อาจต้องพิจารณาถึงประวัติในช่วงนั้นครับ


พระเจ้ากรุงธนบุรี อ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับปลีก ระบุว่าเดิมเป็นบุตรจีนคลองสวนพลู ขึ้นไปค้าขายอยู่ที่เมืองตากหลายปี เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองเมืองตากโดยช่วยเหลือกรมการเมืองชำระถ้อยความราษฎรอยู่บ่อยๆ  เมื่อเจ้าเมืองตากป่วยตาย จึงตัดผมเป็นไทยลงมากรุงศรีอยุทธยา ขอให้คนรู้จักช่วย "เดิน" จนได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาตากในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ  ส่วน Brief Notice of the History of Siam พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4 ระบุว่าได้เป็นปลัดเมืองตากก่อน แล้วจึงได้เป็นพระยาตาก  

หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าได้ลงมากรุงศรีอยุทธยาเลยจนกระทั่งช่วงสงครามเสียกรุง  พิจารณาแล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่น่าจะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการชิงอำนาจเวลานั้นก่อนหน้าครับ  ส่วนช่วงที่พม่าล้อมกรุงสถานการณ์น่าจะวุ่นวายอยู่แล้ว หากมีความวุ่นวายภายในจากการชิงอำนาจขึ้นมาอีก เป็นไปได้พระเจ้ากรุงธนบุรีอาจจะฝ่าทัพพม่าออกจากกรุงไปเลยมากกว่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมครับ


รัชกาลที่ 1  อ้างอิงจาก "เทศนาพระราชประวัติและพงศาวดารกรุงเทพฯ" ระบุว่าเดิมถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้าฟ้าอุทุมพร  เมื่อถึง พ.ศ. 2300 พระชนม์ได้ 21 พรรษาจึงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดมหาทะลายพรรษาหนึ่งแล้วกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลพระเจ้าอุทุมพร และได้เป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าอาทิตย์ โอรสเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร   ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศเมื่อพระชนม์ได้ 25 พรรษาได้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี จึงย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่อัมพวาแขวงเมืองสมุทรสงครามต่อกับแขวงเมืองราชบุรี

"ประถมวงษแลพระราชพงษาวดารย่อ" ที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เรียบเรียง ระบุว่ารัชกาลที่ 1 ไม่ได้ทรงทำราชการหลวง เพราะย้ายไปอยู่กับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ที่เป็นตระกูลเศรษฐีในอัมพวาตั้งแต่แต่งงาน  จึงเป็นแต่ข้าแอบอิงอาศัยอยู่ในสังกัดเจ้าอาทิตย์  เจ้าอาทิตย์ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศได้เป็นพระองค์เจ้า ทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศ เป็นที๋โปรดปรานของพระเจ้าเอกทัศ มีผู้นิยมนับถือมาก

รัชกาลที่ 1 เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมของพระเจ้าอุทุมพรมาก่อน ในช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ หากพระเจ้าอุทุมพรลุกขึ้นมาชิงอำนาจก็คงเข้าร่วมกับพระเจ้าอุทุมพรด้วย   แต่ถ้าเป็นช่วงหลังแต่งงานที่ย้ายไปอยู่อัมพวาแล้วคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชิงอำนาจในราชธานีอีก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่