ทำไม พระเจ้าบรมโกศถึงไม่ถูกกล่าวโทษการเสียกรุงศรีอยุธยา?

กรณีเสียกรุงศรีอยุธยานั้น คนรุ่นหลังมักจะกล่าวโทษความรับผิดชอบพระเจ้าเอกทัศน์และพระเจ้าอุทุมพร  แต่มาย้อนคิดดู พระเจ้าบรมโกศก็น่าจะต้องรับผิดชอบด้วยนะครับ จาก 2 เหตุนี้

- จากการที่ทรงสำเร็จโทษเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นเจ้านายที่ปรีชาสามารถ อย่างน้อยก็มากกว่าทั้งพระเจ้าเอกทัศน์และอุทุมพร และ มีคสพ.อันดีต่อตัวแทน(อาวุธ)ฝรั่ง  ซึ่งถ้าเปลี่ยนพระองค์กับพระเจ้าเอกทัศน์ ตอนสงครามเราอาจยันทหารอังวะได้นานพอที่ พระเจ้ามังระจะเรียกกองทัพกลับไปกู้เมืองแม่

- ที่ร้ายแรงที่สุดคือ นโยบายต่างประเทศของพระองค์ที่ผิดพลาด จนทำให้ศัตรูคู่ฟ้าของอยุธยาหวนกลับมาวัฎจักรอีกครั้ง  แทนที่จะไปช่วยหงษาฯ ถล่มอังวะให้ราบ พระองค์แต่วางเกมส์สมดุลอำนาจ ไปทำไมตรีกับอังวะ!!!! ที่เคยบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา  แล้วผลก้คืออาณาจักรอังวะผงาดขึ้นมาได้ และ กลับมาทำลายอาณาจักรของพระองค์ในที่สุด
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
๑. เจ้าฟ้ากุ้ง ประชวรเป็นโรคสำหรับบุรุษ ทรงพระดำเนินไปไหนไม่ได้นานกว่าสามปีกว่าแล้ว คาดว่าอาจจะอยู่ไม่พ้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศด้วยซ้ำ หรือหากอยู่ถึงและเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยพระอาการประชวรแบบนี้ ยังเดาไม่ถูกเลยว่าจะทรงรับศึกพระเจ้าอลองพญาไหวหรือไม่

จริงอยู่ว่าเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงมีความสนิทสนมกับ Dutch East India Company  หรือ VOC แต่ก็ไม่แน่ว่าการช่วยช่วยเหลือของดัตช์จะมีผลกับสงครามมากน้อยแค่ไหน และพม่าเองก็เป็นลูกค้าของดัตช์เช่นกัน การแตกหักกับพม่าเพื่อมาช่วยอยุธยาก็เป็นเรื่องดัตช์ต้องคิดหนัก และเอาเข้าจริงพระเจ้าเอกทัศน์เองก็ทรงมีสัมพันธ์อันดีกับ VOC อยู่ไม่น้อย
(*ในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ราชสำนักแบ่งออกเป็น ๒ ขั้ว คือ ฝ่ายขุนนางนำโดยเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เสนาบดีกรมพระคลังและผู้ว่าราชการหัวเมืองนาทหาร ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านชาวยุโรป กับฝ่ายเจ้านายทรงกรมนำโดยเจ้าฟ้ากุ้งซึ่งมีแนวคิดผูกมิตรกับยุโรป ซึ่งเจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ทรงอยู่ในฝ่ายเจ้าฟ้ากุ้งด้วย)

ตัวพระเจ้าเอกทัศน์เอง สำหรับการตั้งรับพม่าก็ไม่ได้ด้อยตามที่เข้าใจกันนะครับ ด้วยสถานการณ์แบบนั้น พระเจ้าเอกทัศน์ทรงรับทัพพม่าได้จนถึงฤดูน้ำหลากจนน้ำลด แต่ฝ่ายพม่าเองที่เปลี่ยนยุทธวิธีในการทำศึก คือไม่ยอมถอยทัพและดึงดันที่จะล้อมกรุงทั้งๆ ที่น้ำท่วมแบบนั้น ซึ่งหากเปลี่ยนกษัตริย์อยุธยาเป็นเจ้าฟ้ากุ้ง หากเจอยุทธวิธีของมังมหานรธาแบบนั้น (สงครามเสียกรุงเป็นฝีมือมังมหานรธาล้วนๆ เพราะแม่ทัพหลายนายเสนอให้ถอยทัพ แต่มังหมานรธาไม่ยอม เนเมียวสีหบดีเพียงอาศัยแนวทางที่มังมหานรธาปูทางไว้เท่านั้น) เจ้าฟ้ากุ้งก็ยังใช้การตั้งรับแบบที่พระเอกทัศน์ทำอยู่ดีคือการมุ่งใช้พระนครเป็นฐานรับศึกรอจนน้ำหลาก และผลของสงครามก็คงเป็นอย่างที่เห็น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ตราบใดที่หลักนิยมการทำสงครามของอยุธยาไม่เคยเปลี่ยน  

๒. พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงมีนโยบายที่ "ถ่วงดุลอำนาจระหว่างพม่า-มอญ" เพื่อความปลอดภัยของอยุธยา มาโดยตลอด ตอนพวกมอญยกทัพมาตีเมืองหงสาวดีคืนจากพม่า มังรายจอสู เจ้าเมืองเมาะตะมะ หนีเข้ามาอยู่ฝั่งไทยพระองค์ก็โปรดฯ ให้รับไว้ จนพระเจ้าอังวะทรงส่งฑูตเข้ามาขอบคุณไทยที่ให้ที่พึ่งข้าหลวงพม่าประจำเมาะตะมะ นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังส่งฑูตไปราชสำนักพม่า ซึ่งขณะนั้นกรุงอังวะถูกกองทัพมอญของสมิงทอล้อมอยู่ พอพวกมอญทราบว่ามีฑูตจากอยุธยาเดินทางมาเมืองอังวะก็ถอนทัพออกจากอังวะเพราะไว้ใจสถานการณ์ว่าอังวะจะขอกองทัพไทยเข้ามาช่วยหนืออย่างไร ซึ่งการที่ฑูตไทยเข้ามาจนทัพมอญต้องถอนทัพเป็นการช่วยพม่าอย่างตั้งใจ ที่ฝ่ายไทยทำแบบนี้เพื่อถ่วงดุลอำนาจของมอญไม่ให้เหิมเกริมเกินไป เพราะหลังมอญยึดหงสาวดีคืนมาได้ก็ขยายดินแดนออกมามาก และออกจะมีท่าทีคุกคามอยุธยาด้วย และในช่วงเวลาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสถียรภาพของฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือว่ามั่นคงมาก เพราะมีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันอย่างมีระบบ

แต่การเข้ามาของ "พระเจ้าอลองพญา" ทำให้ดุลย์อำนาจทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด
ไม่มีใครคาดการณ์การมาของอลองพญา มันเป็น Surprise ที่ทำให้ทุกๆ อาณาจักรในภูมิภาคนี้ปรับตัวไม่ทัน และทำให้ภูมิภาคนี้ร้อนระอุด้วยสงคราม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่