เชียงใหม่-กุฏิหลังแรกของวัดเจดีย์หลวง เจ้าแก้วนวรัฐสร้างถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี ๒๔๗๑


กุฏิแก้วนวรัฐ
พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ (อินทแก้ว) เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ (ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายแห่งวงศ์ทิพจักร พ.ศ.๒๔๕๒-๒๔๘๒)
เป็นโอรสของพ่อเจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ และหม่อมเขียว

พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ประสูติวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๕ (พิราลัย ๔ มิถุนายน ๒๔๘๒)
ปี ๒๔๒๗ ชนมายุ ๒๒ ปี ได้สมรสกับแม่เจ้าจามรี มีโอรส-ธิดา ๓ องค์ คือ
๑. เจ้าอุตรการโกศล (เจ้าน้อยสุขเกษม)
๒. เจ้าบัวทิพย์
๓. เจ้าราชบุตร "วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่"

พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) สมรสกับเจ้าจันทร ณ เชียงใหม่ มีธิดา ๑ คน คือ เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนีย์

ต่อมาพลตรี เจ้าราชบุตร ได้สมรสกับเจ้าภัทรา ณ ลำพูน (คุณหญิง หม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่)
ชายาคนที่ ๓ ไม่มีบุตร มีธิดา ๒ คน คือ
๑. เจ้าพงษ์แก้ว ณ ลำพูน (ณ เชียงใหม่)
๒. เจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล (ณ เชียงใหม่) สมรสกับนายสุชาติ สุจริตกุล

ปี พ.ศ.๒๔๗๑ พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ ได้อาราธนาพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เพื่อฟื้นฟูปรับปรุงสังฆาวาสต่างๆ ที่ทรุดโทรม
ให้กลับเป็นวัดสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่และเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมทั้งให้สร้างเสนาสนะน้อยใหญ่ต่างๆ และพระวิหารหลวงใหม่

...กุฏิหลังแรกของวัด ที่เป็นถาวรวัตถุสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เจ้าแก้วนวรัฐสร้างถวายวัดเจดีย์หลวงเมื่อปี ๒๔๗๑
เพื่อให้พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้พำนักอาศัยปฏิบัติศาสนกิจขณะพำนักอยู่เชียงใหม่
ยังคงปรากฏให้เห็นจนบัดนี้

...กุฏิแก้วนวรัฐเป็นอาคารไม้สัก ๒ ชั้น ชั้นบนพื้นปูกระดาน ชั้นล่างพื้นเทคอนกรีต
หันหน้าไปทางพระวิหารทางทิศเหนือ มีสามมุข 
มุขกลางคือ มุขจามรี 
มุขตะวันตกคือ มุขราชบุตร (วงศ์ตวัน) สร้างเสริมใหม่เมื่อปี ๒๕๑๑
ส่วนมุขตะวันออกคือ มุขแก้วนวรัฐ 
เป็นส่วนของอาคารกุฏิแก้วนวรัฐสร้างครั้งแรก ปูพื้นด้วยกระดานไม้สักเชื่อมต่อกันทั้งสามมุข
มุงด้วยกระเบื้องดินขอพื้นเมือง (ปลายปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘)

ทายาทพ่อเจ้าแก้วนวรัฐ คือ เจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล พร้อมญาติมิตรเจ้านายฝ่ายเหนือ ได้บริจาคทรัพย์ทำการบูรณะใหม่ทั้งหลัง

...กุฏิแก้วนวรัฐนี้สมควรได้รับการอนุรักษ์ไว้แม้จะทำการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ก็ควรรักษารูปทรงเดิมไว้
หากทำเป็นอาคารสำหรับเก็บรักษาศิลปวัตถุ/ปูชนียวัตถุของเก่าของมีค่าต่างๆ บรรดาที่มีในวัดรวบรวมมาจัดเป็นหมวดหมู่ไว้ให้เป็นแบบพิพิธภัณฑ์ 
ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างหาที่สุดมิได้

...............................
<<< บันทึกท้ายกระทู้ >>>
ครั้งต่อไปเมื่อมีโอกาสมาเที่ยวชมวัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่นี้ ก็อยากให้แวะมาชมกุฏิไม้สักหลังนี้
ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้วครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่