เจาะปรากฏการณ์ “ลิซ่าเอฟเฟกต์” กระตุ้นเศรษฐกิจ-แทรกวัฒนธรรม กลยุทธ์ที่ไทยต้องเรียนรู้ -

: 29 มี.ค. 2565   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นักเศรษฐศาสตร์ถอดบทเรียน “ลิซ่าเอฟเฟค” ทำ “ลูกชิ้นยืนกิน” ได้รับความนิยมต่อเนื่อง พลิกชีวิตร้านลูกชิ้นบุรีรัมย์ให้กลับมาลืมตาอ้าปากอีกครั้ง เผย “วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้าเกิดเรารู้จักการสร้างคุณค่า” สังคมตั้งข้อสังเกต เศรษฐกิจที่ซบเซามาหลายปี แต่ลิซ่ามาทีเดียวกราฟพุ่ง จนอยากให้ผู้บริหารประเทศเรียนรู้!!

ลูกชิ้น 200 กิโล กินฟรีวันเกิด “ลิซ่า BLACKPINK”
กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สร้างรอยยิ้มไปทั้งโลกโซเชียลฯ เมื่อบรรดาร้านลูกชิ้นยืนกิน ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์นับ 10 ร้าน พร้อมใจกันฉลองวันเกิดอายุครบ 25 ปี ให้แก่ “ลิซ่า - ลลิษา มโนบาล”ไอดอลเกาหลีสายเลือดไทยคนเก่ง แห่งวง BLACKPINK เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการแจกลูกชิ้นกว่า 200 กิโลกรัม ให้นักท่องเที่ยวกันฟรีๆ พร้อมทั้งมีการเป่าเค้กรูปลิซ่าและเสียงร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ จนดังกึกก้องไปทั้งสถานีรถไฟ
และยังเป็นการขอบคุณลิซ่า ที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักลูกชิ้นยืนกิน ของขึ้นชื่อเมืองบุรีรัมย์ โดยขณะนี้ไอดอลสาวก็ได้เดินทางกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทย ถือว่าเป็นการกลับบ้านในรอบ 3 ปี

สำหรับ “ลูกชิ้นยืนกิน” กลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากสาวลิซ่า ได้เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ WOODY SHOW ราวเดือนกันยายน 2564 ไว้ว่า หนึ่งสิ่งที่อยากทำเมื่อกลับเมืองไทย คือไปกินลูกชิ้นยืนกิน น้ำจิ้มสูตรน้ำพริกเผา ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์

จากประโยคสั้นๆ ของเธอ กลายเป็นการปลุกกระแสให้คนไปตามรอยกันเมนูดังกล่าวอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะ "เทศกาลลูกชิ้นยืนกินบุรีรัมย์ 2021" ที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 17-23 กันยายน 2564 เพียงไม่กี่วันของการจัดงาน ก็มีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท
อีกทั้ง ยังเป็นการพลิกชีวิตร้านลูกชิ้นยืนกินที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์กว่าได้ เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้การค้าขายซบเซา แม่ค้าหลายร้านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เคยขายได้เพียงวันละหลักร้อย

แต่หลังจากที่สาวลิซ่าให้สัมภาษณ์ ก็ทำให้ยอดขายพุ่งไปถึงหลักแสนบาทต่อวัน และขายดีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างร้าน “แชมป์ลูกชิ้นยืนกิน”จากเดิมมีสาขาเดียว ปัจจุบันได้ขยายเป็น 100 สาขาแล้ว!!
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ได้สะท้อนความเห็นถึงปรากฏการณ์ “ลิซ่าเอฟเฟกต์”แก่ทีมข่าว MGR Live ไว้ดังนี้

[ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ]
“ลิซ่าเป็นกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วดังมาก เราลองคิดว่าอันนี้แค่อีเวนท์เดียว ปกติเวลาเราจัดงานต่างๆ ร้านค้านึงก็จะได้รับผลประโยชน์ พอเราดูการจัดงานไม่กี่วันแล้วมันได้ผลประโยชน์เยอะขนาดนี้ มันสะท้อนให้เห็นถึงพลังของ soft power มากขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับก่อนว่าตอนต้นๆ มันก็จะดี แต่ต้องคิดถึงเรื่องของความยั่งยืนต่อไปด้วยครับ

จะเห็นว่าลิซ่ามาทำอะไร มากินร้านไหน มันก็จะมีคนไปตามรอยต่างๆ ตรงนี้เป็นจุดขายที่กระตุ้นได้ในหลากหลายรูปแบบอยู่แล้ว อาหารการกิน ทำผมแต่งหน้า การแต่งกาย รวมทั้งไปสถานที่ต่างๆ ก็เช่นเดียวกันครับ

ในมุมมองของผมผมคิดว่าการพัฒนาลักษณะนี้มันเรียกว่า เป็นการพัฒนาที่ต่อยอดจากการพัฒนาแบบเดิม ถ้าเป็นแบบเดิมเราจะ เราชอบดาราคนไหน ดาราคนนั้นก็มักจะไปรับพรีเซนเตอร์
แต่รูปแบบใหม่ล่าสุดที่จะเกิดขึ้นคือวิถีชีวิต ดารากินอะไร ดาราชอบไปที่ไหน ไปทำอะไร ผมว่าตรงนี้มันขายได้หมด หลังๆ เราเริ่มเห็นคนที่เป็น influencer ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นดาราดัง แต่เป็นคนที่เริ่มมีกลุ่มทางโซเชียลฯ มากขึ้น ผมเห็นว่าตรงนี้มันเป็นหัวใจสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการผูกเชื่อมโยงไปยังจุดเด่นของเมืองไทยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ เราสามารถสอดแทรกเข้าไปตรงนี้ได้ครับ”

หนุน soft power ไทย ให้ทั่วโลกยอมรับ
นอกจากนี้ นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI ก็ได้กล่าวถึงเรื่องราวของ soft power หรือการเผยแพร่วัฒนธรรมและแนวคิดต่าง ๆ ให้เกิดการยอมรับ โดยไม่มีการบังคับ ที่ประเทศเกาหลีใต้คือตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน
“ประเด็นก็คือเรื่องของ soft power ลิซ่าก็ไปทำงานที่เกาหลี เวลาเราดูซีรีส์เกาหลี ก็จะเห็นว่าเขาจะสอดแทรกอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งอาชีพต่างๆ มันกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว เราเห็นเราก็อยากกิน อยากไปเที่ยว อยากไปซื้อของ ชอบในวัฒนธรรม ก็ทำให้เกิดผลเกี่ยวเนื่องไปทั่วโลก หรือแม้กระทั่งกิมจิเขาก็ทำยอดส่งออกได้มากขึ้นเรื่อยๆ

[ ซีรีส์เกาหลี “แดจังกึม” ที่โด่งดังอย่างมากในไทย ]
จริงๆ ในของเมืองไทยมันก็เคยเกิด สมัยก่อนมีเรื่อง Lost in Thailand เป็นหนังที่คนจีนมาเที่ยวที่ต่างๆ ในเมืองไทย ทำให้คนจีนแห่กันมาเที่ยวเมืองไทย ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เราสามารถขายตรงนี้ได้ เสียดายเมืองไทยเราทำน้อย
การที่เราจะไปสนับสนุนให้เกิดการบริโภค soft power การขายวัฒนธรรม แปลว่าเราจะต้องมีกุศโลบาย ต้องมีการขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในภาพยนตร์ ดารา influencer แต่ของเราผมคิดว่ามันเป็นลักษณะของการกระจายมากกว่า ก็คือแบรนด์ไหนมีกำลัง ก็ไปจ้างคนให้รีวิว มันก็จะได้แค่เป็นจุดๆ มันก็จะไม่ได้ไปทั้งองคาพยพ

ผมอยากเห็นภาพการขายวัฒนธรรมแบบยั่งยืน เรามีอาหารทุกภาค แหล่งท่องเที่ยวเราก็มีทุกที่ การแต่งตัวเราก็มีการแต่งกายที่แตกต่าง วัฒนธรรมอะไรก็ค่อนข้างดี ทำยังไงให้เราขายความเป็นไทยออกไปด้วยครับ”

เมื่อทีมข่าวถามว่า หากประเทศไทยหยิบวัฒนธรรมที่เป็น soft power มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ดร.นณริฏ ก็ให้คำตอบว่า ช่วยได้มาก เพราะ ‘วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้าเกิดเรารู้จักการสร้างคุณค่า’

“เยอะเลยครับ ผมเล่าให้ฟังอย่างนี้ ถามว่าคนที่มาเที่ยวเมืองไทยจะคิดถึงอะไร ผมว่าสิ่งที่เขาคิดถึงคือ 1.ชายหาด 2.อาจจะเป็นพวกการเที่ยวกลางคืน ผมคิดว่าตรงนี้ถือว่าดีในระดับหนึ่ง แต่มันเป็นการขายที่ไม่ยั่งยืน ถามว่าทำไม ชายหาดอะไรต่างๆ มันก็มีเสื่อมโทรม สถานที่กลางคืนบางทีมันก็มีธุรกิจสีเทาๆ ดำๆ บ้าง มันก็ไม่ค่อยเหมาะสมอยู่แล้ว

แต่ลองคิดดูว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะไม่เน้นขายตรงนี้ เวลาคุณไปอิตาลี คุณไปดู Museum คุณไปอังกฤษไปดูวัฒนธรรม ไปดู Stonehenge ไปดู British Museum ไปดูต่างประเทศ วัฒนธรรมแต่ละอันเขาบูรณะได้ดี
วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้าเกิดเรารู้จักการสร้างคุณค่า เราย้อนกลับไปดูก่อนสมัยสุโขทัย ถ้าผมจำไม่ผิดเรามีอารยธรรมที่อยู่ในเมืองไทยก่อนที่เราจะรวมเป็นประเทศมากมาย พวกตามพรลิงค์ ล้านนา ตอนนี้เราไม่ได้ขายเท่าไหร่เลย เวลาเราไปที่ต่างๆ ก็เหมือนมีคนนั่งเก็บ 10 บาท 20 บาท มันน่าเสียดาย

แต่ว่าผมอยากชวนคิดอย่างนี้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีพวก Virtual Reality แล้ว เราไม่เห็นแต่สามารถใส่แว่นแล้วเห็นของในอดีตได้ เราสามารถดึงเอาวัฒนธรรม ประเพณีเก่าๆ ให้กลับมาได้มั้ย คนที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คนที่อยากรู้ประวัติศาสตร์มันมีพอสมควร ต่างชาติก็มี เราต้องเปิดตลาดก่อน ผมคิดว่าตรงนี้มันขายได้ไม่มีที่สิ้นสุด และสามารถขายได้ทุกภาค”
สุดท้าย นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “ลิซ่าเอฟเฟกต์”เป็นการเริ่มต้นที่ดี ของการนำ soft power มากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย

“ลิซ่าเอฟเฟกต์ เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ดี การพัฒนาในปัจจุบันเราจะเห็นว่า จะมีความพยายามในการขาย soft power เรามีคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเมืองไทยค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อาหาร วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว การแต่งกาย
กรณีของลิซ่า สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถที่จะสร้างพลัง soft power ในลักษณะนี้ เราสามารถที่จะดึงกำลังซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาได้ มันก็ช่วยในการพัฒนาภาคท่องเที่ยวของเรา ให้เป็นไปมากกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ พวกพึ่งพาภูเขา พึ่งพาทะเล มันก็จะอยู่ได้อย่างจำกัด
การท่องเที่ยวในอนาคตเราก็จะเห็นความหลากหลายมากขึ้น สร้างคุณค่าใหม่ๆ ทั้งที่มาจากส่วนเดิมแล้วก็ส่วนที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้นครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @lalalalisa_m
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่