รู้หรือไม่ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านบน มีดีอย่างไร ?


·      สภาพภูมิประเทศ
มีสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม มีทรัพยากรระบบนิเวศหลากหลาย 
ชายหาดที่สวยงาม พรุป่าสันทราย นา สวนดุซง คลองปะเสยะวอซึ่งมี ความสำคัญและมีสภาพนิเวศที่สวยงามประกอบกับมีประวัติศาสตร์มากมาย

·      การบุกเบิก ค้นพบ
ตำบลปะเสยะวอจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยใดไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด มีข้อมูลจากหลายชั่วอายุคนกล่าวความเป็นมาของตำบลปะเสยะวอว่า มาจากรากคำว่า ปะเสปลาฆอ แปลเป็นมลายูว่า ทรายชนกัน และเป็นที่มาของหมู่บ้านปะเสยะวอ (หมู่ที่ 3) ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสายบุรีไหลผ่านกับคลองทุ่งเค็จมาชนกัน เกิดเป็นสันทรายจากแม่น้ำพัดทรายมาชนกัน เรียกว่า ปะเสปลาฆอ ต่อมาการเรียกชื่อได้ผิดเพี้ยนมาเป็น ปะเสยะวอ ประชาชนในปะเสยะวอส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และก่อนที่จะมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวนั้น การทำกิจกรรมในพื้นที่จะเป็นไปในลักษณะธุรกิจส่วนบุคคล ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังไม่ได้รับโอกาส และไม่ได้มีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชนโดยรวม จึงมีการพัฒนากิจกรรมตามบริบทวิถีชีวิตของชุมชนขึ้นมา เกิดเป็นกลุ่มต่าง ๆ และเป็นที่มาของเครือข่ายฐานการเรียนรู้ในตำบลปะเสยะวอ ซัมปลีมอโฮมสเตย์ จึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่จะให้เป็นศูนย์กลางการกระจายรายได้สู่กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน ทำแพคเกจการท่องเที่ยวให้ครบวงจร มีที่พักสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านบน ตำบลปะเสยะวอ นอกจากหาดซัมปลีมอแล้ว บ้านบน ยังเป็นที่ตั้งของสุเหร่าไม้กำปงอะตัส ซึ่งเป็นสุเหร่าไม้แบบโบราณที่มีอายุมากกว่า 70 ปี

·      ประโยชน์ของแหล่งฯ ต่อชุมชน
การค้นพบถึงศักยภาพของชุมชน ทำให้เกิดการตระหนักและนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลปะเสยะวอ ได้ร่วมกับกลุ่มองค์กร เอกชนในพื้นที่ยกระดับจุดเด่นของตำบล ที่นำไปสู่การพัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ คือ “ปะเสยะวอ เมืองงาม 3 วัฒนธรรม เลิศล้ำเศรษฐกิจ แหล่งเรียนรู้ 7 ฐานชุมชน” การพัฒนาอย่างมีเป้าหมายของตำบล คือการพัฒนากลุ่มอาชีพที่มั่งคง สามารถเป็นที่พึ่งให้กับคนในชุมชนในด้านการพัฒนาอาชีพและชุมชนได้ และมีความร่วมมือของหน่วยงานที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมผ่านแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1.แผนด้านการอนุรักษ์ ทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.แผนส่งเสริมและอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒน ธรรม อันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น 3.แผนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของคนและชุมชนให้เข้มแข็ง  และสามารถพึ่งพาตนเองได้ 4.ส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ  มีรายได้เพิ่มขึ้น
 
 
·      การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว
การจัดการท่องเที่ยวชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนตำบลปะเสยะวอ มีเตรียมความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวชุมชน การวิเคราะห์จุดเด่น ศักยภาพพื้นที่ ปัญหาและอุปสรรคการทำงานชุมชนที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ตำบลปะเสยะวอสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาคการท่องเที่ยวในภาพรวม ซึ่งตำบลปะเสยะวอเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความพร้อมและศักยภาพในด้านต่างๆ (ทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ
และวัฒนธรรม)
การทบทวนบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาทำให้มีข้อมูลชุมชนที่แสดงความสัมพันธ์ของทรัพยากรชุมชน คุณค่าและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่สำหรับรองรับการท่องเที่ยวชุมชนในอนาคต  นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมสถานที่เรียนรู้ในฐานเรียนรู้ประจำฐานเรียนรู้ โดยมีสมาชิกสภาช่วยกันเตรียมป้ายประชาสัมพันธ์ในฐานต่างๆ โดยใช้โมเดลการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนตำบล  ปะเสยะวอ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้นำชุมชน แกนนำต่างๆและหน่วยงานทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ มาท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลปะเสยะวอ มีการแสดงสินค้าของกลุ่มหรือฐานเรียนรู้แก่กลุ่มที่มาท่องเที่ยวเกิดการขายสินค้าที่มาจากชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ใช้สอย เป็นต้น

·      สถานที่น่าสนใจ
หมู่บ้านประมงพื้นบ้าน บ้านปะตาบาระ
หมู่บ้านช่างศิลป์ต่อเรือกอและ บ้านปะเสยะวอ
ครัวกำปง และ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการเกษตร และร้านค้าลอยฟ้า บ้านทุ่งเค็จ
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียง บ้านบาเลาะ
กลุ่มทำขนมจีนมลายู (ละซอ ละแซ)   หาดซัมปลีมอ

·      กิจกรรมที่ห้ามพลาด
มาชมวิถีชุมชน ชมภูมิปัญญาเลื่องชื่อ. ชมการผลิตน้ำบูดู. การเขียนลายเรือกอและ  
การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางทะเล  ชมวิถีชาวเล ชิมอาหารพื้นถิ่น. บูดูรสเด็ด

·      ระเบียบปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว
1. นักท่องเที่ยวควรเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง โดยศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวโดยชุมชน 
2. นักท่องเที่ยวควรเลือกใช้บริการผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
3. นักท่องเที่ยวควรประสานงานแจ้งชุมชนล่วงหน้าก่อนใช้บริการ
4. นักท่องเที่ยวควรทำความเข้าใจ ให้ความเคารพ 
5. นักท่องเที่ยวควรอุดหนุนสินค้าและบริการที่เป็นของชุมชนท้องถิ่น เช่น ของที่ระลึก อาหาร พาหนะเดินทางในท้องถิ่นของชุมชน เป็นต้น
6. นักท่องเที่ยวควรร่วมเรียนรู้วิถีชุมชนท้องถิ่นเพื่อเป็นการร่วมสร้างความภูมิใจและอนุรักษ์วิถีชุมชน
7. นักท่องเที่ยวควรสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน
8. นักท่องเที่ยวควรให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชน ไม่เอาเปรียบเด็ก สตรี คนชราและคนพิการ
9. นักท่องเที่ยวไม่ควรสนับสนุนการซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ขัดต่อกฎหมายหรือเป็นภัยต่อระบบนิเวศ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่