เห็นข่าวซาอุฯจะเปิดให้แรงงานไทยอีกครั้ง ยุคนี้จะฮิตมั๊ย?

ผมอ่านข่าววันก่อน ซาอุจะเปิดให้แรงงานไทยทำงาน ซึ่งเป็นผลจากการปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่มานึกดู    ยุคนี้คนไทยส่วนใหญ่ไปทำเกาหลีหรือไต้หวันมากกว่า ด้วยอิทธิพลทางวัฒนธรรมหรือเงื่อนไขวีซ่าที่เอื้อกว่า  และบางส่วนก็ไปทางยุโรป เก็บลูกราสเบอรี่หรืองานสปา

คุณว่า ยุคนี้ การไปขุดทองซาอุฯ ยังอยู่ในความสนใจของคนไืทยมั๊ย?

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
เรื่องแรงงานไทยจะฮิตไปทำงานที่ซาอุเหมือนในอดีตหรือเปล่านี่ ..... ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อยากจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานที่ซาอุดิอาระเบียไว้หน่อย เผื่อบางคนอาจจะยังยึดติดกับภาพเดิม ๆ  หรือว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับบางคน บางตำแหน่งงานก็ได้

ปัจจุบันนี้ ซาอุดิอาระเบียมีแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายราว 8-10 ล้านคน โดยแรงงานที่ถูกกฎหมายในขณะนี้มีอยู่ราว 7.7 ล้านคน เป็นมุสลิม 95% และคริสต์ 5%

ที่รัฐมนตรีแรงงานของไทยเปิดเผยว่าซาอุต้องการแรงงานถึง 8 ล้านคนนั้นไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลมาจากฝ่ายไหน ถ้าเป็นข้อมูลจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเอง คงจะหมายถึงจำนวนตลาดแรงงานต่างชาติที่กำลังทำงานอยู่ในซาอุดิอาระเบีย

แล้วซาอุจะยกเลิกสัญญาและขับไล่แรงงานต่างชาติอื่น ๆ ที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้ออกไปแล้วเอาแรงงานไทยเข้าไปทำงานแทนที่หรือเปล่า? ทั้ง ๆ ที่ค่าจ้างแรงงานไทยในระดับทักษะเดียวกันก็ไม่ได้ถูกกว่า เมื่อเทียบกับแรงงานจากชาติอื่น ๆ ที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้

ความจริงตลอดระยะเวลา 32 ปี ที่ซาอุแบนไม่ให้แรงงานไทยเข้าไปทำงาน ก็แทบจะไม่เคยเห็น ซาอุมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างชาติเลย เพราะอุปทานแรงงานต่างชาติจากทั่วโลกมีอยู่อย่างล้นเหลือเฟือ (Over Supply) ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือแรงงานมีฝีมือระดับไหน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตลอดไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่าง ๆ

โดยหลัก ๆ แล้ว แรงงานไร้ฝีมือ หรือฝีมือระดับพื้น ๆ ก็นำเข้าคนจากทวีปเอเชียซึ่งมีประชากรเป็นจำนวนมาก ฐานะยังยากจนอยู่ และว่างงานจำนวนมาก ส่วนแรงงานระดับกลาง ผู้บริหารระดับกลางก็ใช้คนจากประเทศอาหรับในตะวันออกกลาง ด้านผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่ชาวซาอุไม่ต้องการดำรงตำแหน่งเอง ก็นำเข้ามืออาชีพแรงงานจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ซึ่งก็สวนทางกับจำนวนคนว่างงานที่เป็นคนวัยหนุ่มสาวชาวซาอุนั้นมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ซึ่งเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ถึงขนาดสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้เลย
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ที่เคยได้ออกนโยบาย Saudization (Nitaqat) เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่

แต่มีงานหนึ่งที่สร้างปัญหาในการหาแรงงานให้ซาอุก็คือ หญิงทำงานบ้าน ทำความสะอาดบ้าน ซึ่งจัดอยู่กลุ่ม Domestic workers
ข้อมูลสถิติ Domestic workers ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020

สำหรับหญิงต่างชาติที่ไปทำงานบ้านในซาอุดิอาระเบียนั้น ก็มาจากหลายประเทศ เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย เคนยา โมรอคโค เนปาล ศรีลังกา เวียดนาม บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

จากจำนวนตำแหน่งงานหญิงทำงานบ้านราว 1.65 ล้านคน ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียต้องการ เทียบกับจำนวนประชากรกว่า 2 -3  พันล้านคน ของประชากรประเทศที่ส่งออกแรงงานประเภทนี้ไปยังซาอุนั้น ซาอุก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการหาแรงงานประเภทนี้

ซึ่งหญิงทำงานบ้านในซาอุที่ทำงานใหม่เพียง 1-4 ปีจะมีเงินเดือนรวมโบนัสคิดเป็นเงินไทยเฉลี่ยราว 7,900 บาทต่อเดือน (11,000 ริยัล/ปี) ถ้ามีประสบการณ์มากขึ้น ทำงานไปถึง 5-9 ปี ก็อาจจะได้เงินเดือนสูงสุดราว 17,500 บาท ซึ่งเงินเดือนระดับนี้ ก็ถือว่ามากสำหรับประเทศส่งออกแรงงานแม่บ้านในรายชื่อที่กล่าวมาข้างต้น

สิ่งที่ทำให้ซาอุหาแรงงานประเภทนี้ยากก็เพราะว่า มีการ กักขัง หน่วงเหนี่ยว ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ไม่มีเวลาพักผ่อน และวันหยุด ไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจ่ายต่ำกว่าที่ได้ตกลง รวมไปถึงการทำทารุณกรรม ทั้งร่างกายและจิตใจ จะด้วยวาจาหรือลงไม้ลงมือจากนายจ้างเอง ข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ ไปถึงขั้นทำร้ายลูกจ้างจนเสียชีวิต หรือ ลูกจ้างทนถูกทารุณกรรมไม่ไหวต้องฆ่าตัวตายเอง

โดยที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิจะต่อสู้อะไรได้เลยเพราะเสียเปรียบทุกอย่าง เมื่อเดินทางเข้าถึงประเทศซาอุแล้ว จากเงื่อนไขสัญญาจ้างที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง  ลูกจ้างถูกยึดพาสปอร์ต ไม่ให้มีโทรศัพท์ให้ใช้เพื่อที่จะได้สามารถติดต่อคนช่วยเหลือได้ ลูกจ้างไม่สามารถเดินทางเข้าหรือออกจากประเทศซาอุดิอาระเบียได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง ไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้

ลูกจ้างต่างชาติถ้าจำเป็นต้องขึ้นศาลซาอุ แทบทั้งหมดจะแพ้คดี เพราะไม่รู้ภาษาอาหรับ ไม่รู้กฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตให้หาล่ามหรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย และก็ไม่มีใครช่วย กว่าเรื่องจะรู้ถึงรัฐบาลของตนเองก็ใกล้ถูกประหารชีวิต หรือถูกประหารชีวิตไปแล้ว และรัฐบาลก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้เสียหาย หรือถูกใส่ความ และเท่าที่เคยเห็นมาก็ไม่เคยมีรัฐบาลของประเทศไหนสามารถช่วยคนงานของประเทศตนเอง ให้รอดพ้นจากโทษประหารของซาอุได้

ส่วนรัฐบาลซาอุก็เข้าข้างนายจ้างคนของประเทศตนเองและไม่สนใจทำตามสัญญานั้นด้วย ที่อ้างว่าได้มีการปฏิรูปกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับระบบสปอนเซอร์ หรือ kafala ใหม่ เมื่อปลายปี 2020 แล้วนั้น ก็มีผลแค่ในกระดาษ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง เนื่องจากระบบแบบเก่านั้นนายจ้างซาอุได้ประโยชน์จากการเอาเปรียบผู้ใช้แรงงงานต่างชาติ สามารถกดค่าแรงไว้ที่ต่ำ ๆ ได้

อีกทั้งการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับระบบสปอนเซอร์ครั้งนี้ ก็ไม่มีผลบังคับใช้กับแรงงานที่ทำงานบ้าน ถ้าแรงงานชาติไหนมีปัญหาดื้อไม่ยอมให้กดขี่ข่มเหงทำทารุณกรรม ซาอุก็ไปหาแรงงานจากชาติอื่นที่ไม่ประสีประสารายใหม่ ๆ มาทำงานทดแทนต่อไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ยอมแก้ปัญหาที่ต้นตอพฤติกรรมของนายจ้างชาวซาอุเอง

อันนี้เป็นข่าวตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับหญิงทำงานบ้านในซาอุจากบางประเทศ ซึ่งข่าวทำนองนี้ก็ดังกระฉ่อนในต่างประเทศ มีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ว่าแทบจะไม่เคยปรากฏบนสื่อไทยเลย หรือถึงมี ก็คงไม่มีใครสนใจอ่านหรือฟัง เพราะคนไทยไม่ได้มีความรู้สึกเดือดร้อนร่วมกับเรื่องพวกนี้ในตอนนั้นที่เป็นเรื่องไกลตัว

Uganda bans maids from working in Saudi Arabia
https://www.rfi.fr/en/africa/20160127-uganda-bans-maids-working-saudi-arabia

"I wanted to die": The 'hell' of kafala jobs in the Middle East - BBC Africa Eye documentary
https://www.youtube.com/watch?v=6CPCZAU47YQ

Bangladeshi domestic workers face physical and sexual abuse in Saudi Arabia
https://www.dw.com/en/bangladeshi-domestic-workers-face-physical-and-sexual-abuse-in-saudi-arabia/a-45401227

ประเทศที่ส่งออกแรงงานหญิงทำงานบ้านไปที่ซาอุนั้น เจอปัญหาอย่างนี้ทุกประเทศ รัฐบาลและประชาชนของพวกเขาก็รู้ดีอยู่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนในประเทศเหล่านั้นจะรู้สึกขยาดและหวั่นเกรง แต่ชีวิตของพวกเขาก็มีทางเลือกอะไรไม่มากนัก แทบจะไม่แตกต่างอะไรจากแรงงานต่างด้าวเพื่อนบ้านของไทยที่ดิ้นรนมาทำงานในไทย ก็ต้องเสี่ยงดวงกันไป

ประเทศเหล่านี้ก็ล้วนเคยได้เซ็น MOU ในการส่งแรงงานประเภทนี้เข้าไปทำงานที่ซาอุ อย่างที่ประเทศไทย โดยรัฐมนตรีแรงงานที่จะเดินทางไปลงนามในข้อตกลงที่ซาอุฯ ในวันที่ 28 มีนาคม

ทั้งนี้แรงงานทำงานบ้านที่จัดอยู่ในกลุ่ม Domestic workers นั้น ก็เป็นแรงงานหนึ่งในสองประเภท ที่ทางรัฐบาลไทยกำลังจะเซ็น MOU กับทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย และทางตัวแทนบริษัทจัดหางานของซาอุดิอาระเบียก็ได้เปิดเผยมาว่าต้องการแรงงานตำแหน่งแม่บ้าน คนทำความสะอาดราว 3 ล้านกว่าคน ดังนั้นการเปิดตลาดแรงงานไทยของซาอุดิอาระเบียนั้น คงมีความต้องการแรงงานแม่บ้านเร่งด่วนเป็นอันดับต้น ๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่