เชียงใหม่-เล่าเรื่องรอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุกและกระจก The Buddha's Footprint วัดพระสิงห์ราชวรมหาวิหาร


..........รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุก จากวัดพระสิงห์ราชวรมหาวิหารนี้ มีจารึกด้านหลังระบุปีที่ซ่อม พุทธศักราช 2337 
จากรูปแบบศิลปกรรมและอักขระที่ปรากฏด้านหน้าบ่งบอกอายุสมัยแรกสร้างอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 20 รัชกาลพญาติโลกราช 
นับเป็นงานพุทธศิลปกรรมชิ้นเอกที่สมบูรณ์ตามคตินิยมไตรภูมิโลกสัณฐาน 
และการประดับสัญลักษณ์มงคล 108 ตามวรรณกรรมไตรภูมิกถาของอาณาจักรสุโขทัย

..........รอยพระพุทธบาทนี้ซ้อนกันอยู่ 4 รอย 
แต่ละรอยมีจารึกพระนามพระพุทธเจ้าผู้ประทับรอยนั้น ๆ ที่ขอบล่างของส้นพระบาท 
คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระมหากัสสปะ และพระศรีศากยมุนี

..........ส่วนบนของรอยพระพุทธบาทนี้ เป็นนิ้วพระบาท 5 นิ้วเรียงเท่ากัน ทุกนิ้วพระบาทมีลายเส้นวงก้นหอยที่วนเวียนต่อเนื่องกัน 
หนึ่งในลักษณะมหาบุรุษตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ เป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธองค์ผู้ครบถ้วนด้วยลักษณะแห่งมหาบุรุษ

..........ส่วนกลางของรอยพระพุทธบาท 
เป็นรูปธรรมจักร และสัญลักษณ์มงคล 108 ที่ถูกจัดวางเป็นระเบียบ ตามตำแหน่งอันถูกต้องตามศักดิ์และความสำคัญ 
ทำให้เกิดภาพรวมเป็นแผนผังจักรวาลในมุมสูง อันมีโสฬสพรหมโลก 
เช่น ชั้นอกนิษฐพรหมอยู่ด้านบนสุดใต้แนวแถวนิ้วพระบาท ลดหลั่นลงมาคือพรหมโลก ชั้นรอง และเทวโลก 
อันประกอบด้วยแดนฉกามาพจร คือ ปรินิมมิตวสวดี นิมมานนรดี ยามา ดุสิต ดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิก 
ดาวดึงส์นั้นตั้งอยู่บนยอดประธาน จาตุมหาราชิกอยู่บนยอดรอง 4 ยอดของเขาพระสุเมรุ แกนกลางจักรวาลมีพระอาทิตย์ พระจันทร์โคจรอยู่รอบ 
พวกกึ่งเทวดา เช่น ครุฑ พระยกนกอันมีอานุภาพ กินนร และกินรี บินอยู่ในท้องฟ้าตามระดับอันสมควร

..........ส่วนล่างของรอยพระพุทธบาท เป็นฉากเขาพระสุเมรุในมุมตั้ง เขาพระสุเมรุนี้ตั้งอยู่ ณ ใจกลางโลกมนุษย์ 
คือ ชมพูทวีป อันมีสระอโนดาต พร้อมด้วยสายน้ำ 4 สายที่ไหลไปทุกทิศเป็นเครื่องหมาย ล้อมรอบด้วยเทือกเขา 7 ชั้น และมหาสมุทรทั้ง 7 แห่ง ขอบเขตสิ้นสุดที่แนวภูเขาจักรวาลสุดทางทุกทิศ
..........เขาพระสุเมรุระดับพื้นดินอันเป็นใจกลางของโลกมนุษย์ เป็นที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิ 
แวดล้อมด้วยรัตนะทั้ง 7 เครื่องสูงประดับบารมี ทวีปอีก 3 แห่ง อันเป็นส่วนประกอบของโลก จะมีมนุษย์ปรากฏอยู่รอบชมพูทวีป 
สัตว์น้ำอันมีอำนาจเวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรทั้ง 7 ที่ล้อมรอบโลกท่ามกลางดอกไม้น้ำ อันแสดงถึงธาตุแห่งความอุดมสมบูรณ์ในห้วงน้ำเหล่านั้น
..........แผนผังนี้เป็นสุคติภูมิในจักรวาล อันภูมิต่ำที่สุด คือ แดนมนุษย์ ประกอบด้วย แผ่นดิน มหาสมุทร และสิ่งดีของดีมีมงคลในแดนนั้น 
ระบบการจัดแผนผังสัญลักษณ์มงคลในมิติรูปตั้งบนรอยพระพุทธบาทนี้ เป็นที่นิยมทำมากที่สุดในประเทศไทยสมัยต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
.......................................................................

..........รอยพระพุทธบาทที่ปรากฏในปัจจุบันมี 2 ประเภท 
คือ รอยพระพุทธบาทบนแผ่นดินในป่าเขา หรือรูปรอยพระพุทธบาทที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัสดุต่าง ๆ 
ตามความเชื่อว่าเป็นรูปรอยประทับพระบาทของพระพุทธเจ้า 
เป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรเคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนประเภท "บริโภคเจดีย์" หรือ "บริโภคเจดีย์โดยสมมุติ" 
หมายถึงอนุสรณ์สถานที่พระพุทธองค์เคยประทับเคยเสด็จฯ ถึง

..........รอยพระพุทธบาทอีกประเภทหนึ่งคือ รูปพระบาท สัญลักษณ์รูปเคารพแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการทำรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปมนุษย์ 
รอยพระบาทนี้จัดเป็นสิ่งที่ควรเคารพบูชาประเภท "อุเทสิกะเจดีย์"
..........ความเชื่อเรื่อง "รอยเท้า" ว่าเป็นรูปรอยที่เทพเจ้าหรือศาสดาประทับลงในโลก หรือ ณ ที่แห่งใดที่เสด็จไปถึงนั้น มีอยู่ในทุกอารยธรรมของโลก 
ในพุทธศาสนากล่าวถึงครั้งพระพุทธเจ้าประสูติในโลกมนุษย์ ได้ก้าวย่างพระบาทไปบนพื้นธรณี 7 ก้าว 
เสมือนการประกาศอำนาจสิทธิ์ขาดของพระองค์ในทิศทั้งเจ็ดที่ประกอบขึ้นเป็นจักรวาล ภายหลังยังได้ทรงเหยียบพื้นธรณีเป็นรอยพระพุทธบาทต่อหน้าบุคคลสำคัญ 
เพื่อแสดงการเสด็จฯถึง พร้อมกับการสถิตอยู่ของพุทธศาสนาในแว่นแคว้นต่าง ๆ ให้ปรากฏอยู่ชั่วนิรันดร์กาล

........................................................................
ศิลปะล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 21
บูรณะพุทธศักราช 2337 โดยพระเจ้ากาวิละและพระราชวงศ์เป็นผู้อุปถัมภ์
พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ให้ยืมจัดแสดง
.........................................................................

อมยิ้ม01หมายเหตุ
สาเหตุที่พยายามเล่ารายละเอียดต่างๆ ก็เพราะว่า ผมเห็นคนที่มาเที่ยวเชียงใหม่
มักจะเน้นไปวัดถ่ายรูปวัด แล้วจบลงแค่นั้น แต่น้อยคนนัก ที่จะท่องเที่ยวแล้วหารายละเอียดประกอบสถานที่ที่ไปท่องเที่ยว

ทำให้รู้สึกเสียดายคุณค่าของสองข้างทางที่เราเดินทางผ่านไป จึงนำรายละเอียดมาเสริมเป็นกระทู้
เพราะหากเขียนเสริมในใต้โพส ก็คงอ่านข้ามไปเท่านั้นเองครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่