ตรวจสุขภาพทุกปี ปีนี้ไม่ (ส่องกล้อง) ได้มั้ย???

ตรวจสุขภาพทุกปี ปีนี้ไม่ (ส่องกล้อง) ได้มั้ย??? 
     สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันหันมาให้ความสนใจเป็นอันดับหนึ่งก็คือ การดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกายที่กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว รวมถึงการรับประทานอาหาร หลายคนก็เลือกที่จะรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งอาหารคลีน คีโต หรือแม้แต่การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช
     แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ 😮 หลายๆ คนกลับเลือกที่จะไม่ตรวจสุขภาพประจำปี เพราะคิดว่าดูแลตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว  ซึ่งจากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในเดือน ต.ค. 2559 พบว่า มีคนที่คิดว่าตัวเองสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง และไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจสุขภาพประจำปีมากถึง 59% โดยมีเพียง 2% เท่านั้น ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 
     แล้วทำไมเราถึงต้องตรวจสุขภาพทุกปี❓ การตรวจสุขภาพประจำปีมีข้อดีอย่างไร และมีอะไรบ้างที่เราควรจะตรวจและต้องตรวจ พี่หมอไปรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาไว้ตรงนี้แล้วครับ

ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี 
     กุญแจสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีก็คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การอยู่ในอยู่ในที่ๆ มีอากาศบริสุทธิ์ และการทำจิตใจให้ร่าเริง แจ่มใส แต่ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบันประกอบกับเทคโนโลที่ทันสมัย ทำให้ร่างกายมีการขยับเขยื้อนน้อยลง กินนอนไม่เป็นเวลา บวกกับความเครียดสะสม เนื่องมาจากการทำงาน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้าและมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ เป็นต้น 
     การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยคัดกรองโรคเบื้องต้น และช่วยตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรค รวมถึงอาการของโรคร้ายแรงในระยะเริ่มต้น เราทุกคนจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยที่ไม่ต้องรอให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายของเรา 
     นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปียังช่วยให้ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดโรค หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค รวมถึงช่วยลดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ 
อายุ 45 ปีขึ้นไป ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ☑️
     การตรวจสุขภาพประจำปีของแต่ละช่วงวัยมีโปรแกรมที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนผู้หญิง ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม และทั้งผู้หญิงผู้ชาย ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้อง ซึ่งมีการศึกษาพบว่า สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 
     นอกจากนี้ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการ ยังช่วยประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่งผลให้แพทย์สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่โรคจะลุกลาม 
     ข้อมูลสำคัญทางการแพทย์พบว่า ติ่งเนื้อขนาดเล็กชนิด adenoma บริเวณลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง ซึ่งมีโอกาสที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเวลา 3-5 ปี ได้มากถึง 90% ดังนั้น หากตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็กกว่า 1 ซม. แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี แต่หากพบติ่งเนื้อขนาดใหญ่กว่า 1 ซม. แนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 1-3 ปี สำหรับผู้ที่ไม่พบติ่งเนื้อ ควรกลับมาตรวจอีกครั้งในระยะเวลา 5-10 ปี 
     อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เนื่องจากมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน แนะนำให้นำอายุของคนในเครือญาติที่เป็นมะเร็งลบด้วย 10 จะเป็นอายุที่ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เช่น หากคุณพ่อเป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี ให้ลบออกด้วย 10 จะเหลือ 30 ดังนั้น ลูกๆ ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 30 ปี โดยที่ไม่ต้องรอให้มีอาการ 

การตรจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 🔎
     จากสถิติค่าเฉลี่ยทั่วไปของการตรวจพบติ่งเนื้อก่อนพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งอยู่ที่ 25% แต่ด้วยเทคนิค NBI (Narrow Band Image) ทำให้สามารถตรวจพบติ่งเนื้อได้แม่นยำขึ้นถึง 2 เท่า และมากขึ้นถึง 60% ซึ่งการตรวจพบติ่งเนื้อได้เร็วขึ้น จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดมีมากยิ่งขึ้น 
     นอกจากนี้ ยังมีเทคนิค EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) ซึ่งเป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (MIS: Minimal Invasive Surgery) ช่วยให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงและลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น ที่สำคัญ ไม่มีรอยแผลเป็นจากการผ่าตัด 
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องลำไส้ใหญ่  
     ก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือการส่องกล้องจำเป็นจะต้องพบแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อซักถามประวัติส่วนตัว จากนั้นแพทย์จะให้ข้อมูลการเตรียมตัวส่องกล้อง รวมถึงตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ และเมื่อผู้เข้าตรวจตกลงที่จะรับการส่องกล้องแล้ว พยาบาลจะนัดหมายเพื่อส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่อีกครั้ง โดยมีขั้นตอนในการเตรียมตัว ดังต่อไปนี้ 
    📌 ก่อนเข้ารับการส่องกล้องอย่างน้อย 6 ชม. จะต้องทำความสะอาดลำไส้โดยการงดน้ำและงดอาหาร
    📌 เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา รวมถึงยาที่รับประทานเป็นประจำ 
    📌 รับประทานยาระบาย เพื่อขับถ่ายลำไส้ให้สะอาด โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม.
    📌 แพทย์ให้ยานอนหลับ กรณีเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาจใช้วิธีดมยานอนหลับ ชนิดไม่รุนแรงและหมดฤทธิ์ได้เร็ว
    📌 แพทย์ใช้เวลาส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ประมาณ 20-30 นาที กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติ อาจใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที โดยรวมแล้วทั้งหมดใช้เวลาประมาณครึ่งวัน 

     แน่นอนว่าเราทุกคนต่างก็อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัย ซึ่งนอกจากการรับประทานอาหารที่มี
ประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำและไม่ควรมองข้ามก็คือ การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของเราไม่มีโรคร้ายซุกซ่อนอยู่ หรือถ้ามี คุณหมอก็จะได้ช่วยรักษาก่อนที่โรคจะลุกลาม
     และเมื่ออายุมากขึ้นก็ควรเพิ่มการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมตามวัย โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การตรวจสามารถทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และให้ผลที่แม่นยำ ที่สำคัญคือคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว 🩺🩺🩺
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่