สนมเอกสี่ทิศ สมัยอยุทธยา รับอิทธิพลมาจาก 4 พระชายาชั้นเอก จากจีนรึเปล่าครับ

พอดีนั่งดูซีรีย์ บูเช็คเทียน ภาค ฟ่าน ปิงปิง
พบว่ามีพระชายาชั้นเอก เด่นๆ 4 คน ซึ่งดูคล้ายๆ ของไทย

ไทย                                                       จีน
ท้าวอินทรสุเรนทร                                 กุ้ยเฟย
ท้าวศรีสุดาจันทร์                                   ซูเฟย    
ท้าวอินทรเทวี                                        เสียนเฟย
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์                                  เต๋อเฟย 

ไม่ทราบเราตั้งเองหรือรับอิทธิพลมาแล้วดันตรงกันพอดี
ซึ่งดูแล้ว สนมทั้ง 4 มีเสาค้ำและอำนาจสนับสนุน เกมการเมืองอยู่มาก
ซึ่งถือว่าสำคัญมากๆต่อพระมหากษัตริย์/ฮ่องเต้

ขอถามเพิ่มเติมอีกว่า 4 สนมนี้เป็นตำแหน่งที่กษัตริย์/ฮ่องเต้เรียกให้มาปรนนิบัติบ่อยสุดป่าวครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
"สนมเอกสี่ทิศ"  ที่กล่าวอ้างกันว่ามาจากราชวงศ์อู่ทอง สุพรรณภูมิ สุโขทัย ศรีธรรมาโศกราช  เป็นเพียงทฤษฎีของนักประวัติศาสตร์สมัยหลังเท่านั้นครับ    และชื่อเรียกนี้ก็ปรากฏแต่ในงานเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เท่านั้นครับ

ยังไม่พบหลักฐานว่าตำแหน่ง "นางท้าวพระสนมเอกทั้ง ๔" ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนจะต้องมาจากราชวงศ์ใดหรือมาจากรัฐใด   นอกจากนี้ยังเป็นการตีความโดยเอากรอบมโนทัศน์เรื่อง "ราชวงศ์" (Dynasty) แบบตะวันตกที่ถือวงศ์ข้างบิดาเป็นใหญ่มาใช้  ทั้งที่ชื่อราชวงศ์กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุทธยาล้วนเพิ่งถูกกำหนดขึ้นมาในสมัยหลังเพื่อให้สะดวกต่อการแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์เท่านั้น   ในสมัยอยุทธยาไม่เคยมีหลักฐานการแบ่งราชวงศ์เป็น อู่ทอง สุพรรณภูมิ สุโขทัย ศรีธรรมาโศกราช   อย่างในปัจจุบัน



เรื่องที่ว่ามาจากรัฐต่างๆ  พบหลักฐานแต่ตำแหน่ง "ศรีจุฬาลักษณ์" ที่สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับทางสุโขทัย เพราะพบหลักฐานในจารึกวัดบูรพารามว่าเป็นพระนามพระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งสุโขทัย  จึงมีการวิเคราะห์ว่าเมื่ออยุทธยาผนวกสุโขทัยไว้ในอำนาจได้จึงรับชื่อ "ศรีจุฬาลักษณ์" มาใช้เป็นเชตำแหน่งพระสนมเอก    แต่ อ.พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์ วิเคราะห์ว่าศรีจุฬาลักษณ์องค์นี้น่าจะเป็นเจ้านายอยุทธยาฝั่งสุพรรณภูมิที่มาอภิเษกสมรสกับกษัตริย์สุโขทัย  โดยพิจารณาจากพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองสมัยอยุทธยาตอนต้นที่เชื่อว่าศรีจุฬาลักษณ์องค์นี้สร้างถวายวัดบูรพารามไว้ ดังนั้นจึงยังหาข้อสรุปชัดเจนไม่ได้ว่าชื่อนี้จะมาจากรัฐใด

ส่วนอีกสามชื่อไม่ปรากฏหลักฐานการใช้งานในรัฐอื่นเลย  มีแต่การสันนิษฐานจากความหมายของชื่อทั้งสิ้น   เช่นสันนิษฐานว่า "อินทรเทวี" มาจากนครศรีธรรมราช  เพราะชื่อใกล้เคียงกับ "ขุนอินทรเทพ" หนึ่งในผู้ก่อการล้มขุนวรวงศาธิราช ซึ่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช" เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช  (แต่เมื่อตรวจสอบกับพระไอยการฉบับเก่าตำแหน่งนาพลเรือนสมัยอยุทธยาพบว่า 'เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช' เป็นตำแหน่งเจ้าเมืองสุโขทัย   และข้อความในพระราชพงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ที่อ้างว่าขุนอินทรเทพได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมก็เพิ่งถูกเขียนเพิ่มเติมมาในฉบับที่ชำระครั้งหลังๆ)

เรื่องทฤษฎีว่ารับเจ้านายจากนครศรีธรรมราชมาเป็นสนมก็ยังน่าสงสัย เพราะแทบไม่ปรากฏหลักฐานการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของนครศรีธรรมราชในสมัยอยุทธยาเลย  ต่างจากเจ้าเมืองเหนือของรัฐสุโขทัยเดิม ๔ เมืองคือ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย (สวรรคโลก) สุโขทัย กำแพงเพชร ที่ปรากฏหลักฐานความสัมพันธ์เด่นชัดกว่ามาก และยังพบว่า ๔ เมืองนี้ยังเป็นเมืองสำคัญระดับสูงของอยุทธยามาจนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นอย่างน้อย  



พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนระบุว่า "นางท้าวพระสนมเอกทั้ง ๔" มีศักดินาเพียง ๑๐๐๐ ไร่   เท่าตำแหน่ง แม่เจ้า แม่นาง   ที่เป็นตำแหน่งสตรีชั้นสูงในสมัยอยุทธยาตอนต้น เช่น  "แม่นางเจ้าเมือง" เข้าใจว่าคือภรรยาเจ้าเมือง   ภรรยาขุนนางเช่น แม่นางพระ แม่นางใส แม่นางบุตรี แม่นางสน แม่นางอัคราช แม่นางคงราช   บุตรีขุนนางเช่น แม่นางกองแพงบุตรีขุนเทพสงครามเจ้าเมืองจันทบูร   จารึกลานทองตะนาวศรี ๓ พ.ศ. ๒๐๐๘ กล่าวถึง "แม่นางอัครราช" ได้เลื่อนเป็น "แม่นางเมืองศรีอัครราช" สันนิษฐานว่าเป็นภรรยา "ขุนศรีอัครราช" ในจารึกลานทองตะนาวศรี ๒ พ.ศ. ๒๐๐๖)   พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับปลีกในสมัยเจ้าสามพญากล่าวถึง "แม่นางษาขา" ผู้เป็นพระราชมารดานางพญาพระมเหสีของเจ้าสามพญาและพระมหาธรรมราชา (บรมปาล)

ศักดินานางท้าวพระสนมเอกทั้ง ๔ ยังเท่ากับท้าววรจันทร์สมเด็จพระพี่เลี้ยง กับท้าวนางสนองพระโอษฐ์ทั้ง ๔   การลำดับตำแหน่งอยู่หลังท้าววรจันทร์     เข้าใจว่ามีสถานะต่ำกว่าพระภรรยาเจ้าของกษัตริย์ที่เป็นลูกหลวงหลานหลวงเพราะมีศักดินาต่ำกว่ามาก โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๑๕๐๐๐  พระเจ้าลูกเธอและสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ๖๐๐๐  พระเจ้าหลานเธอ ๔๐๐๐   ยังต่ำหม่อมเจ้าศักดินา ๑๕๐๐  แต่เท่าเจ้าราชนิกุลศักดินา ๑๐๐๐  

ดังนั้นหากนางท้าวพระสนมเอกทั้ง ๔ มีเชื้อเจ้าจากรัฐต่างๆ จริง คงเป็นเพียงเชื้อพระวงศ์หรือราชนิกุลห่างๆ เท่านั้น เทียบกับพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงหลานหลวงไม่ได้   และน่าจะเป็นเพียงชั้นพระสนมเท่านั้น


เห็นได้จากกฎมณเฑียรบาลมาตรา ๓ ที่ลำดับสถานะของพระราชกุมารที่เกิดกับพระภรรยาเจ้าและพระสนมว่า

       "ฝ่ายพระราชกุมารเกิดด้วยพระอัคมเหษีคือสมเดจ์หน่อพุทธเจ้า อันเกิดด้วยแม่หยัวเมืองเปนพระมหาอุปราช เกิดด้วยลูกหลวงกินเมืองเอก เกิดด้วยหลานหลวงกินเมืองโท เกิดด้วยพระสนมเปนพระเยาวราช""  


แต่พระสนมเอกทั้ง ๔ สามารถเลื่อนศักดิ์สูงขึ้นได้  ดังที่พบว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชมีสถานะเป็นถึง "แม่หยัว" หรือ "แม่อยู่หัว" ครับ


กฎมณเฑียรบาลกล่าวถึงตำแหน่ง  "แม่หยัวเมือง" หรือ "แม่หยัวเจ้าเมือง" ว่าเป็นตำแหน่งพระภรรยาระดับรอง  เช่นมาตรา ๓ ที่ระบุว่ารองลงมาจากพระอัครมเหสี  แต่สูงกว่าพระภรรยาที่เป็นลูกหลวงหลานหลวง  มาตรา ๓ ยังระบุสถานะของลูกที่เกิดมาว่า  "ถ้าเสดจ์ด้วยพระราชทยานลูกอัคมเหษีลูกพระอัคชายาลูกแม่หยัวเมืองลูกหลวงนั่งบนราชทยานด้วย ลูกหลานหลวงลูกพระสนมนั่งหลั่นลงหน้าหลัง"

การมีคำว่า "เมือง" ต่อท้าย   เป็นไปได้ว่าตำแหน่งนี้อาจเป็นเชื้อสายวงศ์ต่างรัฐต่างๆ  จึงมีการตั้งสมมติฐานว่าพระสนมเอกทั้ง ๔ จากรัฐต่างๆ หากประสูติพระราชโอรสอาจจะได้เลื่อนขึ้นเป็น "แม่หยัวเมือง"


ในกรณีของท้าวศรีสุดาจันทร์  สันนิษฐานว่าเดิมคงแค่พระสนมเอกไม่ได้เป็นพระราชวงศ์ใกล้ชิด  แต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชอาจไม่มีหรือไม่ได้สถาปนาพระราชวงศ์เป็นพระอัครมเหสี หรือพระอัครมเหสีไม่มีพระโอรส  ในขณะที่ท้าวศรีสุดาจันทร์สามารถประสูติพระราชโอรสถึง ๒ พระองค์คือสมเด็จพระยอดฟ้าและพระศรีสิน  จึงทำให้สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงสถาปนาท้าวศรีสุดาจันทร์เป็น "แม่หยัวเมือง" หรือ "แม่อยู่หัวเมือง"  ให้มีศักดิ์เป็นพระมเหสีรองลงมาจากพระอัครมเหสี    แต่ในทางปฏิบัติอาจจะมีอำนาจสูงสุดในฝ่ายในเวลานั้นไม่ต่างจากพระอัครมเหสี พระราชพงศาวดารเรียกว่า "นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์"  เรียกโดยย่อว่า "นางพระยา"


มาพิจารณากฎมณเฑียรบาลมาตราอื่นต่อไป

มาตรา ๑๑๓ กล่าวถึงตำแหน่ง "สมเดจ์พระอรรคมเหษี แลพระอรรคชายา แลแม่หยัวเจ้าเมืองชแม่ชเจ้าพระสนมทังปวง"

มาตรา ๑๑๗ กล่าวถึงตำแหน่งภรรยาของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งหลังเสร็จพระราชานุกิจว่า "พระสนมเอางานพระศรีสุธาพัชนี ถัดมาสมเดจ์พระภรรยาเจ้าทังสองเจียมขลิบเบาะกำมหญี่ ๗ ลิ้น ถัดนั้นแม่หยัวเจ้าทังสองพระราชเทวีพระอรรคชายาเบาะ ๓ ลิ้น"

มาตรา ๑๓๑ งานเลี้ยงดอกไม้วงมงคล ระบุว่า "สมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้าแต่งกระแจะแป้งดอกไม้ พระภรรยาเจ้าแต่งหมาก พระราชกุมารพระราชนัดดาแม่หยัวเจ้าเมืองแต่งหมาก ลูกขุนสนองพระโอษฐแต่งสำรับพระราชกุมาร"


มาตรา ๑๓๕ การพระราชพิธีเบาะพก  กล่าวถึงลำดับตำหนักเจ้าฝ่ายในว่า  "อนึ่งดำหนักสมเดจ์พระอรรคมเหษีพระภรรยา อนึ่งดำหนักแม่หยัวเจ้าเมืองทัง ๒  อนึ่งเรือนหลังลูกเธอหลังหลานเธอพระสนมอยู่"

กล่าวถึงเครื่องยศเศวตฉัตรของเจ้าฝ่ายในแต่ละตำแหน่งว่า  "สมเดจ์พระอรรคมเหษี ๕ ชั้น ๔ ชั้น ๓ ชั้น กลึ้งแลพรหม ๑๖   เมียนา ๑๐๐๐๐ เอกแลนา ๕๐๐๐ เอกสนองพระโอษฐเดีรหน้า พระภรรยาเจ้า ๓ ชั้น ๒ ชั้น กลึ้งแลพรหม ๘  เมียนา ๕๐๐๐ แลออกเจ้าเดียรหน้า แม่หยัวเจ้าเมืองซ้ายขวา ๒ ชั้นแลบัวหงาย กลึ้งแลพรหม ๘   เมียนา ๓๐๐๐ แลชแม่แก่เดีรหน้า "

กล่าวถึงลำดับในพิธีว่า "สมเดจ์พระอรรคมเหษีเจ้า แล้วจึ่งพระภรรยาเจ้า จึ่งแม่หยัวเจ้าเมืองซ้ายขวา"


มาตรา ๑๓๘  "สมเดจ์พระอัรคมเหษีสมโพทกึ่ง สมเดจ์พระภรรยาสมโพทถึ่ง แม่หยัวเมืองกึ่ง ลูกเธอกึ่ง หลานเธอกึ่ง พระสนมกึ่ง โดยอันดับลงมา"


จากมาตราเหล่านี้จะเห็นได้ว่า "แม่หยัวเมือง" ต่ำกว่าสมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระภรรยาเจ้า (สมัยนั้นน่าจะเป็นเพียงชื่อยศชั้นหนึ่ง ไม่ได้มีความหมายเหมือนปัจจุบันที่หมายถึง 'ภรรยาของพระเจ้าแผ่นดินที่ชาติกำเนิดเป็นเจ้า' ประเด็นนี้ผมเคยตอบไว้ในกระทู้นี้ https://ppantip.com/topic/39471772) แต่สูงกว่าพระภรรยาชั้นลูกหลวงหลานหลวง มีเครื่องยศนั่งเบาะ ๓ ลิ้นเท่าพระราชเทวี พระอรรคชายา


บางมาตรากล่าวถึงตำแหน่งมเหสีและภรรยาเจ้าชั้นอื่นโดยไม่กล่าวถึง "แม่หยัวเมือง"  เช่น มาตรา ๑๒๐ ที่กล่าวถึงเครื่องยศของเจ้านายฝ่ายในว่า

          พระอรรคมเหษีพระ[อรรคราชเทวี]ธรงราโชประโภค มีมงกุฎ เกีอกทอง อภิรม ๓ ชั้น พระราชยานมีจำลอง

          พระราชเทวีพระอรรคชายาธรงราโชประโภค ลดมงกุฎ ธรงพระมาลามวยหางหงษ เกีอกกำมหญี่สักหลาด มีอภิรม ๒ ชั้น เทวียานมมกรชู

          ลูกเธอเอกโทธรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภคลายทอง

          หลานเธอเอกโทใส่เศียรเพศมวยกลม เสื้อโภคดารากรเลว

          แม่เจ้าสนองพระโอษฐใส่สนองเกล้า เสื้อแพรพรรณ

          ชแม่หนูนยิกใส่เกี้ยวดอกไม้ไหวแซม

          นางกำนัลนางระบำนายเรือนหนูนยิกเกี้ยวแซม

มาตรา ๑๒๘ พระราชพิธีอาสยุช ระบุว่า "สมเดจ์พระอรรคมเหษีพระภรรยาธรงพระสุวรรณมาลานุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรคชายาธรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอธรงศิรเพศมวยธรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า"

แต่พิจารณาจากมาตรา ๑๑๗ ที่ระบุว่า "แม่หยัว" นั่งเบาะเหมือนพระราชเทวีและพระอรรคชายา จึงสันนิษฐานว่าคงมีเครื่องยศเหมือนกัน



ศัพทานุกรมภาษาจีน-อนารยประเทศ แผนกภาษาเซียนหลัว 《華夷譯語暹羅館》 ที่ทำขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (สันนิษฐานว่าทำขึ้นราวรัชศกว่านลี่ปีที่ ๗ หรือ ค.ศ. ๑๕๗๙/พ.ศ. ๒๑๒๒ รัชกาลสมเด็พระมหาธรรมราชา ที่มีการตั้งหอแปลภาษาเซียนหลัวขึ้นหรือหลังจากนั้น)  แปลตำแหน่ง หวงโฮ่ว (皇后-จักรพรรดินี) ของจักรพรรดิต้าหมิงว่า  "แมหวพยา" (แม่หัวพระยา)  เข้าใจว่ากร่อนมาจาก "แม่หยัวพระยา" หรือ "แม่อยู่หัวพระยา"         และแปลตำแหน่ง เฟย (妃) ซึ่งเป็นพระชายาของ หวัง (王) หรือกษัตริย์ ว่า "นางพละยา" (นางพระยา) คือพระมเหสี  

ในบริบทของอยุทธยาคงใช้คำว่า "แม่อยู่หัวพระยา" กับ "นางพระยา" เรียกพระมเหสีทั้งคู่  เพียงแต่ในที่นี้ต้องแปลคำว่าหวงโฮ่ว เลยใช้คำที่ดูสูงกว่า

มีการวิเคราะห์อยู่ว่า "แม่อยู่หัว" อาจจะมีสถานะเทียบเท่าพระอัครมเหสี    แต่ "แม่หยัวเมือง" หรือ "แม่อยู่หัวเมือง" ซึ่งมาจากรัฐอื่นมีสถานะรองลงมา


ส่วนตัวผมคิดว่าตำแหน่งพระสนมเอกทั้ง ๔ ไม่ได้ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงบทบาทสำคัญหรือมีสถานะสูงเท่าไหร่นัก  นอกจากว่าจะได้เลื่อนขึ้นเป็น "แม่อยู่หัวนางพระยา" อย่างท้าวศรีสุดาจันทร์ที่สามารถควบคุมราชสำนักไว้ในอำนาจได้ครับ



ไม่ปรากฏว่าตำแหน่งสนมเอกทั้ง ๔ ของอยุทธยาจะมีความเชื่อมโยงกับยศฝ่ายในของจีนแต่อย่างใดครับ  นอกจากนี้ในสมัยราชวงศ์หมิงที่ร่วมสมัยกับอยุทธยาก็มีรูปแบบไม่เหมือนราชวงศ์ถังที่อยู่ห่างจากสมัยอยุทธยามาก   โดยยศสูงสุดคือ หวงโฮ่ว (皇后)  รองลงมาคือกุ้ยเฟย (貴妃)  ถัดมาเป็นเฟย (妃)  มีคำนำหน้าตำแหน่งเฟยก็มีจำนวนมากได้แก่ เสียน (贤)  ซู (淑)  จวง (庄)  จิ้ง (敬)  ฮุ่ย (惠)  ซุ่น (顺)  คัง (康)  หนิง (宁)  
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่