ตำแหน่งแม่หยัวเมือง (สนมเอก 4 ทิศ) ในสมัยอยุธยา จัดเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นสูงได้มั้ยคะ

ตามหัวทู้เลยค่ะ เพราะในพระไอยการฯ ระบุไว้ว่า "พระราชกุมารที่เกิดจากแม่หยัวเมืองจะได้เป็นพระมหาอุปราช"
คือตำเเหน่งนี้จัดเป็นรองเเค่พระอัครมเหสีใช่ไหมคะ ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้าค่ะ 
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
- พระสนมสี่ทิศ สี่ราชวงศ์ เป็นเพียง "การสันนิษฐาน" ครับ ยังไม่ได้การรับรองว่าเป็นข้อมูลจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งบุคคลแรกที่สันนิษฐาน คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- ในพระไอยการฯ มีตำแหน่ง "พระอัครราชเทวี" "พระราชเทวีและพระอัครชายา" (สองตำแหน่งนี้เท่ากัน) ที่ต่ำกว่าพระอัครมเหสีแต่สูงกว่าแม่หยัว แต่ในพระไอยการฯ กลับไม่ได้ระบุตำแหน่งพระราชบุตรอันเกิดจากพระอัครราชเทวี พระราชเทวีและอัครชายาไว้ แต่เข้าใจว่า เป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระราชบุตรอันเกิดจากพระอัครมเหสี
- พระภรรยาเจ้าเมื่อดูจากเครื่องยศเป็นหลักแล้วพบว่าแต่ละตำแหน่งมีเครื่องยศที่ต่างกันมาก
      ๐ พระอัครเมหสี ประกอบด้วย เครื่องราโชปโภค มงกุฏ เกือกทอง อภิรม ๓ ชั้น พระราชยานมีจำลอง สหัสธาราเงิน มีข้าในกรมผู้ชายผู้หญิง มีพระที่นั่งออกโรง
     ๐ พระอัครราชเทวี ประกอบด้วย เครื่องราโชปโภค มงกุฏ เกือกทอง อภิรม ๓ ชั้น พระราชยานมีจำลอง
     ๐ พระราชเทวีและพระอัครชายา ประกอบด้วย เครื่องราโชปโภค ลดมงกุฏ (ชั้นนี้ไม่มีมงกุฏ) พระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่สักหลาด อภิรม ๒ ชั้น เทวีมีมกรชู
น่าแปลกที่พระไอยการไม่ได้กำหนดเครื่องยศของแม่หยัวเมืองไว้ แต่เข้าใจว่าเท่ากันกับพระอัครชายา
- ในพระไอยการฯ ระบุว่าโอรสอันเกิดแต่แม่หยัวเป็นพระมหาอุปราช นอกจากนี้ลูกอันเกิดจากแม่หยัวยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มเจ้านายชั้นเอก และมีอิสริยยศสูงกว่าพระราชบุตรที่เกิดจากลูกหลวง (เกิดจากพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง) ด้วย กล่าวคือ "...ลูกอัคมเหษี ลูกพระอัคชายา ลูกแม่หยัวเมือง ลูกหลวงนั่งบนราชทยานด้วย ลูกหลานหลวง (เกิดภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง) ลูกพระสนมนั่งหลั่นลงหน้าหลัง..." แสดงว่าแม่หยัวเมืองต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง (สูงกว่าลูกหลวงและหลานหลวงที่เป็นพระภรรยาเจ้า) อย่างแน่นอน
- พระอัครมเหสีของกษัตริย์สุโขทัย มักใช้พระนามว่า "สมเด็จพระมหาราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์" ซึ่งตรงกับพระสนมเอกหนึ่งในสี่ของอยุธยา คือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทำให้เข้าเค้ากับข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ที่บอกว่าตำแหน่งแม่หยัวเมืองใช้แทนตัวแทนจากราชวงศ์ แต่ก็ไใม่แน่ใจว่าจะมาจากราชวงศ์ทั้งสี่อย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่
- ปัญหาที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน คือ ตัวแทนจากราชวงศ์ทั้งสี่มีจริงหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่น่าจะมี "นครศรีธรรมราช" เพราะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีรับราชนิกูลจากนครศรีธรรมราชมาไว้ในราชสำนัก และนครศรีธรรมราชก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรในราชสำนักอยุธยา
- กษัตริย์อยุธยาเท่าที่ปรากฏหลักฐาน มีการเสกสมรสกับเจ้านายสตรีจากสุโขทัยเป็นหลัก โดยพระอัครมเหสีของกษัตริย์อยุธยาตอนต้นล้วนมาจากราชวงศ์สุโขทัยทั้งสิ้น และมีการรับเอาเจ้านายจากล้านช้างมาเป็นพระสนมอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ตำแหน่งแม่หยัวอาจจมีเจ้านายล้านช้างดำรงตำแหน่งนี้เช่นกัน
- คำว่าราชวงศ์ต่าง ๆ เพิ่งมากำหนดกันภายหลัง เพราะสมัยนั้นถือกันว่ากษัตริย์อยุธยาเป็นวงศ์เดียวกันหมด สืบมาแต่พญาแกรกด้วยกันทั้งหมดทุกพระองค์ (พญาแกรกเป็นวีรบุรุษในตำนานในอยุธยา) ในสมัยอยุธยามีการเรียกชิ่อวงศ์เพียงครั้งเดียว คือ การกล่าวถึงขุนพิเรนทรเทพว่าเป็น "วงศ์พระร่วง" แต่ก็ไม่ได้หมายถึงราชวงศ์อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่