มาดูกันว่าจังหวัดอุบลราชธานีในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีโปรเจคอะไรบ้าง

เอาข่าวการพัฒนาต่างจังหวัดมาแชร์ ได้ข้อมูลของจังหวัดอุบลราชธานีมาว่ามีโปรเจคอะไรอยู่บ้างตอนนี้ลองมาดูกัน

อุบลฯ กำลังทำอะไรตอนนี้ ?

01.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ดงอู่ผึ้ง แยก 231-23 (เปิดใช้ เม.ย. 2565)

02.โครงการก่อสร้างอุโมงค์วนารมย์ แยก 231-212 (เปิดใช้ เม.ย. 2565)

03.โครงการก่อสร้างแยกต่างระดับโนนหงส์ทอง (ก่อสร้าง 2565)

04.โครงการก่อสร้างแยกต่างระดับกุดลาด (ก่อสร้าง 2565)

05.โครงการก่อสร้าง/ขยายแยกต่างระดับบัวเทิง (ก่อสร้าง 2565)

06.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานอุบลฯ (กำลังดำเนินการก่อสร้าง 2564-2565)

07.โครงการขยายสนามบินอุบลราชธานี เพื่อรองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคน 4 โปรเจคท์คือ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (T2) และอาคารจอดรถ 5 ชั้น 500 คัน (กำหนดแล้วเสร็จปี 2567)

08.โครงการก่อสร้าง ทล.202 (ตัดใหม่) เขมราฐ-นาตาล (ก่อสร้าง 2565-2567) งบประมาณ 950 ล้านบาท

09.โครงการก่อสร้างแยกต่างระดับ ทล.202 จุดตัด ทล.2232 กุดข้าวปุ้น-หนองผือ-เขมราฐ (ก่อสร้าง 2565-2567)

10.โครงการก่อสร้างแยกต่างระดับ ทล.202 จุดตัด อบ.2050 ตระการพืชผล-เขมราฐ (ก่อสร้าง 2565-2567)

11.โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (ก่อสร้าง 2566-2568) งบประมาณ 4.7 พันล้านบาท

12.โครงการก่อสร้างแยกต่างระดับคำน้ำแซบ แยก 231-226 (ก่อสร้าง 2566-2568)

13.โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 231 (ก่อสร้าง 2567-2568)

14.โครงการถนนเลียบแม่น้ำมูล (เลี่ยงเมืองวงแหวนรอบใน ระยะทาง 20 km. เชื่อมฟากตะวันออก-ตะวันตก) อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

15.โครงการเมืองอุบลไร้สาย (ระยะที่ 2) ก่อสร้าง 2565-2566

16.โครงการรถไฟรางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางจิระ-อุบลฯ (อยู่ระหว่างการอนุมัติจาก ครม.)

17.โครงการมอเตอร์เวย์ กาญจนบุรี-อุบลราชธานี MR-MAP สาย M5 ระยะเร่งด่วน 440 กิโลเมตร นครราชสีมา-อุบลฯ ถูกบรรจุในแผนเร่งรัด 3 โครงการแรกปี 2565-2567

18.โครงการนิคมอุตสาหกรรม AEC อุบลราชธานี อ.เดชอุดม (อยู่ระหว่างการดำเนินการ)

19.โครงการส่วนต่อขยายถนน 24 (ตัดใหม่) เชื่อมต่อ ทล.217 เพื่อเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรม AEC อุบลฯ กับ ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร (เริ่มดำเนินการก่อสร้าง 2566-2568)

20.โครงการยกระดับด่านพรมแดนถาวรช่องอานม้า อ.น้ำยืน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการ

21.โครงการก่อสร้าง รพ.สินแพทย์อุบลราชธานี วงเงิน 2,500 ล้าน (ก่อสร้าง 2565-2567)

22.โครงการก่อสร้าง รพ.วารินอินเตอร์ (อยุ่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง)

23.โครงการก่อสร้าง Centara One Ubon (อยุ่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง)

24.โครงการ Renovate Central Plaza Ubon (2565-66)

25.โครงการ คอนโดข้าราชการ จ.อุบลฯ (ก่อสร้าง 2565-66)

26.โครงการก่อสร้างสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี เพื่อยกระดับการพัฒนา SME เมืองอุบลฯและภาคอีสาน (กำลังดำเนินการก่อสร้าง เปิด 2565)

27.โครงการคลองผันน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยเมืองอุบลฯ ของกรมชลประทาน ระยะทาง 97 กิโลเมตร งบประมาณ 45,000 ล้านบาท (เป็นอภิมหาโปรเจคที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอุบลฯในรอบ 200 ปี)

สำหรับโปรเจคยักษ์ใหญ่อย่างคลองผันน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยเมืองอุบลฯ ของกรมชลประทานก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราลองมาดูรายละเอียดคร่าวๆ กันก่อน

โปรเจคนี้จะทำการสร้างคลองผันนํ้ายาว 97 กิโลเมตร รับนํ้าจากบริเวณเขื่อนหัวนา อ.วารินชำราบ ลดยอดนํ้าในลำนํ้ามูลช่วงไหลผ่านชุมชนเมือง และระบายลงนํ้ามูลที่บริเวณท้ายแก่งสะพือ ผ่านทางห้วยกว้าง บ้านหนองเบ็น หมู่ที่ 1 ต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี


คลองผันนํ้าคู่ขนานลำนํ้ามูลนี้จะมีขนาดก้นคลองกว้าง 112 เมตร ลึก 9 เมตร มีอาคารประกอบคลองนํ้า และประตูระบายนํ้าเป็นระยะ มีศักยภาพระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที


เอกสารประกอบการปัจฉิมนิเทศของโครงการ : https://drive.google.com/file/d/12Qvo_vpEddULI0bGT3KQeb5maYI2t3k9/view?fbclid=IwAR19t9JnZhzEvrHGpUDJ9jzDezo3jjm6by4meCpN77fYLyMCSC5aiKSlS78

เนื่องด้วยเป็นโครงการใหญ่จึงมีผลกระทลบกับคนจำนวนมาก มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เหมือนกัน โดยให้เหตุผลดังนี้

1.การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดระยะเวลาศึกษาความเหมาะสม นับตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงการส่งมอบงานในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า มีการการสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่น้อยมาก จากข้อมูลที่เห็นในรายงานคือการการจัดเวทีปฐมนิเทศซึ่งก็จัดในโรงแรม หรือการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นการปรึกษากับผู้ใหญ่รายบุคคล และที่สำคัญคือการเข้าไปคุยกับผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 7 ซึ่งก็เป็นส่วนราชการในหน่วยงานเดียวกัน ที่ย่อมมองแนวทางเป็นไปในทางเดียวกัน หรือการเข้าไปคุยกับหัวหน้าส่วนราชการบางส่วนก็เป็นแค่การคุยกับคนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่

และถ้าจะบอกว่ามีการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่มีตัวแทนผู้นำและชาวบ้าน ก็เป็นเพียงกลุ่มคนหยิบมือเดียวที่ไม่สามารถเทียบเปอร์เซนต์ได้ด้วยซ้ำไป ที่สำคัญคือทุกคนยังไม่มีข้อมูลไม่เปิดโอกาสให้ทำการบ้านเพื่อนำมาแสดงความคิดเห็นในเวที ดังนั้นพอมาร่วมวงประชุมก็ไม่มีข้อมูลในการแลกเปลี่ยนกลายเป็นว่าต้องยอมจำนนต่อการรับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว (แบบงงๆ) ประกอบกับการจัดเวทีแต่ละครั้งใช้เวลาสั้นมากแค่ชั่วโมงกว่าๆ โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดเรื่องโควิด ยิ่งทำให้ไม่มีบรรยากาศในการแลกเปลี่ยน

และรวมทั้งการประชุมออนไลน์กับสื่อมวลชนเมื่อ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นการนำเสนอผ่านระบบซูมซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึง และผู้ร่วมประชุมส่วนมากไม่ใช่คนในพื้นที่และไม่ใช่คนที่จะได้รับผลกระทบ

2.ที่ผ่านมามีการส่งเจ้าหน้าที่ ที่อาจเป็นนักศึกษาหรือใครก็ตามที่เป็นลักษณะการจ้างมาเก็บข้อมูลเพื่อจดชื่อ ที่อยู่และเลขบัตรประชาชน และถามคำถามในลักษณะการจูงใจ เพื่อถามชาวบ้านเป็นรายบุคคลและหลายกรณีเป็นการถามคนแก่ที่อาจมีข้อมูลในการตัดสินใจน้อยหรือไม่รู้ว่าจะต้องตอบอย่างไร และที่สำคัญเป็นการสุ่มถามที่ไม่เป็นลักษณะเวทีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนให้มีบรรยากาศการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ดังนั้นจึงอาจมีข้อมูลไม่รอบด้าน

3. จริงๆในข้อมูลที่ออกแบบในเบื้องต้นมีข้อมูล แนวทางที่จะเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมี 4 แนวทาง คือ (1) การลอกคลองน้ำเดิมให้น้ำไหลสะดวกขึ้น (2) การระเบิดแก่งเพื่อจัดการเขื่อนธรรมชาติที่ขวางทางน้ำ (3) การจัดการพื้นที่รับน้ำ เช่น แก้มลิง หรือรูปแบบอื่นๆตามศักยภาพและความเหมาะสมในพื้นที่ (ซึ่งควรจะเป็นแนวทานี้มากที่สุด) และ (4) การสร้างคลองผันน้ำ (ที่คงไม่ใช่คลองแต่คือแม่น้ำเนื่องจากมีขนาดความกว้างรวมตลิ่ง 320 เมตร) จะเห็นว่าจริงๆมี 4 แนวทาง แต่ทำไมเจาะจงที่จะเอาแนวทางนี้ ซึ่งอาจมีคำตอบคือมันเป็นโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากกรมชลประทานถูกบังคับกลายๆว่าให้มีโปรเจกขนาดยักษ์ ที่จะได้มีเงินและแสดงถึงศักยภาพในการทำงาน

4. เราเห็นว่าแนวทางคลองผันน้ำน่าจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ทางการเกษตรที่จะเสียหายประมาณคร่าวๆ 8,000 กว่าไร่ เหล่านี้คืออู่ข้าวอู่น้ำของชาวบ้าน คือที่ดิน มูน มรดกของพวกเขากว่าจะได้มา บางคนเก็บเงินมาทั้งชีวิตกว่าจะได้ที่นา 10 ไร่ และมีหลายครอบครัวที่อาจจะต้องสูญเสียที่นาเป็นผืนเจ้าละ 30 ไร่ 40 ไร่ หรือบางเจ้า 70 ไร่ อยากให้ทุกท่านลองเปรียบเทียบมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสีย ซึ่งต้องเสียแล้วเสียเลย ไม่สามารถนำกลับมาได้ ต่อให้มีค่าเวนคืน แต่ชาวบ้านไม่อยากได้เงิน เพราะไม่รู้จะไปซื้อที่ใหม่ที่ไหน ใครเขาจะขายให้ในสภาวะแบบนี้ที่โควิดไล่คนกลับบ้านเพื่อมาฝากชีวิตในที่ทำกินซึ่งเป็นมรดกที่ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณ และเมื่อแลกกับพื้นที่น้ำท่วมในเมืองซึ่งมาคราวล่าสุดก็ปี 2562 ซึ่งเกิดความล้มเหลวของการจัดการ ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ยอมถอดบทเรียนว่าน้ำท่วมคราวนั้นมีปัญหามาจากจุดไหน ที่สำคัญคือการสื่อสารข้อมูล การจัดการบานประตูเขื่อนที่มีในหลายจุด และปัญหาอื่นๆ ซึ่งหน่วยงานรัฐอาจเลี่ยงความรับผิดชอบว่าเป็นอุบัติเหตุก็ได้ แต่สำคัญต้องเอาบทเรียนนั้นมาคุยไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการผุดโปรเจกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

5. ตลอดระยะเวลาหลังน้ำท่วมปี 2562 ในพื้นที่เมืองซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมหรือที่เรียกว่าที่ชุ่มน้ำ เช่น หนองกินเพล บ้านท่าบ้งมั่ง หาดวัดใต้ หาดสวนยา หาดสวนสุข ปทุม กุดลาด และรวมถึงพื้นที่ใต้แก่งสะพืออย่างตำบลกุดชมภู เหล่านี้ได้มีการทำวิจัยภายใต้การร่วมคิดกันของคนในพื้นที่ว่าเขาต้องมีการปรับตัวอย่างไร ชาวบ้านจะอยู่กับน้ำได้อย่างไร ซึ่งกำลังเป็นวิวัฒนาการของชุมชน ซึ่งจริงๆก็ไม่อยากปรับตัวหรอกแต่จำเป็น เนื่องจากการก่อสร้างตึกอาคารขาวงทางน้ำเดิม เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และถนน คำถามคือ ทำไม่ไม่จัดการกับนายทุนใหญ่ให้รับผิดชอบสังคม แต่กลับโยนขี้มาให้ชาวบ้านทั้งกลุ่มเมืองและชนบทที่ต้องทั้งปรับตัวและรับกรรมจากการที่จะต้องมาเสียที่ดินกับการสร้างแม่น้ำสายใหม่

6.กรณีน้ำท่วมที่ตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีเมื่อปี 2562 ที่จริงมวลน้ำในช่วงที่ท่วมคือเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน แล้วเริ่มลดวันที่ 10 กันยายน 2562 น้ำทุกหยดคือน้ำจากลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูลคือลำโดมใหญ่ เป็นการท่วมที่ไม่มีสาเหตุมาจากแม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำอื่นๆ จนกระทั่งน้ำเริ่มลด และหลังจากนั้นมวลน้ำจึงเริ่มไหลมาเติมและท่วมเขตเมืองอุบลราชธานี ประมาณวันที่ 13 กันยายน ซึ่งอย่างที่ว่าคือเกิดจากความชะล่าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อสังเกตคือ ถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเหมือนปี 2562 น้ำจะท่วมชุมชนไร่ใต้ในปีเดียว 2 ครั้งติดๆกัน คือน้ำจากลำน้ำสาขาคือลำโดมใหญ่ และน้ำจากแม่น้ำชีและมูลที่จะมากับคลองผันน้ำ ดังนั้น เราจึงรับไม่ได้ที่จะต้องเสียทั้งพื้นที่ทำกินให้กลายเป็นคลองน้ำ และเสียพื้นที่น้ำท่วมที่จะมากับคลองผันน้ำ หรือเราอาจเรียกชื่อใหม่ว่า “แม่น้ำผันน้ำ” เพราะมีความยาว 96 กิโลเมตร และกว้าง 320 เมตร ลึกอย่างน้อย 9 เมตร (มหึมามาก)

ก็ไม่รู้ว่าโปรเจคยักษ์อันนี้จะเป็นยังไงต่อไป

ข้อมูลจาก
- เพจ UBON NOW https://www.facebook.com/yourubonratchathani/posts/3067541520171293
- เพจ ไม่เอาผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบล https://www.facebook.com/102138432176627/posts/109120534811750/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่