ผู้เว้นยาพิษในโลก

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนถ้วยดื่มสำริดมีเครื่องดื่มใส่อยู่แล้วชนิดหนึ่ง๒
สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่ามียาพิษปนติดอยู่. ครั้งนั้น มีบุรุษ
ผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังร้อนจัด มีความร้อนระอุไปทั้งตัว เหน็ดเหนื่อย คอแห้ง
ระหายน้ำ มาถึงเข้า. คนทั้งหลาย บอกแก่บุรุษนั้นว่า “นี่แน่ท่านผู้เจริญ, ถ้วยดื่ม
สำริดใบนี้ มีเครื่องดื่มสมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส เปิดโอกาสสำหรับท่าน ;
แต่ว่ามันมียาพิษปนติดอยู่. ถ้าหากท่านต้องการดื่มก็ดื่มได้, เมื่อท่านกำลังดื่ม
จักติดใจมัน ด้วยสีของมันบ้าง ด้วยกลิ่นของมันบ้าง ด้วยรสของมันบ้าง ;
แต่ว่า ครั้นดื่มแล้ว ท่านจักถึงความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย เพราะเหตุ
นั้น” ดังนี้. 

ภิกษุทั้งหลาย ! ทีนั้น ความคิดก็จะพึงเกิดขึ้นแก่บุรุษนั้นว่าอย่างนี้ว่า
“ความกระหายในเครื่องดื่มเลิศรสปนพิษของเรานี้อาจจะดับเสียได้ ด้วยน้ำเย็น
หรือด้วยหางนมเปรี้ยว หรือด้วยเครื่องดื่มชื่อมัฏฐโลณิกะ๓ หรือด้วยเครื่องดื่ม
ชื่อโลณโสจิรกะ๔; เราไม่บังควรที่จะดื่มน้ำนั้น อันเป็นไปเพื่อทุกข์ไม่เป็นประโยชน์
เกื้อกูลแก่เรา ตลอดกาลนาน” ดังนี้. บุรุษนั้น ได้พิจารณาถ้วยดื่มสำริดนั้นแล้ว
ก็ไม่ดื่ม และวางเสีย, บุรุษนั้น จึงไม่ถึงความตาย หรือได้รับทุกข์เจียน
ตาย เพราะเหตุนั้น ฉันใด ;

ภิกษุทั้งหลาย ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ในกาลอดีตก็ตาม, ในกาล
อนาคตก็ตาม, ในกาลบัดนี้ก็ตาม, ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ได้เห็นสิ่งอันเป็นที่รัก
ที่สนิทใจในโลก โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็น
อนัตตา โดยความเป็นของเสียบแทง โดยความเป็นของน่ากลัว ; สมณะหรือ
พราหมณ์พวกนั้น ได้ละตัณหาเสียแล้ว. พวกใดได้ละตัณหาเสียแล้ว พวกนั้น
ได้ละอุปธิแล้ว. พวกใดได้ละอุปธิแล้ว พวกนั้น ได้ละทุกข์แล้ว. พวกใดได้
ละทุกข์แล้ว พวกนั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากความเกิด ความแก่ ความตาย
ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ;
เราตถาคต ย่อมกล่าวว่า “พวกเหล่านั้น ได้หลุดพ้นแล้วจากทุกข์” ดังนี้แล.

นิทาน. สํ. ๑๖/๑๓๕/๒๖๒
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่