โอมิครอน วายร้ายของเด็กเล็ก

โอมิครอน วายร้ายของเด็กเล็ก
 
     ดูเหมือนว่าโควิดจะไม่ได้หายไปจากโลกนี้ง่ายๆ เหมือนที่เราเคยคิดกันเอาไว้ซะแล้วนะครับ เนื่องจากเชื้อโรคยังมีการพัฒนาสายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ซึ่งสายพันธุ์ล่าสุดที่เรากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ก็คือ “โอมิครอน” นั่นเอง (ส่วนเดลตาครอน เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้นนะครับ สบายใจได้ 😂😂) 
     จุดเด่นของเชื้อโอมิครอนอยู่ที่ความรวดเร็วในการแพร่กระจาย เพราะเชื้อตัวนี้สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่นถึง 3-4 เท่า ซึ่งในต่างประเทศมีรายงานว่า อัตราการติดเชื้อของเด็กสูงขึ้นตามสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น (ส่วนในประเทศไทยผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อยังอยู่ในสัดส่วนเท่าเดิมคือ 10%) 
     และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กติดเชื้อโอมิครอนได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ก็อาจจะเป็นเรื่องของวัคซีน 💉 เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังลังเลว่า ควรจะให้ลูกๆ ฉีดวัคซีนหรือไม่ ฉีดไปแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร พี่หมอจึงไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิดสำหรับเด็กและเชื้อโอมิครอนมาให้ ซึ่งก็หวังว่าจะช่วยคลายความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ได้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ 
 
👉🏻 เด็กๆควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดหรือไม่ ถ้าไม่ฉีดแล้วติดเชื้อโอมิครอนจะมีอาการรุนแรงมั้ย 
     จริงๆ แล้วความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนสำหรับเด็กค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเทียบกับผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะดูเหมือนมีอาการรุนแรง เพราะผู้ใหญ่โดยมากหากฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อติดเชื้อ จึงไม่ค่อยมีอาการ  
     ดังนั้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มการติดเชื้อโอมิครอนในเด็กจะมีความรุนแรงไม่มาก แต่เด็กๆ ก็ยังจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนอยู่ เพราะวัคซีนช่วยควบคุมการแพร่ระบาดได้ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องไปโรงเรียน และสำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ ยิ่งจำเป็นต้องได้รับวัคซีน เพราะเด็กกลุ่มนี้ถ้าติดเชื้อจะทำให้มีอาการรุนแรงได้
 
👉🏻 วัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี จะเริ่มฉีดได้เมื่อไหร่ 
     วัคซีนป้องกันโควิดสำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ได้วิจัยและผลิตเสร็จแล้ว สามารถเริ่มฉีดให้เด็กไทยได้ในเดือนก.พ.นี้ ซึ่งวัคซีนที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 เช่นเดียวกันกับของผู้ใหญ่ แต่จะมีความเจือจางและฉีดในปริมาณที่น้อยกว่า โดยเด็กจะได้รับวัคซีนเพียง 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่เท่านั้น         
 
👉🏻 ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี  
     จากข้อมูลการฉีดวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างของเด็กที่มีอายุ 5-11 ปี พบว่ามีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย โดยส่วนมากจะมีเพียงอาการเล็กน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ โดยพบอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีนน้อยกว่าวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ 
     ส่วนเรื่องอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กกลุ่มนี้ พบว่ามีน้อยมาก โดยในเด็กผู้หญิงพบเพียง 2 คนจาก 1 ล้านคน ส่วนเด็กผู้ชายพบเพียง 4 คนจาก 1 ล้านคนเท่านั้น 
 
👉🏻 เด็กๆ ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปฉีดวัคซีน 
     ข้อแนะนำสำหรับเด็กๆ ก่อนการไปฉีดวัคซีนคือ ควรเตรียมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชม.ก่อนที่จะมารับวัคซีน นอกจากนี้ เด็กๆ ยังสามารถรับวัคซีนตัวอื่นๆ ได้พร้อมกัน โดยไม่ต้องเว้นระยะ ส่วนเด็กที่เคยติดโควิด-19 แล้ว ก็สามารถมารับวัคซีนได้หลังจากที่หายเป็นปกติแล้ว 1 เดือน แต่สำหรับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ในเด็กที่มีอายุ 5-11 ปี ยังไม่มีข้อสรุปในตอนนี้ 
 
👉🏻 วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมาเมื่อไหร่ 
     สำหรับวัคซีนในเด็กอายุ 2-5 ปี ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและวิจัย ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565 โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณในการฉีด 
     ส่วนวัคซีนในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเช่นกัน โดยอาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะอายุของเด็กที่น้อยลง นอกจากนี้ ในปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับทารกวัย 6 เดือนแล้ว 
 
👉🏻 การตรวจ ATK ในเด็กจำเป็นหรือไม่ และควรตรวจด้วยวิธีไหน 
     การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit ในเด็กเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การตรวจด้วยวิธีนี้จึงค่อนข้างมีความสำคัญ โดยแนะนำให้ตรวจประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับเด็กที่ต้องไปโรงเรียน หรือมีความเสี่ยง 
     แต่ในบางกรณี การตรวจ ATK ก็อาจไม่แสดงผลที่ชัดเจนหรือตรวจไม่เจอเชื้อ เนื่องจากเชื้อมีปริมาณน้อย ดังนั้น หลังตรวจจึงจำเป็นที่จะต้องกักตัว เพื่อดูอาการและตรวจซ้ำ ในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กินอาหารด้วยกัน อยู่ในห้องปิดด้วยกัน แม้ตรวจเชื้อด้วย ATK ไม่พบ ก็ยังต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจซ้ำในวันที่ 5 และวันที่ 10 โดยนับจากวันที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย  
     หากจำเป็นต้องตรวจกันเองภายในครอบครัว ไม่แนะนำให้ใช้ชุดตรวจแยงจมูกแบบลึก เพราะถ้าไม่มีความเชี่ยวชาญก็อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดและเป็นอันตรายได้ เช่น ถ้าแยงลึกเกินไปก็อาจไปกระทบกระเทือนถึงหลังคอหอยได้ หรือในกรณีที่เด็กเจ็บ ตกใจ สะบัด ขัดขืน หรือดิ้น แนะนำให้เลือกชุดตรวจแบบสั้นจะดีกว่า โดยควรศึกษาวิธีการใช้ของแต่ละยี่ห้ออย่างละเอียดเพื่อประสิทธิภาพของผลการตรวจ 
     สิ่งสำคัญของการตรวจแบบแยงจมูกคือ ต้องมีการหมุนเขี่ยภายในจมูก เพราะการตรวจหาเชื้อต้องเก็บเนื้อเยื่อภายในจมูกมาตรวจ ส่วนในกรณีที่ตรวจด้วยเครื่องตรวจแบบน้ำลาย จะต้องมีการขากน้ำลายแบบจริงจัง เพราะต้องตรวจเนื้อเยื่อในลำคอ การตรวจโดยใช้น้ำลายจึงเหมาะกับเด็กที่โตพอที่จะขากน้ำลายได้ 
 
วิธีป้องกันและดูแลเด็กให้ห่างไกลจากโควิด-19
    ✅ เลือกใช้หน้ากากอนามัยที่มีขนาดพอดีกับใบหน้าเด็ก ยิ่งเชื้อโอมิครอนติดง่าย หน้ากากจึงควรเป็นแบบที่ปิดได้มิดชิด
    ✅ สำหรับเด็กที่อายุน้อยมากๆ และยังไม่สามารถใส่หน้ากากได้ คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และควรหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในที่แออัด รวมถึงรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างเคร่งครัด
    ✅ ถ้าจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ควรดูแลเรื่องคนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม และต้องแน่ใจว่า พี่เลี้ยงไม่มีความเสี่ยงและได้รับวัคซีนแล้ว
    ✅ หากผู้ปกครองติดเชื้อ แต่ยังจำเป็นต้องใกล้ชิดกับเด็ก เพราะต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ต้องสังเกตอาการของเด็กอยู่เสมอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้าเด็กมีอาการซึม กินไม่ได้ หอบเหนื่อย หรือมีไข้ ควรตรวจหาเชื้อและพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด ส่วนเด็กโต อาการจะคล้ายกับผู้ใหญ่ ดังนั้น ถ้าสังเกตพบความผิดปกติ ก็ควรรีบตรวจหาเชื้อและพาไปพบคุณหมอเช่นกัน 
    ✅ หากเด็กติด และผู้ปกครองต้องดูแล ต้องระมัดระวังการแพร่เชื้อโดยเฉพาะในช่วง 5 วันแรก 
    ✅ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรืออยู่ในที่ปิดร่วมกัน หรือหากต้องรับประทานอาหารร่วมกัน ควรปิดแอร์ และเปิดหน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา หรือเปลี่ยนไปรับประทานอาหารในที่โล่งแทน 
 
     ถึงแม้โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงเหมือนเดลต้า แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว การป้องกันและดูแลตัวเองจึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะในเด็กที่ยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีเหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น ถ้าถึงวัยที่สามารถฉีดวัคซีนได้แล้ว พี่หมอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ ไปฉีดนะครับ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว 💉🦠💉🦠
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่