หมอธีระวัฒน์ยัน ไทยก็พบเคสคล้ายหนุ่มสหรัฐ องคชาตไม่แข็ง ชี้เป็นภาวะลองโควิด



ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3132059

หมอธีระวัฒน์ยัน ไทยก็พบเคสคล้ายหนุ่มสหรัฐ องคชาตไม่แข็ง ชี้เป็นภาวะลองโควิด
กรณีที่สื่อต่างประเทศ “เดอะ ซัน” รายงานพบผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 กำลังเผชิญกับผลข้างเคียงหลังรักษาหาย โดยรายล่าสุดพบว่า ชายในสหรัฐอเมริกามีขนาดองคชาตหดสั้นลงไป 1.5 นิ้ว หรือเกือบ 4 เซนติเมตร โดยแพทย์ระบบปัสสาวะในเมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐ ระบุว่าอาการดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ไวรัสได้สร้างความเสียหายแก่หลอดเลือดนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มกราคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้เป็นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะกลางและในระยะยาวได้ โดยมีชื่อว่า ผลกระทบลองโควิด (Long Covid) “หมายถึงว่า หลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว แต่ก็ยังมีผลกระทบต่ออยู่เป็นเดือน เป็นปี ซึ่งผลกระทบนี้สามารถเกิดได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทุกอวัยวะ อยู่ที่ว่าใครจะมีอาการมากที่ส่วนไหน ยกตัวอย่างที่เคยเจอกันเยอะในขณะนี้คืออาการนอนไม่หลับ หดหู่ ซึมเศร้า อ่อนเพลีย ทำงานไม่ได้ ขาไม่มีแรง ขาเกร็ง ขาเป็นตะคริว ขากระตุก รวมไปถึงภาวะสมองเสื่อม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการประมาณการกันว่าผู้ที่หายป่วยแล้วในระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ร้อยละ 10-50 จะมีผลระยะยาว และก็อาจจะมีร้อยละ 8-20 ที่มีภาวะทางสมอง หมายความว่าสมองเคยเสื่อมอยู่แล้วจะเสื่อมมากขึ้น หรือยังไม่เคยสมองเสื่อมก็มีอาการสมองเสื่อมขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เกิดขึ้นจากกลไกการอักเสบที่มีอยู่ในช่วงที่ติดเชื้อโควิด-19 และระยะหลังๆ แม้ว่าเชื้อจะสงบไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีภาวะของการอักเสบลุกลามไปต่ออยู่เรื่อยๆ

“เรื่องขององคชาตเองก็เป็นผลที่ตามมาอีกทีนึง ซึ่งตรงนี้ก็อาจมีการลุกลามของการอักเสบมากขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง แม้ว่าเชื้อจะหายแล้วก็ตาม ก็อาจทำให้เส้นเลือดผิดปกติได้ ส่วนเรื่องนกเขาไม่ขัน ทางสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศก็บอกว่าจะมีปัญหาในผู้ชาย เรื่องนกเขาไม่ขัน หรือที่เรียกว่า ผลพวงจากภาวะความผิดปกติในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ (Erectile dysfunction) มากพอสมควร มากกว่าร้อยละ 10
“และในประเทศไทยเองก็มีรายงานเช่นกัน ซึ่งหน่วยระบบปัสสาวะของโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ก็มีรายงานว่าได้ตรวจพบว่าผู้ติดเชื้อที่หายป่วยแล้วมีอาการนกเขาไม่ขันด้วย ก็คงจะสอดคล้องกันกับเรื่องที่อวัยวะเพศหดสั้นลง“ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลข้างเคียงดังกล่าวสามารถเรียกว่าเป็นหนึ่งในภาวะลองโควิดได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นอาการหนึ่งของภาวะลองโควิด ส่วนเรื่องการรายงานว่าอวัยวะเพศสั้นลงหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ แต่ถ้าเป็นอาการอื่นๆ ของภาวะลองโควิดนั้นมีแน่นอน เพราะคนไข้บางรายก็มีความเขินอาย ไม่กล้าปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญแต่พอถามจริงๆ ก็พอได้ทราบว่ามีอาการดังกล่าว และส่วนมากก็ยังมีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ก็จะได้รับยาต้านซึมเศร้า และยาแก้วิตกกังวลไป

“เรายังคงต้องหาว่าการอักเสบในร่างกายของผู้ป่วยว่าขณะนี้ยังมีอยู่หรือไม่ หากยังมีกระบวนการอักเสบอยู่ก็อาจจะต้องจัดการที่กระบวนการการอักเสบด้วย ไม่งั้นการรักษาจะไม่ได้ผล สำหรับภาวะลองโควิดในขณะนี้พบเจอเยอะมากเพราะว่าคนก็ติดกันเป็นล้านคน แต่อาการก็จะมีมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ที่เป็นกันหนักๆ เลยคือ อาการสมองเสื่อมเยอะขึ้น ภาวะโรคเอสแอลอี (SLE) หรือโรคพุ่มพวง ที่เคยควบคุมได้ก็แย่ลง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ระบุ
เมื่อถามต่อว่าได้มีการเตรียมรับมือกับผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิดไว้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้ที่ศูนย์ได้รับทุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการหาดัชนีชี้วัดผลกระทบจากลองโควิด แล้วก็ผลกระทบระยะยาวของคนที่ฉีดวัคซีน ซึ่งผลกระทบนั้นคล้ายกับภาวะลองโควิดเช่นกัน แต่เป็นลองโควิดที่เกิดจากวัคซีน โดยจะมีอาการคล้ายกันทั้งหมด เช่น ผมร่วง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังจะช่วยลดการเกิดอาการเหล่านี้ได้ดีกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่