เข้ากลางเดือนมกราคมเมื่อใด ที่ว่า "อีสานหนาวกว่าเหนือ" ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ช่วงนี้เริ่มเข้าใกล้กลางเดือนมกราคมเข้าไปทุกทีแล้ว (รู้สึกเวลาผ่านไปช้าเหลือเกิน สำหรับเดือนมกราคม) ลักษณะสภาพอากาศของไทยก็จะเปลี่ยนไปประมาณว่าอากาศตอนกลางวันจะร้อนมากขึ้น ภาคเหนือตอนนี้เริ่มทะยานแตะขึ้น 32-33°C กันแล้ว ในขณะที่ตอนเช้าอากาศยังคงหนาวเย็น
14-19°C กัน เมื่อเดือนธันวาคมตอนกลางวันนั้นภาคเหนือจะสูงสุดอยู่แค่ 26-28°C เท่านั้นเอง (ทำให้เดือนธันวาคมกลายเป็นเดือนที่หนาวเย็นที่สุด)

สำหรับภาคอีสานก็เช่นกัน หนาวเย็นมากในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตอนกลางวันสูงไม่เคยเกิน 28°C เนื่องจากลมหนาวจากจีนกดเอาไว้ 
และก็นั่นแหละภาคอีสานก็จะหนาวกว่าภาคเหนือในเดือนธันวาคมเหมือนกัน เพราะลมหนาวเข้าภาคอีสานเต็ม ๆ (มีเพียงเชียงรายที่เดียวที่หนาวพอ ๆ กัน)

สำหรับเดือนมกราคมปีนี้นั้น ไม่มี "มวลอากาศเย็นกำลังแรง" แผ่ลงมาเลย และไม่มีทีท่าว่าจะแผ่ลงมาด้วย (เผลอ ๆ ทั้งเดือนนี้ไม่มีเลย) 
ทำให้ภาคอีสานไม่หนาวเท่าเดือนที่แล้ว (คือเรียกได้ว่าพลิกหน้ามือเป็นหลังเท้าเลย) จาก 10-28 องศา ตอนนี้ขยับขึ้นเป็น 15-33

ช่วงวันที่ 1-10 ม.ค. นี้ ภาคเหนือมีอากาศหนาวเย็นมาโดยตลอด ในขณะที่ภาคอีสานมีบางช่วงอุ่นขึ้นเยอะเลยทีเดียว เช่น

4 มกราคม 2565 ภาคเหนือน้ำเงินเข้ม (ต่ำกว่า 16°C ลงมา) อยู่ที่เดียวในขณะที่พื้นราบภาคอีสานทั้งหมดไม่มีสีน้ำเงินเข้มเท่าตอนเดือนธันวาคมแล้ว คือไม่หนาวจัด ๆ เหมือนเดือนที่แล้วแล้วนั่นเอง


7 มกราคม 2565 ภาคอีสานอากาศเย็นลงเล็กน้อย แต่ก็เล็กน้อยจริง ๆ คือมีไม่กี่ที่เท่านั้น และอากาศก็ไม่ได้กลับไปหนาวเย็นแบบภาคเหนืออีก


9 มกราคม 2565 ภาคอีสานอากาศเย็นลงอีก แต่ก็ไม่หนาวเย็นเท่าภาคเหนืออีกเช่นกัน 


10 มกราคม 2565 วันนี้ ภาคอีสานอุ่นขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ภาคเหนือดูเหมือนจะอากาศเย็นลง 2 ภาคนี้สวนทางกัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประเทศไทยได้ผ่านจุดพีคของฤดูหนาวมาแล้ว หลังจากนี้ก็คงจะเริ่มร้อนกันแล้ว เท่าที่เห็นเมื่อวานมีบางพื้นที่ทะยานแตะ 36°C เพี้ยนสะอื้นเพี้ยนสะอื้น

สำหรับภาคอีสาน ถ้าไม่มีมวลอากาศเย็นกำลังแรงแผ่ลงมาอีก ก็ไม่มีทางที่จะมีอากาศหนาวเท่าภาคเหนือได้อีก แต่ภาคเหนือก็สามารถหนาวได้เอง (เนื่องจากเดือนนี้คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกมันย้อยลงมาลึก) 

และพิเศษสุดกว่านั้น ภาคเหนือ (ภาคกลางตอนบนบางส่วน) อาจจะได้รับ "ฝนชุดแรก" ของปีนี้ (ก่อนภาคกลางและภาคอีสาน) จากคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือที่เดียว ที่จะมีฝนตกในฤดูหนาวได้ ถ้ามีลมหนาวจากจีนแผ่ลงมาเสริมอีก ก็หนาวปนฝนเลย (แต่มันก็เกิดนยากมากอะนะ ครั้งสุดท้ายที่จำได้คือ 24-26 มกราคม 2559) 

ผมจะขอยกการพยากรณ์อากาศของแบบจำลองต่างประเทศมา เพื่อดูการพยากรณ์ตลอดกลางเดือนนี้ ซึ่งเป็นผลการพยากรณ์ของอำเภอเมืองเชียงใหม่
(พื้นที่ที่ร้อนที่สุดในภาคเหนือตอนบนเพี้ยนขำหนักมาก)

จะเห็นได้ว่า เชียงใหม่จะเริ่มอุ่นขึ้นแต่อากาศตอนกลางวันเย็นลง (แสดงว่ามีเมฆก่อตัวแน่นอน) ในวันที่ 11-13 มกราคมนี้ จากนั้นจะอากาศจะเย็นลง และอุ่นขึ้นอีก ในช่วง 14-15 มกราคม และก็จะเย็นลงในช่วง 16-17 มกราคม พร้อมกับอุณหภูมิสูงสุดที่ลดต่ำลง (อาจจะเป็นเมฆ หรือไม่ก็ฝนตก) 
ซึ่งผลการพยากรณ์ยังไม่นิ่ง แต่ก็ยุ่งเหยิงสับสนใช้ได้ คนที่ sensitive ต่ออากาศง่าย น่าจะไม่ปลื้มเป็นแน่แท้กับอากาศเชียงใหม่ช่วงกลางเดือน

พอไปดูผลการพยากรณ์ฝนตก ก็ชัดเจนเลย หลายสำนักเริ่มให้มีฝนตกในอ.เมืองเชียงใหม่จริง ๆ 
 

กรมอุตุไทยก็ไม่น้อยหน้าครับ ผลการพยากรณ์ก็คล้าย ๆ กัน คือให้เชียงใหม่อุ่นขึ้นเล็กน้อย อากาศร้อนตอนกลางวัน และช่วง 15-16 มกราคมนี้จะมีฝนตกประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่


ทั้งนี้ก็ต้องติดตามผลการพยากรณ์ที่จะอัเปเดตมาเรื่อย ๆ ต่อไป หวังว่าจะมีมวลอากาศเย็นระลอกใหญ่มาอีกซัก 2 ครั้ง ให้ชาวไทยได้ชื่นใจกัน ก่อนจะหมดฤดูกาลในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นี้ครับ 

สามารถไปดูภาพอุณหภูมิตลอด 24 ชั่วโมงทั่วไทยได้ที่ https://tiwrm.hii.or.th/DATA/REPORT/php/radar/show_tempImg.php#
ขอบคุณภาพผลการพยากรณ์ของสำนักต่างประเทศ https://meteologix.com/mm
ขอบคุณกรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/index.php
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่