สรุป Live คิดไซด์โค้ง (2มค.65) เทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งของเบื้องหลังการคว้าแชมป์ AFF Suzuki Cup

สวัสดีครับ เมื่อวาน (2มค.65) ช่วงหัวค่ำมีโอกาสได้ฟัง Live ของช่องคิดไซด์โค้ง เนื้อหาน่าสนใจมาก
ขออนุญาตเอามาสรุปให้ได้อ่านกันนะครับ ในส่วนความเห็นเพิ่มเติมของ จขกท จะใส่วงเล็บไว้
ลิงก์อ้างอิงของคลิปแปะไว้ตอนท้ายบทความนะครับ

Live นี้ทางคุณเจ วรปัฐ เชิญคนของบริษัท Sport Tech Pro ชื่อคุณหนุ่ย (น่าจะเป็นเจ้าของ บ.) มาพูดคุยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทีมชาติไทยใช้เก็บสถิติต่างๆในการฝึกซ้อมระหว่างทัวร์นาเมนต์ AFF Suzuki Cup

จริงๆแล้วบริษัท Sport Tech Pro ไม่ใช่เรื่องใหม่ของทีมชาติไทย มีการใช้บริการกันมานานเกือบๆ 10 ปีแล้ว
แต่เป็นลักษณะของการจ้างมาเป็นครั้งๆไป เช่น U23 มีแข่ง โค้ชอยากได้ก็จ้างมา พอจบทัวร์นาเมนต์ก็แยกย้าย หรือ ชุดใหญ่อยากใช้กับทัวร์นาเมนต์นี้ก็จ้างมา จบทัวร์นาเมนต์ก็จบไป เป็นแบบนี้มาตลอด (เดี๋ยวจะมีเรื่องให้พูดถึงข้อเสียที่จ้างมาเป็นครั้งๆในช่วงท้ายๆ)

กับทีมชาติไทยชุดที่ไปได้แชมป์ AFF เนี่ย ทางคุณหนุ่ยได้มีการเข้าไปเสนอมาโน่ (ใน Live แกบอกว่าไปเตะบอลกับมาโน่ แล้วสาธิตอุปกรณ์ให้ดู)
พอมาโน่เห็นก็สนใจ แต่กว่าจะคุย จะดีลกันลงตัว ก็เกือบถึงวันที่ทีมชาติต้องเดินทางไปสิงคโปร์แล้ว และด้วยเหตุผลเรื่องการจัดการแข่งที่จัดเป็นบับเบิ้ล
พวกรายชื่อนักเตะ และ ทีมสต๊าฟ เราจะต้องส่งไปให้ทางสิงคโปร์ล่วงหน้า ทำให้ทีมงานของ Sport Tech Pro ไม่ได้เดินทางไปด้วย

ตรงนี้มีการแก้ปัญหาด้วยการสอนการใช้งานให้โค้ชฟิตเนส (ชื่อคุณอ๊อพ) ให้เป็นคนใช้งานและจัดการอุปกรณ์ ในช่วงแรกๆก็มีปัญหาขลุกขลักอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็ได้ผลที่น่าพอใจ

เจ้าอุปกรณ์ตัวนี้หน้าตาเป็นแบบไหน? ใช้แล้วได้ผลออกมาเป็นไง?
(ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นเสื้อกล้าม GPS แบบที่เห็นหลายๆทีมในไทยลีกใส่ไว้ด้านในเสื้อแข่ง แต่ไม่ใช่ครับ เจ้าตัวนี้ล้ำกว่านั้น การสวมใส่ก็จะสวมทับรองเท้าสตั๊ดตามรูป)

รูปภาพจากเฟซบุ๊ค Sport Tech Pro

จากในรูปอาจจะดูเหมือนอุปกรณ์ค่อนข้างเกะกะข้างเท้าด้านนอกหรือเปล่า
เรื่องนี้คุณหนุ่ยบอกใน Live ว่าตอนแรก เจ ชนาธิป มีนอยด์หน่อยๆเหมือนกัน เพราะชอบจับบอลด้วยข้างเท้าด้านนอก
แต่พอใส่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร

ซึ่งเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ ให้ข้อมูลที่ลึกกว่าเสื้อกล้ามพอสมควร
เช่น เรื่องการครองบอล ความไวในการเล่นบอล ใครส่งให้ใคร ใครทำบอลเสีย ใครแย่งบอลได้
นักเตะคนนี้ใช้เท้าข้างไหนรับ-ส่ง และใช้เท้าข้างไหนได้ดี/ไม่ดี

(ส่วนตัวเข้าใจว่าเสื้อกล้าม จะบอกฮีทแมพ การสปริ้นต์ ระยะทางวิ่ง แต่ไม่ละเอียดถึงขนาดการครองบอล การใช้เท้าของนักเตะแต่ละคน)

ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์นี้คือ มาโน่ลองซ้อมด้วย 4-4-2 ไดมอนด์ กับ 4-2-3-1
ข้อมูลที่ได้ จะบอกว่าแผนไหนครองบอลนานกว่ากัน (บอกเป็นวินาทีเลย)
การลำเลียงบอลขึ้นหน้าแผนไหนใช้เวลาน้อยกว่า และใครที่เป็นคนจ่ายบอล/พาบอล ขึ้นหน้า
นักเตะคนไหนแกะเพรสเก่ง คนไหนคิดไวเล่นบอลไว คนไหนออกบอลดี/ไม่ดี

ตัวอย่างข้อมูลที่ได้ ลองดูในคลิปยาวนาทีที่ 31 นะครับ

(ส่วนตัวคิดว่าข้อมูลพวกนี้สำคัญมากๆ สำหรับการตัดสินใจว่าใช้แผนนี้ใครควรลง และลงไปเล่นจุดไหน ยังไง และอาจจะเป็นสาเหตุของการกล้าโรเตชั่นของมาโน่หลายๆตำแหน่งในนัดสำคัญ)

อุปกรณ์นี้ทำให้ทีมสต๊าฟได้ข้อมูลที่ค่อนข้างลึกและชัดเจนจากการฝึกซ้อม คือปกติข้อมูลละเอียดขนาดนี้จะได้จากการแข่งจริง
โดยตอนนี้เนื่องจากทางฟีฟ่ายังไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ตัวนี้ในการแข่งขัน (ใช้ได้แต่เสื้อกล้าม GPS) ดังนั้นโดยทั่วไปก็จะใช้คนจด หรือถ้าใครเคยเห็นที่ข้างสนามจะมีคนกดจอยเหมือนเล่นเกมอยู่ นั่นแหละเขากำลังเก็บข้อมูลพวกนี้อยู่

แน่นอนว่าการมีอุปกรณ์นี้ใช้ ทำให้ในการซ้อมแต่ละครั้ง เราจะได้ข้อมูลทางสถิติละเอียดเหมือนลงไปแข่งจริงเลยทีเดียว

ใน Live มีการถามว่า ถ้ามีนักบอลบางคนไม่ยอมใส่ เช่น ใส่แล้วกลัวเล่นไม่ดี กลัวทำให้จับบอลยาก จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบคือข้อมูลที่ได้จะมีความผิดพลาด

เช่น นักบอล A ไม่ยอมใส่ และ ในการฝึกซ้อมมีนักบอล B ส่งบอลให้นักบอล A
ข้อมูลที่ได้จะกลายเป็นนักบอล B จ่ายบอลเสีย ทีมเสียการครองบอล
สรุปคือ ทุกคนควรใส่เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเพื่อการพัฒนาการเล่นส่วนตัวด้วย

เรื่องนี้คุณหนุ่ยให้ข้อมูลว่า ทีมในยุโรปหลายทีมใช้อุปกรณ์นี้ เช่น ลิเวอร์พูล กลาสโกว เรนเจอร์
(และน่าจะวิลล่าด้วย เข้าใจว่าเป็นเจอร์ราดที่ใช้ที่เรนเจอร์)

คือถ้านักเตะระดับท็อปเขาใช้แล้วไม่มีปัญหา เราก็ไม่ควรปฏิเสธ เพราะมีอคติว่ามันจะทำให้เราเล่นยากขึ้น
(ส่วนตัวคิดว่าอาจจะมีผลเรื่องการจับบอลบ้างแหละ แต่ประโยชน์มีมากกว่าเยอะ)

สถิติที่ได้ในการซ้อมแต่ละวันก็มีการส่งให้ทีมสต๊าฟอันนี้แน่นอน และมีการส่งให้นักบอลแต่ละคนด้วย ซึ่งหลายคนมีฟีดแบ็คที่ดี
ที่คุณหนุ่ยพูดถึงก็มี

ปกเกล้า สถิติในการซ้อมออกมาดีมาก ขยันวิ่ง ทำผลงานในการซ้อมได้ดี (และในนัดชิงนัดแรก ปกลงไปเล่นได้ดีมากๆ)

วรชิต พอเห็นสถิติส่วนตัวก็ถามกลับมาว่าเขาควรปรับอะไร ยังไง ถึงจะทำได้ดีกว่านี้

ศุภโชค คนนี้สุดยอด น้องเช็คถามคุณหนุ่ยว่าสถิติของตัวเองห่างนักเตะระดับโลกมากแค่ไหน (ฟังแล้วรู้สึกใจน้องมันได้มากๆ)

เจ ชนาธิป จากสถิติ เจเป็นนักบอลไทยคนเดียวที่เล่น 2 เท้าได้ดีพอๆกัน คือหลายคนอาจจะเล่นได้ 2 เท้า แต่ไม่ถึงขนาดเจ
สำหรับนักบอลอาชีพแล้วเนี่ย การที่ใช้เท้าได้ข้างเดียวนับเป็นความเสียเปรียบมากๆ

นอกจากนี้ยังมีนักฟุตบอลระดับ T2 มาซื้ออุปกรณ์จากคุณหนุ่ยไปใช้
นักเตะคนนี้ถามกับทางคุณหนุ่ยว่า สถิติของบดินทร์ ผาลา ออกแนวไหน
เช่น ระยะทาง และ ความเร็วในการสปริ้นต์ คือเขาอยากซ้อมให้ได้แบบบดินทร์ อันนี้ฟังแล้วก็รู้สึกว่านักเตะคนนั้นมีทัศนคติที่ดีแบบสุดๆ

ลองคิดดูเล่นๆว่าถ้ามีนักบอล หรือ สโมสรซักครึ่งของลีก มีความคิดแบบนี้ ลีกเราจะแข็งแกร่งขึ้นได้อีกมากๆ

ซึ่งเอาจริงๆแล้วตอนนี้นักบอลมีการเริ่ม ลงทุนใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่พวกนี้ด้วยตัวเองแล้ว
คุณเจ วรปัฐบอกว่าให้ไปดูคลิปนักบอลที่เดินทางกลับ จะเห็นบางคนหิ้วอุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องการ Recovery กลับมาด้วย
แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ

ที่คุยกันใน Live นอกจากเรื่องอุปกรณ์ที่สวมเท้าแล้ว ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกเรื่อง นั่นคือการฝึกพิเศษของยิม วรชิต กับ และห์ กฤษดา

ทั้ง 2 คนนี้ ชลบุรีส่งมาเข้าคอร์สพิเศษเพื่อปรับปรุงจุดอ่อน และ เสริมจุดแข็งกับทาง Sport Tech Pro
คือนอกจากฝึกเรื่องทางกายภาพแล้ว มีการฝึกเรื่องสมาธิในเกมด้วย เช่น ไฟสีนี้สว่างต้องออกไปแตะสีอะไร
(ดูคล้ายๆการซ้อมของนักแบดมินตัน)

(ในคลิปยาวมีคลิปการฝึกของ 2 คนนี้ตั้งแต่นาทีที่ 48 ถึงนาทีที่ 57 ส่วนตัวคิดว่านี่คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ 2 คนนี้ฟอร์มโหดมากๆในฤดูกาลนี้)

และ เจ ชนาธิป ช่วงปิดฤดูกาลก็มีมาฝึกที่นี่ด้วย ทาง Sport Tech Pro เขาก็ออกแบบการฝึกให้ โดยดูจากลักษณะการเล่น
ว่าควรจะพัฒนากล้ามเนื้อส่วนไหน อย่างไร

(เจซ้อมด้วยการใส่เสื้อหนัก 10 กิโล ยังกะโงกุนตอนไปดาวนาแม็ก 5555 ไม่แปลกที่โดนเวียดนามเตะ 3 ทีกว่าจะล้ม)

สรุปสุดท้าย การเก็บสถิติแบบนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ในแง่ของการกำหนดทิศทางในการพัฒนานักบอล และแน่นอนเพื่อสร้างไทยแลนด์เวย์
(นักเตะเรามีจุดอ่อนตรงไหน ควรพัฒนาอะไร สถิติพวกนี้จะช่วยได้มาก)

อย่างไรก็ตาม การจ้างบริษัทมาทำงานเป็นครั้งๆไป แล้วไม่มีทีมงานของสมาคมที่เก็บข้อมูลตรงนี้ไว้
มันเลยกลายเป็นว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ Sport Tech Pro (แทนที่จะอยู่กับฝ่ายพัฒนานักเตะของสมาคม)

คือทีมชาติแต่ละชุด พอทีมสต๊าฟที่เข้ามาทำงานเปลี่ยนไปก็จบ ก็ไม่มีการส่งต่อข้อมูลกัน
ทำให้ข้อมูลที่ควรจะเอามาพัฒนานักบอลในภาพรวมตั้งแต่ระดับเยาวชน ไม่ได้ถูกเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แบบเต็มที่

คลิปเวอร์ชั่นยาว (ยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่คุยจริงประมาณ 1 ชั่วโมงแรก ที่เหลือเป็นการตอบคอมเมนต์)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

คลิปเวอร์ชั่นตัด (22 นาที)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่