JJNY : ติดเชื้อ 4,079 เสียชีวิต 39│เปิดข้อมูล "โอไมครอน"│กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคสัตว์ปีก│อ.ปริญญาแจ้ง3แนวข้อสอบ น.ศ.

โควิดไทยวันนี้ ติดเชื้อใหม่ 4,079 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย หายป่วย 7,302 คน
https://www.matichon.co.th/local/news_3081774
 
 
โควิดไทยวันนี้ ติดเชื้อใหม่ 4,079 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย หายป่วย 7,302 คน
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ศูนย์ข้อมูลโควิด 19 เผยแพร่ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2564
รวม 4,079 ราย จำแนกเป็น
 
ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 3,974 ราย
ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 70 ราย
ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 19 ราย
ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 16 ราย
ผู้ป่วยสะสม 2,135,996 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน)
หายป่วยกลับบ้าน 7,302 ราย
หายป่วยสะสม 2,062,827 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน)
ผู้ป่วยกำลังรักษา 53,455 ราย
เสียชีวิต 39 ราย
 


เปิดข้อมูล "โอไมครอน" มีโอกาสแพร่เชื้อในครัวเรือน มากกว่าเดลต้าถึง 3.2 เท่า
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/99020/

"หมอธีระ" เปิดข้อมูล "โอไมครอน" มีโอกาสแพร่เชื้อกันในครัวเรือน มากกว่าเดลต้าถึง 3.2 เท่า ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วย mRNA จะช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ราว 70-75%

วันนี้ (11ธ.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 
 
11 ธันวาคม 2564...
 
ทะลุ 269 ล้านคนไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 587,059 คน ตายเพิ่ม 7,141 คน รวมแล้วติดไปรวม 269,375,289 คน เสียชีวิตรวม 5,310,650 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย และโปแลนด์
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.65 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.06
 
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึงร้อยละ 56.64 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 56.18
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา

เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 4,193 คน สูงเป็นอันดับ 25 ของโลก
หากรวม ATK อีก 1,546 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 21 ของโลก
ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย
 
...อัพเดตเรื่อง Omicron
Wenseleers T ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของการตรวจพบ Omicron ของแต่ละประเทศ ทั้งแอฟริกาใต้ อังกฤษ สก๊อตแลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยี่ยม สะท้อนให้เห็นว่าเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย slope ก็พอๆ กันในทุกประเทศ
ล่าสุดเมื่อวานนี้ 10 ธันวาคม 2564 ทาง UK Health Security Agency ออกรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับ Omicron โดยทบทวนความรู้จากการวิจัยที่ออกมา มีสาระสำคัญดังนี้
 
1. การแพร่เชื้อในครัวเรือน (Household transmission)
การระบาดของ Omicron จะมีโอกาสเกิดการแพร่เชื้อกันในครัวเรือน มากกว่าเดลต้าถึง 3.2 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.0-5.0)
จากข้อมูลการติดตามสอบสวนโรค พบว่า โอกาสที่คนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ แล้วเกิดการติดเชื้อขึ้นมา (Secondary attack rate) มีมากกว่าเดลต้า 2.09 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 1.54-2.79)
 

ทั้งนี้ในการระบาดของ Omicron ผู้ใกล้ชิดมีโอกาสติดเชื้อ 21.6% ส่วนเดลต้า 10.7%
 
2. การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection)
สายพันธุ์ Omicron จะมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน มากกว่าเดลต้า 3-8 เท่า
 
3. การดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน
จากการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกที่เผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า Omicron จะหลบหลีกหรือดื้อต่อภูมิคุ้มกัน มากกว่าเดลต้า 20-40 เท่า
จากข้อมูลของ UK เอง พบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีน ChAdOx1 2 เข็ม และ BNT162b2 2 เข็มนั้น แม้จะมีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ (Symptomatic infection) สำหรับเดลต้า
 
แต่สำหรับ Omicron นั้น พบว่า หลังฉีดวัคซีนไปเกิน 3.5 เดือน กลุ่มที่ได้ ChAdOx1 2 เข็มอาจไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนกลุ่มที่ได้ BNT162b2 2 เข็มนั้นพบว่ามีประสิทธิภาพเหลือราว 30% เท่านั้น (ทั้งนี้การแปลผลดังกล่าวในกลุ่ม ChAdOx1 ต้องระมัดระวังเนื่องจากกลุ่มตัวอย่างไม่มาก และค่อนไปทางกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่อาจมากกว่ากลุ่ม BNT162b2)
 
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วย mRNA vaccine (BNT162b2) จะช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ราว 70-75% (แต่ข้อมูลการติดตามผลยังมีจำกัดเฉพาะแค่ช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังฉีดเข็มกระตุ้น)
ข้อมูลข้างต้น จึงชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน
 
4. การระบาดของ Omicron ใน UK มีการขยายตัวเร็ว โดยมีค่า R ราว 3.7 (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.3-4.2) และลักษณะการติดเชื้อก็สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ โดยติดกันมากในวัยทำงานและวัยเรียน ทั้งเพศชายและหญิง
 
5. ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับลักษณะการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตของ Omicron จำเป็นต้องติดตามต่อไปอีกระยะ
 
...สำหรับไทยเรา
 
บทเรียนของต่างประเทศสะท้อนให้เราระมัดระวังการแพร่ระบาดของ Omicron โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงาน และวัยเรียน เพราะเป็นช่วงอายุที่มีการพบปะกับคนอื่นๆ จำนวนมากในแต่ละวัน
 
คนที่ได้วัคซีนไปแล้ว จำเป็นต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งควรเป็น mRNA vaccine เพราะดูจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของสากลที่พิสูจน์ให้เห็น
ระบบการตรวจคัดกรองโรคและการกักตัวนั้นสำคัญมากในการชะลอการระบาดจากต่างประเทศเข้ามา
แต่ระบบการตรวจคัดกรองโรคและการเข้าถึงบริการสำหรับประชาชนทุกคนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดในประเทศหากเกิดขึ้นในอนาคต
 
เหนืออื่นใด ที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร
เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว การไปในที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี
และเลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์ครับ
ด้วยรักและห่วงใย
 
อ้างอิง
SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in
England. Technical Briefing 31. UK Health Security Agency. 10 December 2021

https://www.facebook.com/thiraw/posts/10223566033611420
 

 
ไข้หวัดนก H5N6 ทำคนจีนตายเพิ่ม กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคสัตว์ปีก
https://www.prachachat.net/economy/news-818966

กรมปศุสัตว์แจ้งเตือนเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีก หลังจีนพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากไข้หวัดนก H5N6 จำนวน 61 ราย ชี้คงมาตรการชะลอการนำเข้า นำออก หรือผ่านราชอาณาจักร สำหรับประเทศที่พบการรายงานการเกิดไข้หวัดนกชนิดรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อมาสู่ประเทศไทย
วันที่ 10 ธันวาคม 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขของจีนออกแถลงการณ์ว่า พบผู้หญิง อายุ 54 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองจื้อกง ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N6 โดยผู้ป่วยได้มีอาการในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564
 
โดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายก่อนเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ต่อมาได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ประกอบกับที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน
 
พบว่า มีการระบาดมากถึง 4,578 จุด โดยเป็นผู้ป่วยที่พบสายพันธุ์ H5N6 จำนวน 61 ราย และในประเทศจีน ส่วนใหญ่อยู่ที่มณฑลเสฉวน นอกจากนั้นกระจายอยู่ในเทศบาลนครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลอานฮุย และมณฑลหูหนาน
 
สำหรับ กรมปศุสัตว์ ยังคงมาตรการชะลอการนำเข้า นำออก หรือผ่านราชอาณาจักร สำหรับประเทศที่พบการรายงานการเกิดไข้หวัดนกชนิดรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนเชื้อมาสู่ประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ โดยปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศทำให้สัตว์ปีกปรับตัวได้ยาก
 
อาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์ปีกอ่อนแอ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีคำสั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศเข้มงวด ในการดำเนินมาตรการ เฝ้าระวังและป้องกันโรคในพื้นที่ สั่งให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรทุกราย และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกทุกวัน
 
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเน้นย้ำว่า “การป้องกันที่ดีถือเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทำให้ไทยปลอดจากไข้หวัดนกมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งในคนและสัตว์จากการที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกทั่วประเทศจัดการระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง”
 
“สัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มเข้มงวด เรื่องระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกฟาร์ม ให้ฉีดพ่นยานพาหนะทุกคัน เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือมีอาการต้องสงสัยเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ก็ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”
 
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีก ไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่