JJNY : ‘รสชาติแห่งอังกอร์’คว้ารางวัลตำราอาหารเอเชีย│แนะ mRNA สำคัญ│ขาดทุนยับ!ชาวนาโคราชโอด│สภาเตรียมพิจารณาญัตติด่วน

'รสชาติแห่งอังกอร์' สูตรกับข้าวกัมพูชาคว้ารางวัล 'ตำราอาหารเอเชียที่ดีที่สุด'
https://www.xinhuathai.com/inter/246747_20211202
 
 
พนมเปญ, 2 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (1 ธ.ค.) กระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาแถลงว่า หนังสืออาหารของกัมพูชาชื่อ “รสชาติแห่งอังกอร์” (The Taste of Angkor) ได้รับการยกย่องให้เป็น “ตำราอาหารเอเชียที่ดีที่สุด” ณ งานประกาศรางวัลหนังสืออาหารกูร์มองด์ เวิลด์ (Gourmand World Cookbook Awards) 2021 ในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส
  
แถลงการณ์ระบุว่า พิธีมอบรางวัลดังกล่าวถูกจัดขึ้นในปารีสตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.-6 ธ.ค. โดยหนังสืออาหารรสชาติแห่งอังกอร์ ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดยกระทรวงฯ และเป็นส่วนหนึ่งของการทูตเชิงวัฒนธรรมเล่มนี้ ได้รับการเปิดตัวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
 
หนังสือดังกล่าวประกอบด้วยสูตรอาหารคาวและอาหารหวานตำหรับเขมรที่คัดสรรมารวม 38 สูตร ซึ่งมีวิธีสอนทำอย่างละเอียดและปฏิบัติตามได้ง่าย โดยการให้ข้อมูลส่วนผสมทดแทนส่วนผสมดั้งเดิมที่อาจหาซื้อได้ยากในต่างประเทศ เป็นจุดเด่นของหนังสือสอนทำอาหารเล่มนี้
 
แถลงการณ์ระบุว่า หนังสืออาหารรสชาติแห่งอังกอร์ ซึ่งจัดไว้สำหรับการใช้ของนักการทูตกัมพูชาและเป็นของขวัญมอบแก่บุคคลสำคัญชาวต่างชาติ มีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อความก้าวหน้าทางการทูตด้านอาหารและวัฒนธรรมของกัมพูชา
  
“รางวัลหนังสืออาหารกูร์มองด์ เวิลด์ 2021 เป็นอีกครั้งของความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติสำหรับความพยายามของราชอาณาจักรกัมพูชา ในการทำให้โลกได้รู้จักและชื่นชมมรดกการทำอาหารพันปีอันยอดเยี่ยมของกัมพูชาอย่างแท้จริง” ถ้อยแถลงระบุ
  
แถลงการณ์ระบุว่า การทูตด้านอาหารเป็นหนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์การทูตเชิงเศรษฐกิจของกระทรวงฯ ปี 2021-2023 พร้อมเสริมว่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือเพื่อยกระดับเกียรติภูมิของกัมพูชาในเวทีระหว่างประเทศ และมีส่วนช่วยสร้างวิสัยทัศน์ของรัฐบาลกัมพูชาสำหรับปี 2030 และ 2050 ให้เป็นจริง
 
ทั้งนี้ กัมพูชาวางแผนจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูงภายในปี 2030 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2050
 
อนึ่ง งานประกาศรางวัลหนังสืออาหารกูร์มองด์ เวิลด์ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประเพณีการทำอาหารจากทั่วทั้งโลก
   

 
'หมอมานพ' เผยผลศึกษา 'โควิด กลายพันธุ์ โอไมครอน' ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจริง แนะ mRNA สำคัญสุด
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6764150

‘หมอมานพ’ เผยผลศึกษา ‘โควิด กลายพันธุ์ โอไมครอน’ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจริง แนะสถานการณ์แบบนี้วัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพสูงสำคัญสุด
 
วันที่ 3 ธ.ค.64 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะ​แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า 
 
ข้อมูลทางระบาดวิทยาจากแอฟริกาใต้สนับสนุนว่า Omicron ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจริง
  
งานวิจัยเผยแพร่ใน preprint เมื่อวานนี้ ทีมนักวิจัยจากแอฟริกาใต้ดึงข้อมูลผู้ติดเชื้อในประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากว่า 2.7 ล้านคน พบข้อมูลผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ (re-infection) ราว 35,000 คน เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเทียบในช่วงการระบาด 3 รอบ คือรอบแรก (สีม่วง – Original Wuhan) รอบสอง (สีชมพู – Beta variant) และรอบสาม (สีส้ม – Delta variant) พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้วมีโอกาสติดเชื้อซ้ำหลังการระบาดรอบแรกและรอบสอง ต่ำกว่าคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน แต่รอบหลังสุดนี้ไม่เป็นแบบนั้น โดยพบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนมีโอกาสติดเชื้อซ้ำในรอบนี้ (ที่เป็นการระบาดของ Omicron) สูงกว่าเดิม 2.39 เท่า
 
แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID มาก่อน จะมีภูมิคุ้มกันที่ทำให้คน ๆ นั้นมีโอกาสติดเชื้อซ้ำอีกน้อยกว่าคนทั่วไป
แต่ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ สนับสนุนว่า Omicron มีความสามารถในการทะลุทะลวงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ได้
 
ตอนนี้รอดูผลการทดสอบจากแลปอีกทีครับว่า การดื้อของ Omicron จะมากน้อยแค่ไหน จากข้อมูลระบาดวิทยานี้ คาดเดาว่าการดื้อน่าจะไม่ธรรมดาครับ
สถานการณ์แบบนี้วัคซีนประสิทธิภาพสูงสำคัญสุดครับ mRNA vaccine จะเป็นอาวุธหลัก ใครยังไม่ฉีดรีบเลยครับ ใครต้อง boost ก็อย่ารีรอ ตอนนี้บ้านเรา Pfizer Moderna มาเพียบแล้ว
 
https://www.facebook.com/manopsi/posts/10161237073213448
 

 
ขาดทุนยับ! ชาวนาโคราชโอด หลังเจอน้ำท่วมหนัก
https://www.innnews.co.th/news/local/news_246416/

ชาวนาโคราชขาดทุนยับ หลังเจอน้ำท่วมหนัก2รอบ ราคาข้าวตก รถเกี่ยวคิดค่าจ้างสูง ต้องหันเกี่ยวข้าวเอง
 
นายชัยวัฒน์ ยาดิส อายุ 50 ปี ชาวนาบ้านหนองจิกพัฒนา หมู่ที่ 14 ตำบลหนองมะนาว อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในห้วงที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกข้าวประสบปัญหาน้ำท่วม ถึง 2 รอบ ผลผลิตเสียหาย ขาดทุนยับ และยังมาประสบปัญหารถเกี่ยวข้าวคิดค่าจ้างเกี่ยว สูงกว่าการเกี่ยวในพื้นที่นาปกติ รวมทั้ง ข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ขายไม่ได้ราคา จึงต้องลงมือเกี่ยวข้าว จำนวน 4 ไร่ ด้วยมือของตนเอง และตีข้าว นวดข้าวเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
 
ซึ่งการนวดข้าวด้วยมือ เป็นการตีข้าว หรือฟาดข้าวแบบโบราณ เริ่มจากการนำสแลนพลาสติกมาปุรองพื้นที่เอาไว้ แล้วนำรวงข้าวที่เกี่ยวและตากจนแห้งสนิทแล้ว มากองรวมกัน จากนั้น หยิบรวงข้าวประมาณ 1 หอบ หนีบใส่ไว้กับไม้ตีข้าว โดยหันรวงข้าวออกไปทางด้านหน้าของผู้ตี ก่อนจะฟาดอย่างต่อเนื่องหลายๆ ครั้ง แล้วพลิกกลับมาตีอีกด้านหนึ่ง เมื่อเห็นว่า ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงแล้ว ก็จะใช้ไม้ตีฟ่อนข้าวเป็นจังหวะแล้วยกขึ้นมาเขย่า เพื่อให้แน่ใจว่า ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวหมด จากนั้นจึงนำข้าวเปลือกใส่ถุงปุ๋ยขึ้นรถไถ ก่อนจะนำไปเก็บใส่ยุ้งฉางเอาไว้สีขายและบริโภคในครัวเรือน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่