อาศัยอยู่ที่ กงซีล่ง.......

กงซีล่ง.....

สมัยวัยรุ่น ผมรับหน้าที่ที่พี่มอบหมายให้พาคุณแม่ไปเยี่ยมบ้านตา ในชนบทเมืองแต่จิ๋ว

พอไปถึง ผมก็ถามหา กงซีล่ง  คนฝั่งโน้นเค้าถามผมกลับมาว่า สี่มิไก๋ ? ( คืออะไร )

พอบอกเค้าว่าปวดถ่าย เค้าก็หัวเราะบอก อ่อ..... เกี่ยจ๊อ “ ตัง ซี ” ( ห้องน้ำเรียกว่า ตังซี )

แล้วเค้าก็ชี้ให้ไปที่ “ ฮัก ” พอเห็นฮัก ผมก็ถึงกับทึ่งกับความอลังการของ ฮัก 

และจำติดตาตรึงใจ มิรู้ลืมเลยครับ 😅  จากวันนั้น ผมค้างคาใจ เฝ้าศึกษา กงซีล่ง อยู่นานนับปีเลยครับ............

..

บ้านจีนแต้จิ๋วในชนบทเมื่อราวปี 2520 ไม่มีห้องสุขาในบ้านครับ

ในชนบทเวลานั้นสาวๆเค้าจะทำธุระใส่ในถังไม้มีฝาปิดมิดชิดที่ไว้อยู่ปลายเตียงในห้องนอน เสร็จแล้วเธอจึงนำไปเททิ้งในบ่อหมักใหญ่ท้ายหมู่บ้าน...

ส่วนผู้ชาย หรือสาวที่ไม่เขินอายนัก ก็จะไปถ่ายกันในห้องที่ไม่มิดชิดนักเหนือบ่อหมัก ( ฮัก ) ที่มีเรียงรายหลายๆห้อง

มูลในบ่อหมักของหมู่บ้านเป็นสมบัติร่วมกัน ที่ชาวบ้านจะสลับกันมาช้อนตักไปใส่ในแปลงพืชผักที่เค้าปลูกกันเพื่อเป็นปุ๋ย.

คนจีนเรียกบ่อหมักมูล ( ฮัก ) ด้วยคำสุภาพว่า แช่ตี้ ( 廁池 ) เรียกห้องถ่ายหนักว่า แช่ส้อ ( 厕所 )

คนแต้จิ๋วในเมืองที่มีฐานะท่านถึงมีห้องส้วมเป็นสัดส่วน เรียก ตังซี ( 东司 )

ศัพท์ ตังซี ของชาวแต้จิ๋วนี้เค้าอนุรักษ์มาแต่สมัยยุคราชวงศ์ถัง.

.....................................................

กงซีล่ง ( 公司廊 )

ลูกจีนกำมะลอในเมืองไทย ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอย่างผิดๆว่า 

กงซีล่ง เป็นภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วแปลว่า ห้องส้วม...  ( ? )
 
ที่หากเราถอดรูปศัพท์ภาษาจีนจะได้ว่า  กงซี ( 公司 ) แปลว่า บริษัท หรือ กลุ่มการค้า

โล่ง ( 廊 ) จีนแต้จิ๋วนำศัพท์ที่มีใช้อยู่เดิมมา ‘ แปลงเสียง ’ เพื่อเลียนคำและความ ของคำไทยว่า โรง 

ศัพท์ กงซีล่ง แท้จริงแล้วท่านหมายถึง โกดังเก็บสินค้าของบริษัท ห้าง ร้าน

ทุกวันนี้เวลากล่าวถึง ล่ง หรือล้ง คนยุคใหม่จะเข้าใจง่ายกว่าคนยุคก่อนหน้านี้ เพราะทายาทเจ้าสัวย่านคลองสานท่านแปลงโรงเก็บสินค้าเก่าเป็นสถานช้อปปิ้ง และลงทุนโฆษณาสร้างความเข้าใจกับคำว่า ล้ง ให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าใจไปเยอะ

.

คนไทยปัจจุบัน คุ้นหูกับศัพท์จีนว่า หลงจู๊  ซึ่งมีที่มาจาก กงซีล่ง นี่แหละครับ

หลงจู๊ ท่านหมายถึง ผู้จัดการ

หลงจู๊ เป็นคนมืออาชีพทำหน้าที่แทนเฒ่าแก่ หรือบริษัท

ในการบริหาร คน และการจัดเก็บ หรือกระจายสินค้าในโรงเก็บสินค้า ออกไปขายทำกำไร.......

..

และที่สำคัญ “ กงซีล่ง ” เป็นชื่อ ‘ ย่าน ’ ครับ

..

ย่านกงซีล่ง คนเยาวราชแต่ดั่งเดิมท่านหมายถึง

พื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้สะพานพุทธลงมาทางย่านอนุวงศ์ ทรงวาด กระทั่งถึงวัดสามเพ็ง หรือวัดปทุมคงคา 

ด้วยแต่เดิม ที่ดินแถบนี้เค้าใช้เป็นโกดังหรือ ‘ โรง ’ เก็บสินค้าทั้งพืชผลและของป่า ที่ส่งมากรุงเทพทางเรือแดง ทั้งเรือที่ขนสินค้าลงมาจากทางเหนือ หรือขึ้นมาจากทางใต้ 

รวมทั้งยังเป็นโกดังเก็บสินค้าต่างประเทศที่นำเข้ามาทางเรือเดินทะเล

บริษัทเก่าแก่ในกรุงเทพต่างเคยอยู่ หรือยังอยู่ แถบนี้ เช่นบริษัทค้าข้าวยักษ์ใหญ่ของบ้านเรา ทั้งไชยพร นานาพรรณ

บริษัทค้าโภคภัณฑ์ อย่างเจี่ยไต๋ สหพัฒน์ ต่างก็เคยมีโรงสินค้าอยู่ตรงนี้

กระทั่งธนาคารเก่าแก่ ต่างก็เคยมีเฮดออฟฟิศอยู่ที่ กงซีล่ง ครับ

.....

ประกาศของเจ้ากรมอำเภอสำเพ็ง ในราชกิจจาฯ บนหน้ากระดานแต้จิ๋ว ปรากฏความที่หลายท่านอาจจะอ่านโดยไม่เฉลียวใจว่า

กงษีโล้ง เมื่อ รศ.128 หรือราว พ.ศ.2453 

“ แท้จริงแล้วเป็นชื่อตำบล ขึ้นกับอำเภอสำเพ็ง ”

ทั้งบางส่วนของตำบลยังกินพื้นที่ของถนนสำเพ็ง หรือ ถนนวานิช 1 ในปัจจุบัน

Cr. ภาพ สึคุโมะ ริวสึเกะ @ ‎ภาษาแต้จิ๋วเท่าที่ฉันรู้(จากอาม่า)
8/13/2020
คัดจาก https://web.facebook.com/plu.danai/posts/2594157190834080
แก้ไขข้อความเมื่อ
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 7
@danaipmontol908
1 ปีที่แล้ว
ขอติงครับ

1. กอเต๊ง ไม่ได้มาจากคำว่า 高亭

เพราะ 高 ออกเสียง กอ เวลาใช้กับแซ่เท่านั้นครับ คือ แซ่กอ ( อย่าง คุณสัก กอแสงเรือง )

กอเต๊ง มาจากชื่อ 歌亭  หรือชื่อเต็มว่า 歌亭戏院 เป็นชื่อโรงหนัง ที่คนไทยเรียก โอเดี้ยน หรือนิวโอเดี้ยน

ที่ กอเต๊ง ไม่เคยมีศาลา แต่เป็นวงเวียนน้ำพุ เรียก วงเวียนโอเดี้ยนครับ

2. ทุกอาคารสูงในเยาวราชครั้งเก่าก่อน  ไม่ว่าจะเป็นเจ็ดชั้น หกชั้น หรือเก้าชั้น เค้าสร้างเป็น รมณียสถาน

“ ตึกทุกหลังเค้าสร้าง ‘พร้อม’ ติดตั้งลิฟท์ไฟฟ้า ตั้งแต่แรกเริ่ม ” ครับ .

เยาวราชในอดีต เป็น แดนศิวิไลซ์ ไม่ได้ล้าหลัง  ประตูไฟฟ้า ปิด-เปิด อัตโนมัติ ก็แรกมีที่เยาวราช

3. กงซีล่ง ไม่ได้ แปลว่า ห้องถ่ายทุกข์ หลังคาโล่งครับ ...  

คุณกุ่ย บรรยายสภาพ กงซีล่งได้ “ น่าเกลียด ” ที่สุด

โดยคุณไม่ทราบว่า ในอดีตย่านท่าน้ำราชวงศ์ เป็นย่านธุรกิจมาแต่เดิม เป็นศูนย์กลางธนาคาร และบริษัทการค้า

“ อีกทั้งเป็นที่ตั้ง ของ บริษัท ที่รับสัมปทาน เก็บอุจจาระตามบ้านเรือนในกรุงเทพ ”

ย่านราชวงศ์ไม่ใช่ลานสุขาที่คนทั้งกรุงต้องมาถ่ายทุกข์ที่นี่ครับ.

กงซีล่ง หรือ 公司廊 แปลว่า “ โรงเก็บสินค้าของบริษัทห้างร้าน ” ครับ

ย่านกงซีล่ง ท่านหมายถึง พื้นที่ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา จาก อนุวงศ์ ลงไปจรด วัดปทุมคงคา

ที่เดิมเป็น ย่านโกดังสินค้าครับ ทั้ง ข้าว กระสอบ ธัญญพืช ของป่า

กระทั่ง ‘ ท่าไข่ ’ ( ท่าเรือและโรงเก็บไข่สดขายชาวกรุง )


.



廊  หรือ โรงสินค้าแต่โบราณในย่านกงซีล่ง ที่ถูกปรับใช้งานตามยุคสมัย แต่ยังเห็นโครงสร้างของโกดังสินค้า
ความคิดเห็นที่ 8
@danaipmontol908
1 ปีที่แล้ว
ติงเพิ่มเติม

4. แช่ซ๋อ เค้ามีอยู่คู่กับ แช่ตี๊   ครับ

แช่ตี๊ คือ บ่อหมักอุจจาระ ใกล้แปลงปลูกพืชผักในชนบทครับ

แช่ซ่อ เป็น ห้องสุขาเหนือบ่อหมักครับ

ที่ถูกต้องแล้ว “ แช่ซ่อ ” เค้าไม่ได้หมายถึงห้องสุขาในเมือง

คำแต้จิ๋วที่หมายถึงห้องสุขา ท่านใช้ว่า ตังซี ครับ

ตังซี เป็นคำจีนสุภาพ ตั้งแต่ยุคราชวงศ์ถัง......


5. ฮังโหล่วโกย ที่เจ๊กใช้ ที่ถูกคือ 风炉街 ออกเสียงว่า ฮวงโหล่วโกย ครับ

6. ศาลเจ้าที่ฮวงโหล่วโกย ท่านเรียก เสี่ย อี่ง กง ครับ

隍 ที่หมายถึง เทพเจ้า ต้องออกเสียงว่า อึ๊ง ( ng5 ) อ้าง https://www.mogher.com/

7. เทพ เสี่ยอึ่งกง หรือ 城隍公 เป็นดวงวิญญาณ ที่สั่งสมความดี และได้การประทานจากฟ้าให้เป็นเทพเจ้าดูแลเหล่าภูตผีในเมือง

ดังนั้น เสี่ยอึ่งกง จึงเทียบได้กับ “ พระเสื้อเมือง ” ตามคติไทยครับ
ความคิดเห็นที่ 9
@danaipmontol908
1 ปีที่แล้ว
ติงเพิ่มเติม

8. หมู่เรือนอาณาจักรหวั่งหลีริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ตรงข้ามตลาดน้อย นั้น

เจ็กนำเสนออย่างไม่เข้าใจ ในภูมิหลัง และประวัติ ของพวกตระกูลหวั่งหลี....

ตระกูลหวั่งหลี ไม่ได้มาจากแซ่ชื้อ ครับ และผู้นำตระกูลในไทย ท่านก็ไม่ใช่ ชื่ออ่วงเอี๊ย ( 徐王爷 ) ครับ

ต้นตระกูลหวั่งหลี มาจากคนแต้จิ๋วแซ่ตั้ง ( 陳 )

ฉายาต้นตระกูลหวั่งหลี ไม่ใช่ มาจากคำว่า 徐王爷 อย่างที่เจ็กเข้าใจครับ

ที่ถูก ตันตระกูลหวั่งหลี ท่านมีนามว่า ฉื่อฮ้ง 慈黉

ฉายาของท่านจึงเป็น ฉื่อห่งเอี๊ย ( 慈黉爷 / ท่านฉื่อฮ้ง )

หมู่เรือนริมน้ำของตระกูลชื่อ เรือนห่วงหลีออกสำเนียงแต้จิ๋วว่า ห่งหลี ( 黉 利 )

.

ขออนุญาตละ เรื่อง Mata ( police ) , เรื่อง New Road และปลีกย่อยอื่น...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่