ทำไมหุ้นลง ความจริงของตลาดการเงินที่ใกล้พังเต็มที

เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมาตลาดสหรัฐฯหยุด Thanksgiving ทาง Federal Reserve (Fed) หรือธนาคารกลางสหรัฐฯเลยถือโอกาสออกมาให้ข่าวว่า หากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับนี้อาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด (คาดกันไว้ว่ากลางปีหน้า) ทำให้นักลงทุนในสหรัฐฯไม่มีโอกาสปล่อยของกัน

ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี้นี่แหละครับคือตัวแปรหลักที่ทำให้หุ้นขึ้นไม่หยุดมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

โปรแกรมอัดฉีดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อพันธบัตรต่างๆของ Fed และการลดอัตราดอกเบี้ยที่เกือบจะเป็น 0% ที่เรียกว่า NZIRP (Near Zero Interest Rate Policy) หรือที่ยุโรปที่ดอกเบี้ยติดลบเพื่อเชิญชวนให้คนมากู้เงินกัน ทำให้เงินในระบบล้น บริษัทเอกชน สถาบันการเงินต่างๆใช้ช่องตรงนี้ในการกู้เงินระยะยาวที่แทบไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เข้าไปลงทุนและ/หรือซื้อหุ้นของบริษัทฯตัวเองคืน จนทำให้หุ้นขึ้นอย่างไม่มีเหตุผลแบบที่เราเห็นตอนนี้ครับ

พอบอกว่าเงินที่ยืมมาลงทุนไว้จะไม่ฟรีหรือไม่ใช่เงินราคาถูกอีกต่อไป ก็ต้องระบายของออกครับ ซึ่งถ้าเจ้าใหญ่เอาออกอย่างเร็วเพราะไม่อยากขาดทุนแทนคนอื่น (เหมือนปี 2008 เคส Lehman Brothers ล้ม) ตลาดจะล้มอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สุด เพราะไม่เคยมีครั้งไหนที่มีเงินร้อนอยู่ในตลาดเยอะขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ 

ทีนี้มันกระทบอะไรกับเศรษฐกิจจริงๆที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขในตลาดบ้าง

เงินล้น = เงินเฟ้อ
เงินเฟ้อ = เศรษฐกิจดี คนมีรายได้ดี?
คนมีรายได้ดี = คนใช้เงินเยอะ
คนใช้เงินเยอะ = ของขาดตลาด
ของขาดตลาด = ของแพงขึ้น

ความจริงถ้าระบบการเงินดีมันควรจะเป็นแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงคือ ระบบการเงินเน่าเฝะยืนอยู่ได้จากเงินกู้และเงินอัดฉีดต่างๆ บริษัทซอมบี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด(เข้าตลาดหุ้นผ่าน SPAC ทั้งที่ไม่มีรายได้) คนตกงาน คนเป็นหนี้ คนไม่อยากใช้เงิน สถาบันการเงินก็ไม่มีรายได้เพราะไม่มีผู้กู้รายใหม่ รายเดิมๆก็ส่อจะเป็นหนี้เสีย เลยยิ่งต้องโหมกระหน่ำแคมเปญลดแลกแจกแถมหนี้กัน

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก ทองแดง แร่ต่างๆ น้ำมัน ปรับราคาขึ้นจากเหตุเงินล้นจนสถาบันการลงทุนทั่วโลกต้องหาสินทรัพย์ในการลงทุนเพื่อทำกำไรเพราะหลายสินทรัพย์ราคาแพงเกินไปแล้ว(หุ้น ฯลฯ) ส่งผลให้กระทบทุกอย่างในระบบอุตสาหกรรมทำให้ต้นทุนแพงขึ้นทุกอย่าง
ต้นทุนแพงขึ้น รายจ่ายก็ต้องลดลง นั่นหมายถึงคนงานก็ต้องลดลง กระทบไปถึงเรื่องการขนส่งและนี่คือเหตุผลหลักของระบบ supply chain ที่ทำให้ผลิตของไม่ทันความต้องการ (เช่น Chip ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ)

และในวันเดียวกันยังมีข่าว Covid Nu Variant (Omicron) ที่เสริมความน่ากลัวเข้าไปอีก ทำให้มีข่าวเล่นทั้งรายใหญ่และรายย่อย
ถามว่า Covid เกี่ยวไหม เกี่ยวครับกับสังคมในความจริงและผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับคนหาเช้ากินค่ำรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวทั้งโลก แต่กับตลาดการเงินมันไม่ใช่ทั้งหมด
จะเห็นว่าตลาดการเงินแค่เอาข่าวพวกนี้เป็นข้ออ้างในการควบคุมทิศทางตลาดเท่านั้น ไม่งั้นหุ้นคงไม่ขึ้นกันบ้าบอและยาวนานขนาดนี้

สุดท้ายขอฝากภาพเงินร้อนหรือหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ(เส้นสีฟ้า) และอัตราดอกเบี้ย(เส้นสีแดง) ณ ปัจจุบันให้ดูเล่นๆครับ และจะเข้าใจว่าทำไมกูรูหลายๆท่านถึงได้ฟันธงว่า ตลาดล้มรอบนี้น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์



ตลาดอาจจะยังไม่ลงทีเดียววันนี้พรุ่งนี้หรอกนะครับ และก็ไม่มีใครฟันธงได้ด้วยว่าจะลงจริงเมื่อไหร่ ได้แต่คาดการณ์คร่าวๆตามสถิติและกราฟเทคนิคต่างๆรวมถึงข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลทุกอย่างตอนนี้ สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติที่สุดแล้ว หาก Fed ถอนกำลังเงินที่ถมเข้าตลอดตอนนี้ออก ทั้งตลาดและเศรษฐกิจโลกล้มแน่นอนครับ
จึงยังมีคนเชื่อจริงๆว่า Fed คงจะยังปั๊มเงินเข้าระบบอย่างบ้าคลั่งต่อไปเพราะขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้นั่นเอง

คำถามคือ ตลาดโลกจะฝืนภาระอันหนักอึ้งนี้ได้อีกนานแค่ไหน หรือจะมีใครสักคนแบบ Lehman Brothers ที่เปิดเกมเทกระจาดจนเจ้าอื่นๆต้องจำใจเทขายตามๆกันเหมือนเดิม...
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่