JJNY : พบบ้านพักหลวงจ่ายค่าน้ำ-ไฟ เกิน 3พัน│ชาวจะนะทวงสัญญา│ชาวนาโอดขาดทุน ต้นทุนก็สูง│เชื้อบอตสวานาโผล่กลายพันธุ์เพียบ

กมธ.ป.ป.ช. พบบ้านพักหลวง ‘นายกฯ’ จ่ายค่าน้ำ-ไฟ เกิน 3 พัน ลุยต่อชอบด้วยกม.หรือไม่
https://www.matichon.co.th/politics/news_3058178
 
 
“กมธ.ป.ป.ช.” สอบบ้านพักหลวง “บิ๊กตู่” พบ จ่ายค่าน้ำ-ไฟ เกิน 3,000 บาท ลุยต่อชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
 
เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้ากรณีบ้านพักหลวง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า กรณีการจ่ายค่าน้ำค่าไฟเป็นการรับเงินเกิน 3,000 บาทตามประกาศของ ป.ป.ช. หรือไม่นั้น
 
“จากข้อเท็จจริงที่ได้ตรวจสอบบ้านพักรับรอง ระเบียบที่ออกมาเมื่อปี 2548 ไม่มีตัวเชื่อมโยงว่า ออกโดยอาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติอะไร แต่เป็นระเบียบภายในของกองทัพบก ซึ่งข้อ 11 ระบุว่า กองทัพสามารถที่จะจ่ายค่าน้ำค่าไฟและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ตามที่เห็นเหมาะสม ทั้งนี้ ในกระบวนการของการใช้เงินของภาครัฐโดยทั่วไปแล้ว เงินทุกบาทที่เป็นภาษีขาเข้าต้องผ่านกระทรวงการคลัง การใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์จะต้องมีกฎหมายรองรับ และต้องผ่านการตรวจเงินของหน่วยงาน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะใช้เงินภาษีตามอำเภอใจไม่ได้”
 
นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราตรวจสอบพบ คือ เอกสารที่กองทัพบกส่งมาให้ มีการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ในบ้านพักของนายกฯ เกิน 3,000 บาท ประเด็นอยู่ที่ว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องตีความทางกฎหมายโดยละเอียด และทราบว่าในการสร้างบ้านพักรับรองใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 17 ล้านบาท รวมถึงบ้านพักของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งทั้งสองคนพ้นจากตำแหน่งข้าราชการประจำไปเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นข้าราชการการเมือง
 
“โดยวันนี้ กมธ.ได้เชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งส่งตัวแทน คือ ระดับผู้อำนวยการ มาให้ข้อเท็จจริง ซึ่งแจ้งว่า ยังไม่ได้ตรวจรายละเอียดของงบบ้านพักรับรอง แต่ตรวจในรายละเอียดการใช้เงินของกองทัพบก กมธ.จึงได้ขอให้ตรวจบ้านพักรับรองว่า การจ่ายเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีการใช้จ่ายเกิน 3,000 บาทจริงหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงหนึ่งที่ออกมา คือ เดือน พฤศยิกายน.2563 บ้านพักนายกฯ ได้จ่ายค่าใช้จ่ายเอง แสดงว่าก่อนหน้านั้นตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. จนถึงปี 2563 รัฐจ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้กมธ.จะตรวจสอบให้ถึงที่สุด”


 
ชาวจะนะทวงสัญญาหลังเอกชนเดินหน้าโครงการต้นแบบอุตสาหกรรม
https://www.matichon.co.th/region/news_3058033
 
รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 25 พฤศจิกายน เครือข่ายปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา – สตูล และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น นำโดยนายรุ่งเรือง ระหมันยะ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ นายกิตติภพ สุทธิสว่าง และนายเอกชัย อิสระทะ พร้อมตัวแทนชาวบ้านในอำเภอจะนะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ถึง นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกร้องให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือ อีไอเอ ของบริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่จะดำเนินการในระหว่างวันที่ 13 – 20 ธันวาคม 2564 ในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
 
เนื่องจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีการทำบันทึกข้อตกลงกับรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ลงนามยอมรับข้อเสนอของเครือข่ายฯ โดยมีสาระสำคัญร่วมกันว่า ต้องตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่อย่างไร และระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างไว้ก่อน จนกว่าผลการตรวจสอบจะแล้วเสร็จเรียบร้อย โดยเฉพาะการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA. ทั้ง 4 ฉบับ ของบริษัททีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ (จำกัดมหาชน)
 
แต่วันนี้ทางบริษัท TPIPP และ ศอ.บต.กลับกำหนดวันที่จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการฯซึ่งจะนำไปสู่การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ EHIA ในโครงการย่อยจำนวน 4 ฉบับรวด ระหว่างวันที่ 13 – 20 ธ.ค. 2564 ทั้งนี้กระบวนการทำผังเมืองยังไม่แล้ว ผังเมืองยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นสีม่วง แต่กลับเดินหน้า ทำ EIA/EHIA จึงจำเป็นต้องออกมายื่นหนัง เคลื่อนไหว เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้รับหนังสือพร้อมประชุมรับทราบข้อเท็จจริงในโครงการ และจะดำเนินการนำเสนอข้อกังวลของกลุ่มประชาชนในพื้นที่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวทันที
 
ทั้งนี้นางนูรี โต๊ะกาหวี ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลายืนยันรัฐบาลต้องดำเนินการตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ไม่เช่นนั้นจะไปทวงสัญญาที่ทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะได้คำตอบ
 
นพ.สุภัทรกล่าวว่า การเตรียมที่จะจัดเวทีรับฟังความเห็นในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อนำไปสู่การทำรายงาน EIA และ EHIA ในโครงการย่อยจำนวน 4 ฉบับ เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากยังมีข้อตกลงร่วมเมื่อ 15 ธันวาคม 2563 ในการทำ SEA ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เองก็ยังไม่ได้รับทราบว่า มีความคืบหน้าอย่างไรหรือไม่ แต่การกำหนดเปิดเวทีรับฟังความเห็นกลับดำเนินการขึ้นในเวลารวดเร็วและยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด 19 ทำให้ต้องมาแสดงพลังกันอีกครั้ง
  
นางสาวจันทิมา ชัยบุตรดี ตัวแทนชาวบ้านในอำเภอจะนะ กล่าวว่า หากเกิดโครงการฯนี้ขึ้นมาจริงๆ นั้นผลกระทบคงไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะรัศมี 5 กิโลเมตร เท่านั้น แต่ในการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กลับทำขอบเขตเพียงรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้น ลองเทียบดูว่าผลกระทบจากอินโดนีเซียยังมาถึงประเทศไทยได้ นอกจากนั้นชุมชนชาวประมงเองก็มีความกังวลกับโครงการนี้ เพราะจะนะถือเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ แต่หากเกิดอุตสาหกรรมขึ้นมา ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับแหล่งอาหาร และอาชีพของชาวประมง ซึ่งไม่มีความเป็นธรรมกับชาวประมง
 


ชาวนาชะลอการขาย หวังราคาข้าวสูงขึ้น โอดขาดทุน ต้นทุนก็สูง วอนรัฐบาลแก้ปัญหา
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6750201
 
ผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกนาปีที่ตกต่ำ ชาวนาอุตรดิตถ์นำข้าวตากแดด ให้แห้งลดความชื้น ชะลอการขาย หวังราคาข้าวสูงขึ้น วอนรัฐบาลแก้ไปัญหา
  
วันที่ 25 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามคันคลองส่งน้ำซึ่งผ่านแปลงนา รวมไปถึงที่ลานที่ว่างในชุมชน หรือแม้กระทั่งบริเวณหน้าบ้าน เกษตรกรทำนาตำบลน้ำริด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ต่างจับจองเพื่อนำข้าวเปลือกนาปีที่เก็บเกี่ยวมาตากแดด เป็นการลดความชื้น ก่อนจะบรรจุใส่ถุงปุ๋ยเก็บไว้ชะลอการขาย เพื่อรอทิศทางราคาหวังราคาข้าวเปลือกจะสูงขึ้น
 
นายบรรจง หงส์ประสิทธิ์ ชาวนาหมู่ 1 ต.น้ำริด อ.เมืองอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ทุกปีหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ก็จะบรรทุกข้าวเปลือกจากแปลงนามุ่งนาไปยังลานรับซื้อทั้งของสหกรณ์ฯ และ พ่อค้าคนกลาง แบบวันต่อวัน นับเงินสดมาเลย แต่ปีนี้ด้วยราคาข้าวเปลือกนาปีตกต่ำที่สุดในชีวิตการทำนาการเป็นเกษตรกร แต่ราคาปุ๋ยเคมี น้ำมันราคาแพง ส่งผลต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ถ้าตัดใจขายก็ขายทุน ได้เงินไม่พอที่จะใช้หนี้สหกรณ์และ ธกส.ดังนั้น หลังจากจ้างรถเกี่ยวและดูดเสร็จแล้ว เอาไปผึ่งแดด หรือตากแดดให้เมล็ดข้าวแห้ง ตากประมาณ 3 แดด เมล็ดข้าวจะแห้งพอดี เป็นการลดความชื้นของข้าว ก่อนจะนำไปขายหวังว่าจะได้ราคาสูง
 
“การตากข้าวเปลือก ก็มีต้นทุนเพิ่ม ซื้อผ้าใบหรือผ้าลี่ตากข้าว กระสอบเพื่อใส่ข้าวหลังตากแห้งแล้ว ช่วงนี้จึงเห็นว่าตามลานที่ว่างในชุมชน หมู่บ้าน ชาวนาจะจับจองขอใช้เป็นลานตากข้าวเปลือกนาปี หลังตากจะบรรจุกระสอบ ยังไม่ขาย เพื่อรอทิศทางราคาข้าวเปลือกมีความหวังว่าจะสูงขึ้น ทำนาปี 20 ไร่ ยังไม่ได้ขายข้าวสักเมล็ด ปีนี้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำที่สุด เป็นประวัติการณ์ อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าว รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำแทบทุกชนิด ของอย่างอื่นแพงหมด ยกเว้นราคาผลผลิตทางการเกษตร” นายบรรจง กล่าว
  
ด้าน นายประพันธ์ มายรรยง ผจก.สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์ จำกัด แหล่งรับซื้อข้าวเปลือกนาปีแหล่งใหญ่ของ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปีนี้ต้องเปิดรับซื้อข้าวของเกษตรกรพื้นที่ อ.เมืองอุตรดิตถ์กว่า 8 หมื่นไร่ ที่ชาวนาทำข้าวมาขายไม่ต่ำกว่า วันละ 800 ตัน รับซื้อในราคาตลาด ตามความชื้น แต่หากขึ้นทะเบียนเกษตรกร ก็สามารถเข้าร่วมโครงกาประกันรายได้ จะได้เพิ่มอีกตันละ 500 บาท สหกรณ์พยายามที่จะรับซื้อข้าวทุกเมล็ดเพื่อแบ่งเบาช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบราคาข้าวตกต่ำ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่