ไม่อยากหัวล้านเพราะพันธุกรรม ต้องทำอย่างไร

ไม่อยากหัวล้านเพราะพันธุกรรม ต้องทำอย่างไร❓ 
 
     ยิ่งอายุมากขึ้นอะไรๆ ก็เปลี่ยนไป ทั้งสุขภาพและรูปร่างหน้าตา แม้แต่เส้นผมที่เคยดกดำก็เริ่มมีสีขาวแซมขึ้นมา แถมบางทีก็หลุดร่วงจนทำให้เราเสียความมั่นใจในตัวเอง เพราะกลัวว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผมบางหรือหัวล้าน 👨‍🦲 โดยเฉพาะคนที่มีพันธุกรรมด้านนี้ 
     ภาวะผมบางนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะภาวะผมบางทางพันธุกรรมและฮอร์โมน ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีการศึกษาพบว่า ความเครียด มลภาวะ สิ่งแวดล้อม รวมถึงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็สามารถทำให้เกิดภาวะผมบางได้ โดยมีความสัมพันธ์ร่วมกับฮอร์โมนเพศชาย ♂️ ที่ชื่อว่า แอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เป็นตัวกำหนดวงจรของเส้นผม รวมถึงควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นผม 
     แล้วภาวะผมบางทางพันธุกรรมและฮอร์โมนเกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้หรือไม่ ไปทำความรู้จักกับภาวะนี้พร้อมๆ กันเลยครับ 
 
วงจรของเส้นผม
      ในแต่ละวันจะมีเส้นผมที่ต้องหลุดร่วงเฉลี่ยประมาณ 100 เส้นต่อวัน และเข้าสู่วงจรการงอกใหม่โดยสเต็มเซลล์จากรากผม ซึ่งเส้นผมจะมีความหนานแน่นที่สุดและเส้นใหญ่ที่สุดในช่วงอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นความหนาแน่นและขนาดของเส้นผมก็จะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น จนในที่สุดวงจรของเส้นผมนั้นก็หยุดและไม่สร้างเส้นผมอีกต่อไป ทำให้เกิดภาวะผมบางหรือหัวล้านนั่นเอง  
 
ภาวะผมบางสามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง 
     ภาวะผมบางอาจมีความสัมพันธ์กับโรคต่างๆ เช่น ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย โรคถุงน้ำรังไข่ในเพศหญิง รวมถึงการได้รับยาบางชนิด ซึ่งทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน 
     ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเส้นผมจะเป็นผู้วินิจฉัยว่า ภาวะผมบางนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร โดยประเมินจากรูปแบบการบางของเส้นผม ซึ่งบางครั้งก็อาจต้องใช้กล้องกำลังขยายพิเศษ 🔎 เพื่อตรวจสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ ร่วมกับการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อหาโรคทางกายหรือสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ผมบางร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อราบนหนังศีรษะ โรคที่มีการอักเสบของหนังศีรษะ รวมถึงการขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด เป็นต้น 
 
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะผมบาง 
     ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะผมบางจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะพันธุกรรมที่มาจากญาติทางฝั่งมารดา ซึ่งภาวะนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่วัยรุ่น แต่จะสามารถพบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น มีการศึกษาพบว่า มากกว่า 50% ของผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป พบภาวะผมบางทางพันธุกรรมและฮอร์โมนร่วมด้วย 
 
สังเกตอย่างไรว่าตัวเองเริ่มมีภาวะผมบาง 
     รูปแบบการบางของเส้นผมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจะมีลักษณะที่ต่างกัน สำหรับผู้ชาย 👨 ผมบางจะเริ่มจากบริเวณด้านหน้าของขมับทั้งสองข้าง ร่นลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนแนวผมด้านหน้าที่เคยเป็นเส้นตรงแหว่งเข้าไปจนกลายเป็นรูปตัว M หรือในบางรายอาจเริ่มที่บริเวณกลางกระหม่อมและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ สำหรับผู้หญิง 👩 อาจเริ่มจากบริเวณรอยแสกกลางศีรษะ และค่อยๆขยายวงกว้างเมื่ออายุมากขึ้น  
 
วิธีป้องกันและรักษาภาวะผมบางทางพันธุกรรมและฮอร์โมน
     ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันภาวะผมบางประเภทนี้ได้ แต่มีวิธีรักษาที่สามารถชะลอการหลุดร่วงและกระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ได้โดยการใช้ยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่า ให้ผลการรักษาที่ดีและมีผลข้างเคียงต่ำ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาแบบอื่น เช่น การใช้เลเซอร์ (Mosaic Laser) หรือแสงที่มีความเข้มข้นต่ำ (LED – Laser light) รวมไปถึงการฉีดเกร็ดเลือดเข้าไปที่รากผม เพื่อกระตุ้นการทำงานของรากผม 
     ซึ่งการรักษาสามารถเห็นผลที่ชัดเจนได้ภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จก็คือ การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และการรักษาที่ต่อเนื่องภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ดังนั้น ถ้าพบว่าตัวเองเริ่มมีภาวะผมบาง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไร พี่หมอแนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษานะครับ 
 
     แม้ว่าภาวะผมบางจากพันธุกรรมและฮอร์โมนจะดูเหมือนเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเจอกับสภาพนี้ พี่หมอเชื่อเสมอว่า ถ้าเราดูแลตัวเองเป็นอย่างดี กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียดจนเกินไป ไม่ว่าจะมีพันธุกรรมแบบไหน เราก็สามารถเป็นคนที่แข็งแรง มีสุขภาพดี และคงความเป็นหนุ่มสาวสองพันปีได้อย่างแน่นอน 😎😎😎
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่