แม่ขโมย นมร้านค้าให้ลูกกิน  เราจะตัดสินยังไง?

แม่ขโมย นมร้านค้าให้ลูกกิน  เราจะตัดสินยังไง?

    จากกรณีที่มีการจับกุมหญิงสาวชาวจังหวัดศรีสะเกษ วัย35ปี ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ที่ก่อเหตุขโมยนมผงและรองเท้านักเรียนเพื่อไปให้ลูกได้ใช้และดื่มกินเหตุ เพราะตกงานไม่มีรายได้ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น  ส.ส. ใช้เงินสด 1 แสนบาท ยื่นขอประกันตัวแม่ลูก 4 กระทั่งในเวลา 16.30 น. ศาลได้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง ท่ามกลางความดีใจ ของเด็กชายโตโน่ บุตรวัย 9 ขวบ ที่รู้ว่ามารดาได้รับการประกันตัวและจะกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง (https://www.77kaoded.com/news/diawkongsin/700247)

    ตอบว่า ขโมยนม ผิดไหม? ถ้าเอาตามกฎเกณฑ์ก็ตอบว่าผิด 

    และถามว่าจับกุมเขาให้ติดคุกแล้วเราผิดไหม? ก็ต้องผิดเช่นกัน เพราะ "เราใช้เกินกว่าเหตุ" เพราะว่าแค่นี้เขาก็ทุกข์ร้อนอยู่แล้ว แค่ตรงนี้ไม่กี่ตังค์ สำหรับเขาไม่เดือดร้อนเลย แต่เราเพิ่มความเดือดร้อนให้เขาเท่าไหร่

    ถ้าเรารู้จักให้อย่างนี้เขาเรียกว่า "จาคะ" แม้ว่าเราจะถูกต้องเพียงใด แต่เรายอมให้ได้ นี่แหละจาคะ

    ถ้าเราจะบอกว่า เป็นเพราะกฎแห่งกรรม เพราะเขาทำไม่ดีจึงต้องได้รับผลอย่างนี้

    ทุกอย่างก็เป็นกฎแห่งกรรมหมด เขาขโมยของเราก็เป็นกฎแห่งกรรมเหมือนกัน คิดว่าอดีตชาติเราก็คงเคยไปขโมยของเขา ชาตินี้เขาก็มาขโมยของๆ เรา ทำไมไม่ไปขโมยของคนอื่น

    ถ้าเราคิดแค่นี้ก็ควรที่จะอะลุ้มอล่วยกันใช่ไหม? เหตุผลมีแค่นี้เราก็ต้องรู้จักอโหสิแก่กัน

    ไม่ใช่บอกว่า "ถูกหรือผิด" แต่บอกว่า "มันสมควรขนาดไหน จัดการยังไง"

    นี่แหละเขาเรียกว่า "กรุณา"

    คนทั่วไปไม่เข้าใจว่า "กรุณาคืออะไร? จาคะคืออะไร?"

    อย่างนี้แหละคือกรุณาและจาคะ ทั้งๆ เรามีสิทธิ์จะลงโทษเขา แต่เพราะเขามีเหตุอันควร เราจึงอโหสิ

    จาคะกับบริจาคเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

    ตอบว่า จาคะสูงกว่าบริจาค ๑๐๐ เท่า 

    การบริจาค คือ เรามีเหลือแล้วเราให้เขาได้ หรือสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับเราแล้วเราให้เขาได้

    ส่วนจาคะ หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นยังสำคัญสำหรับเรา แต่เราแบ่งปันได้

    ส่วนการให้ทาน ก็ยิ่งอ่อนกว่าอีก ให้ทาน คือ ตัวเรามีเหลือแล้ว เราเจาะจงบุคคลให้เขา ส่วนการบริจาคยังกว้างๆ เช่น คนนี้คุยดีกับเรา เราก็ให้ทานแก่เขา ให้ของกินแก่เขา แต่ถ้าเป็นการบริจาค จะเป็นการให้หมดไม่เลือกว่าเขาจะเป็นยังไงเช่นใด

    ส่วนคำว่า "ทำบุญ" คือ จะเป็นการส่วนตัว ส่วนบุคคลแล้ว เช่น เราไหว้พระก็เป็นการทำบุญ เพราะทำให้เราสบายใจ สมมติว่าเราทำทาน เราก็สบายใจ นี่แหละเราได้บุญแล้ว

    ในบุญก็มีกุศลแล้ว เพียงแต่ว่าเราใช้หรือเปล่า บุญกับกุศลมาคู่กันตลอด ซึ่งอยู่กับบุคคลต่างหากว่ามีปัญญาพอที่จะทำบุญแล้วให้เกิดกุศลหรือไม่ ถ้าเราไม่มีปัญญาเราก็เอาบุญไปเฉยๆ

    ง่ายๆ เลย เราทำบุญแล้ว เราดีใจไหม? เราปิติไหม? เราตั้งปณิธานว่ารอบหน้าจะทำให้มากขึ้นไหม? ถ้าเราไม่ได้ตั้งปณิธานจะทำอีก นี่แหละ กุศลไม่เกิดแล้ว ได้แต่บุญอย่างเดียว แต่ถ้าเราตั้งปณิธานว่า เที่ยวหน้าเราจะทำให้มากขึ้น นี่แหละ "เกิดโอกาสแล้ว" เป็นกุศลแล้ว เกิดโอกาสที่จะได้ทำมากขึ้น 
    แต่ถ้าคราวหน้าเราก็ยังทำบุญอยู่ แต่ไม่ได้ตั้งปณิธานไว้ อย่างนี้จะเป็นกุศลไหม?

    ก็ไม่เป็นกุศล เพราะว่าเราไม่ได้สัญญาไว้ อันนี้แล้วแต่จังหวะไหนที่เราพอใจก็ทำไม่พอใจก็ไม่ทำ มันก็จะอ่อน เพราะไม่มีสัญญา แต่ถ้ามีสัญญาก็จะกระตุ้นให้ตั้งใจจะทำ ถ้าอย่างนั้นจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ก็เหลวไปทุกที

    ถ้าเราพูดถึงธรรมะ เราอย่าไปให้ความสำคัญว่า "ผิดกับถูก" มากกว่าเกิน รูปแบบมากเกินไป

    เราจะต้องมาพิจารณาถึง "เหตุ" สำคัญกว่า

    ยกตัวอย่างแม่ลูกอ่อนไปขโมยนมนี้ ยังไงก็ผิดอยู่แล้ว ไม่มีทางว่าถูก มีทางเดียวที่ถูกก็คือ เราอโหสิ ไม่ถือสา เราไม่ฟ้องร้อง

    ถ้าเจ้าของไปฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล นี่แหละเจ้าของผิดแล้ว

    สิ่งที่ผิดเพราะว่า เราไม่มีความกรุณา ไปบีบคั้นเขา เพราะเขาทุกข์อยู่แล้ว เราไปซ้ำเติมเขา ก็เขาบอกเหตุแล้ว บางคนโดนซ้ำเติมแล้วไม่ไหว ก็จะฆ่าลูก ฆ่าตัวเองตายเลย

    ถ้าจะไม่ให้เป็นไปทางมิจฉา เราจะต้องฟังเหตุของเขา ว่าทำไมเขาถึงทำผิด มีเหตุอันควรไหม? ถ้าเราฟังเหตุของเขาแล้ว เราจะต้องหาคุณธรรมมากล่อมเกลาจิตใจเขาให้เขาเปลี่ยนแปลง

    นี่แหละ เขามีเหตุอันควร เพราะว่าลูกไม่มีอันจะกิน เขาไม่มีเงินที่จะซื้อ ฉะนั้น เราก็ควรจะหางานให้เขาทำ เรากล่อมเกลาเขาได้นี่

    ยกตัวอย่าง เขาจะเอาปืนยิงเรา แล้วเราเอาปืนยิงเขาก่อน  อันนี้เป็นเหตุอันควรไหม? เป็นการป้องกันตัว?

    ถามต่อว่า แล้วเรามีเหตุอะไร ที่เขาเอาปืนมายิงเรา

    ก็เพราะว่า เราไปขัดผลประโยชน์เขา

    อันนี้ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเป็นวิบากกรรม ไม่ใช่เหตุอันควร ผิดเต็มๆ

    แต่สำหรับกรณีที่ผู้หญิงขโมยนมนี้ ไม่ได้มีผลประโยชน์ต่อกัน ไม่มีวิบากต่อกัน 

    แต่เหตุการณ์ข้างต้นเพราะว่าเราไปขัดผลประโยชน์เขา มันเป็นเรื่องที่เราจะต้องไปคุยกัน 

    แต่ถ้าอยู่ดีๆ ไม่มีเรื่องอะไรแล้วเขาเอาปืนมายิงเรานี่สิ ถึงจะมีเหตุอันควรว่าไปอย่าง

    แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ "จ่าคลั่ง" กราดยิง โศกนาฏกรรมกลางเมืองโคราช ที่ห้างเทอร์มินอล 21 บ่าย 3 ของวันเสาร์ ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ล่ะ

    ตอบว่า ในกรณีนี้ วินาทีแรกเลยต้องยิงทิ้งเลย ตัดตอนไม่งั้น ประชาชนจะตายฟรี อย่างนี้เป็นการถูกต้อง เพราะเขาคลั่งแล้ว ฉะนั้น ผู้บัญชาการเหตุการณ์นี้ผิดด้วย เพราะว่า จัดการไม่เรียบร้อย เพราะถ้าหากว่าจัดการดี อีก ๓๑ ราย บาดเจ็บ ๕๗ ราย ก็จะไม่ต้องเกิดขึ้น 

    คนสั่งตรงนี้ผิด จะอ้างว่าเมตตาใช่ไหม?

    บางครั้งเมตตาก็ก่อเรื่องได้เช่นกัน

    สมมติว่า คนผีบ้าคลั่งขึ้นมา ก็ต้องเป่าทิ้งเช่นเดียวกัน เพราะว่ามันจำเป็น เพราะเราควบคุมเขาไม่อยู่แล้วจะทำยังไง ทางเดียวคือถ้าจับได้ก็ให้จับ แต่ถ้าหากว่าจับไม่ได้ก็ต้องยิงทิ้ง

    นี่แหละ บางครั้งการฆ่า ก็ฆ่าด้วยกุศล ฆ่าแล้วได้กุศลเช่นกัน ฆ่าด้วยจิตเมตตา

    และถ้าอยู่ในยามศึกสงคราม ยิงฆ่ากันก็ไม่ผิด เพราะว่าเป็นวิบากต่อกัน ฉะนั้น อย่าให้ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดก็จะฆ่าฟันกัน

    สมัยโบราณ กรุงศรีอยุธยากับพม่า ทำศึกสงครามกันก็คือว่าเป็นธรรมดา ไม่ว่าชนชาติไหนก็มีการทำศึกสงครามต่อกัน เขาเรียกว่า "ศีลในธรรม" เป็นเรื่องปกติเพราะมีเหตุอย่างนั้นก็ต้องมีผลอย่างนี้

    พอมาทีหลัง ราชวงศ์ของบุเรงนองถูกโค่น ก็จะไปโทษอย่างนั้นไม่ได้เช่นกัน เพราะลูกหลานอ่อนแอเอง

^_^  ..._/_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

#อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่