ถ้ามีใครมาบอกว่า คนนั้นคนโน้นเป็น “พระโพธิสัตว์” เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าเขาเป็นพระโพธิสัตว์จริง?

โพธิสัตว์: ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา
:พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
............................................
เกณฑ์การเป็นพระโพธิสัตว์ของสำนักหรือลัทธิความเชื่อต่างๆ กำหนดไว้อย่างไร ท่านที่สนใจอาจจะศึกษาหาความรู้กันได้ตามประสงค์
ที่จะว่าต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทของเรา
คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทแสดงไว้ว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะได้นามว่า “โพธิสัตว์” คือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป มี ๘ ประการ เรียกเป็นคำศัพท์ว่า “อัฐธรรมสโมธาน” ดังคำบาลีต่อไปนี้
.....................................
มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ
เหตุ สตฺถารทสฺสนํ
ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตฺติ
อธิกาโร จ ฉนฺทตา
อฏฺฐธมฺมสโมธานา
อภินีหาโร สมิชฺฌติ.
.....................................
(มะนุสสัตตัง ลิงคะสัมปัตติ
เหตุ (เห-ตุ) สัตถาระทัสสะนัง
ปัพพัชชา คุณะสัมปัตติ
อะธิกาโร จะ ฉันทะตา
อัฏฺฐะธัมมะสะโมธานา
อะภินีหาโร สะมิชฌะติ.)

ถอดความว่า ผู้ที่จะเป็น “โพธิสัตว์” ต้องตั้งความปรารถนาโดยมีองค์ประกอบ ๘ ประการ ดังนี้ -
(๑) มนุสฺสตฺตํ: ขณะตั้งความปรารถนา ต้องเป็นมนุษย์
ท่านอธิบายว่า ผู้อยู่ในภพภูมิอื่น เช่นเป็นเทพหรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน สภาพจิตไม่พร้อมที่จะตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ ภูมิมนุษย์เท่านั้นที่สามารถพัฒนาจิตให้พร้อมได้
(๒) ลิงฺคสมฺปตฺติ: ขณะตั้งความปรารถนา ต้องเป็นเพศชาย
ข้อนี้นักนิยมความเสมอภาคทางเพศคงจะไม่เห็นด้วย แต่คัมภีร์ท่านว่าไว้อย่างนั้น-ทำนองเดียวกับที่ว่า ผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้
ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรจึงจะเข้าใจ คิดได้อย่างเดียวคืออธิบายด้วยอุปมา
อุปมาเหมือนตาลตัวเมียกับตาลตัวผู้
ตาลที่มีลูก เราเรียกว่า “ตาลตัวเมีย”
ตาลที่ไม่มีลูก เราเรียกว่า “ตาลตัวผู้”
ตาลต้นไหนไม่มีลูก แม้อยากจะเป็นตาลตัวเมียก็เป็นไม่ได้
ตาลต้นไหนมีลูก แม้อยากจะเป็นตาลตัวผู้ก็เป็นไม่ได้
สภาพของธรรมชาติเป็นเช่นนั้นเอง
พระโพธิสัตว์ต้องเป็นผู้ชาย-ฉันใดก็ฉันนั้น
(๓) เหตุ: มนุษย์ที่เป็นชายผู้นั้นต้องมีระดับจิตที่สามารถจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั้นเอง
อธิบายว่า บุคคลผู้นั้นปฏิบัติจิตภาวนาจนกระทั่งอีกก้าวเดียวก็จะข้ามจากปุถุชนขึ้นสู่ความเป็นพระอริยะ และไม่ใช่บรรลุธรรมแค่เป็นโสดาบัน หากแต่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วย
หมายถึงว่า ถ้าบุคคลผู้นั้นปรารถนาจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้นก็สามารถทำได้ แต่ไม่ปรารถนาจะเป็นพระอรหันต์ซึ่งหมดกิเลสไปเฉพาะตัวผู้เดียว หากแต่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเวไนยสัตว์ให้บรรลุธรรมได้ด้วย
องค์ประกอบข้อนี้เท่ากับบอกว่า ใครที่กิเลสยังหนา ปัญญายังหยาบ ชาตินี้ปฏิบัติธรรมขนาดไหนก็บรรลุมรรคผลไม่ได้ อย่างนี้ละก็ย่อมไม่สามารถจะเป็นพระโพธิสัตว์ได้
(๔) สตฺถารทสฺสนํ: ขณะตั้งความปรารถนานั้นได้พบพระพุทธเจ้าและได้รับพยากรณ์ว่าความปรารถนาจะสำเร็จ
กาลบัดนี้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว องค์ประกอบข้อนี้เป็นอันหมดหวังที่จะทำได้
คัมภีร์ท่านอธิบายไว้ด้วยว่า แม้จะไปตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ต่อหน้าพระพุทธปฏิมา สถูปเจดีย์ หรือโพธิพฤกษ์ใดๆ โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ก็ไม่อาจจะสำเร็จได้เลย
(๕) ปพฺพชฺชา: ในขณะที่ตั้งความปรารถนาต้องอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ
หมายความว่า ถ้ายังเป็นคฤหัสถ์ ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ได้
(๖) คุณสมฺปตฺติ: สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว
หมายความว่า ต้องเป็นคนที่ได้ปฏิบัติจิตภาวนาจนบรรลุอภิญญาสมาบัติมาแล้ว ผู้ไม่เคยปฏิบัติ หรือเคยปฏิบัติแต่ยังไม่ได้บรรลุถึงระดับที่กำหนด ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จ
(๗) อธิกาโร: ประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต
หมายความว่า ในการตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ต้องประกอบวีรกรรมสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นยอมสละชีวิต ถ้าไม่ได้ทำเช่นนั้น ก็ตั้งความปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จ
(๘) ฉนฺทตา: ปรารถนาพุทธภูมิอย่างเด็ดเดี่ยว คือตั้งใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเด็ดขาดแน่นอน แม้พบอุปสรรคหนักหนาขนาดไหนก็ไม่ถอยกลับ
ข้อนี้ท่านวาดภาพให้เห็นว่า ---
สมมุติว่าใครจะเป็นพระพุทธเจ้าต้องไปตกนรกเป็นเวลานานสี่อสงไขยแสนมหากัปเสียก่อนจึงจะเป็นได้ ก็เต็มใจไปตก
สมมุติว่าสกลจักรวาลเต็มด้วยถ่านเพลิงที่ร้อนจัดไฟลุกแดง ใครเดินเท้าเปล่าลุยข้ามไปได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจเดินลุยข้ามไป
สมมุติว่าพื้นสกลจักรวาลมีใบหอกใบดาบปักอยู่ทุกตารางนิ้ว ใครเดินเท้าเปล่าฝ่าคมใบหอกใบดาบไปได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจเดินฝ่าไป
สมมุติว่าสกลจักรวาลมีน้ำเปี่ยมฝั่ง ใครว่ายข้ามไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจว่ายข้ามไป
สมมุติว่าสกลจักรวาลเต็มไปด้วยกอไผ่หนามหนาแน่นไม่มีช่องว่าง ใครเอาตัวดันฝ่าหนามไผ่ไปถึงฟากโน้นได้จึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เต็มใจที่จะฝ่าไป
ใครปรารถนาพุทธภูมิด้วยหัวใจเด็ดเดี่ยวถึงขนาดที่ว่านี้ จึงจะครบองค์ประกอบข้อสุดท้าย
ประเภท-ตั้งเช้า เย็นเลิก ตั้งวันนี้ พรุ่งนี้เลิก ตั้งปีนี้ ปีหน้าเลิก หรือตั้งเมื่อเป็นหนุ่มๆ พอแก่ก็เลิก-แบบนี้ไม่ใช่พระโพธิสัตว์แน่นอน
ตามองค์ประกอบที่ท่านแสดงไว้นี้จะเห็นได้ว่า การเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่เพียงแค่มีศรัทธานึกอยากจะเป็นก็ตั้งใจเป็นได้ทันที
......................
คนส่วนมากไม่ได้ศึกษาหลักการของท่าน แต่ใช้วิธีคิดเอาเองหรือกำหนดกฎเกณฑ์เอาเอง ไม่รับรู้ว่าหลักการเดิมของท่านกำหนดไว้อย่างไร หรือบางทีไปเจอหลักการเป็นพระโพธิสัตว์ของสำนักนั่นนี่โน่นแล้วเกิดเลื่อมใสชอบใจ แล้วก็เข้าใจว่าพระโพธิสัตว์คือแบบนั้น จึงเกิดมีพระโพธิสัตว์หลากหลายรูปแบบ
เราคงไม่สามารถไปบังคับให้ใครเชื่อองค์ประกอบการเป็นพระโพธิสัตว์ตามหลักการที่ท่านกำหนดไว้ในคัมภีร์ของเราได้หมดทุกคน แต่เราสามารถศึกษาหลักการให้เข้าใจและถือไว้เป็นมาตรฐาน เมื่อเห็นใครประกาศตัวเป็นพระโพธิสัตว์ ก็พึงรับรู้อย่างรู้เท่าทัน
ใครอยากเป็นพระโพธิสัตว์แบบไหน ก็เชิญเป็นกันตามอัธยาศัย
แต่ “ตำราดูพระโพธิสัตว์” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีอยู่
เชื่อหรือไม่เชื่อ ชอบหรือไม่ชอบ ไม่มีใครว่าอะไร
แต่รู้ไว้ดีกว่าไม่รู้
อย่างน้อยก็ถูกหลอกได้ยากหน่อย

สุทฺธาวาเสสุ เทเวสุ
เหตุ นาม น วิชฺชติ
เนกฺขมฺมนินฺนา สปฺปุริสา
วิสํยุตฺตา ภวาภเว
จรนฺติ โลกตฺถจริยาโย
ปูเรนฺติ สพฺพปารมีติ ฯ
ไม่มีเหตุที่จะไปเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส*
เป็นสัตบุรุษผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
ไม่ติดข้องในภพน้อยใหญ่
ประพฤติแต่ประโยชน์เกื้อกูลต่อโลก
บำเพ็ญบารมีทั้งปวงไว้พร้อมบริบูรณ์ ดังนี้
.....................
*เนื่องจากเทพชั้นสุทธาวาสไม่มาเกิดเป็นมนุษย์อีก แต่พระโพธิสัตว์ต้องมาเกิดและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกมนุษย์-นี่คือการแสดงเหตุผลที่สอดคล้องกับหลักการ
ที่มา: มธุรัตถวิลาสินี หน้า ๔๘๖
*นิชฌามตัณหิกเปรต เปรตจำพวกหนึ่ง ถูกความอยากแผดเผาอยู่ตลอดเวลา
*ขุปปิปาสิกเปรต เปรตจำพวกหนึ่ง มีความหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา
*กาฬกัญชิกาสูร อสูรพวกหนึ่งเป็นชั้นต่ำสุดในพวกอสูร ร่างกายสูงประมาณ ๖๐ ถึง ๘๐ ศอก มีแต่หนังหุ้มกระดูก
.....................
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่