ว่าด้วยเรื่องปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันของปี 63 กับ 64 ทำไมถึงแตกต่างกัน?

สืบเนื่องจากราคาน้ำมันที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องปรับขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ก็เริ่มมีคนนำป้ายราคาน้ำมันเมื่อปี 63 กับ 64 เอามาเปรียบเทียบกัน แต่ไร้เหตุผลในการอธิบาย เลยอยากเอารูปนี้มาตั้งเป็นกระทู้เผื่อมีคนสนใจที่จะหาคำตอบ ว่ามันมีปัจจัยอะไรทำให้แตกต่างกัน?

แต่ก่อนที่จะไปถึงปัจจัยที่ส่งผลกับราคาน้ำมัน ผมอยากจะทวนโครงสร้างราคาน้ำมันแบบสั้นๆ อีกครั้งก่อน ใครที่ทราบแล้วข้ามไปได้เลย แต่ใครที่ไม่เคยทราบมาก่อน ขอให้แวะอ่านตรงนี้อย่าเพิ่งเลื่อนผ่านเลยนะครับ 

ก่อนจะไปไขข้อข้องใจจากเรื่องที่ผมตั้งหัวกระทู้ไว้ ผมต้องขอเกริ่นถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน ในส่วนของ "เนื้อน้ำมัน” จะได้เข้าใจตรงกัน
"เนื้อน้ำมัน" ที่ขายในประเทศจะมีการกำหนดให้ราคาอ้างอิงกับตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์
ด้วยความที่เป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่สุดในเอเชีย ก็จะทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา (ถ้าใครนึกไม่ออกอารมณ์เหมือนกับตลาดหุ้น มีขึ้นมีลงตลอดเวลา) 

ด้วยเหตุจากราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ แล้วตลาดสิงคโปร์มีความผันผวน จึงทำให้ราคาน้ำมันไทย ปรับตัวอยู่บ่อยๆ 
ส่วนตัวผมเองก็มองว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย 
ข้อดีคือ...ได้ใช้ราคาน้ำมันที่สะท้อนราคาอย่างแท้จริง ตลาดถูกใช้น้ำมันถูก
ข้อเสียคือ...ราคาน้ำมันปรับบ่อย น่ารำคาญใจจัง
แต่ก็นั่นแหละครับ "เราจะรู้สึกน่ารำคาญเมื่อน้ำมันปรับขึ้น แต่เราจะโอเคตอนที่ปรับลง" แต่ไม่ว่าจะอย่างไร "ราคาน้ำมันปรับตัวตามตลาดสิงคโปร์" ตลอดทุกครั้งอยู่แล้ว

มาถึงความข้องใจจากหัวกระทู้ "ทำไมราคาน้ำมันปี 63 กับ 64 ถึงมีความแตกต่างกัน"


ก็สืบเนื่องจากสถานการณ์โลกที่เจอโควิด เศรษฐกิจชะงัก ประกอบกับช่วงปี 63 ตลาดน้ำมันโลก (ตลาดน้ำมันโลก = ตลาดน้ำมันดิบ) เกิดความขัดแย้งกัน รัสเซีย กลุ่มโอเปก อเมริกา จนทำให้เกิดสงครามราคาน้ำมัน เหมือนแข่งกันผลิตน้ำมันออกมามากๆ ทำให้ราคาน้ำมันดิบมันลดลงมามากๆๆๆ มากที่สุดในรอบ 19 ปี

ปี 64 ในขณะที่โควิดโลกดีขึ้น (อาจจะสวนทางกับสถานการณ์ในไทยนิดหน่อย!) เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั้งน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เริ่มปรับตัวสูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้น มาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็ดูเหมือนว่าจะสูงขึ้น สูงขึ้น ไปอีกก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปหยุดอยู่ตรงไหน จุดนี้อาจจะต้องสวดมนต์จริงๆ กันแล้วครับ 

นอกจากเนื้อน้ำมันเบนซินดีเซลในตลาดโลกแล้ว...ด้วยความที่ไทยมีนโยบายในการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ด้วยการนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมกับน้ำเนื้อน้ำมัน ที่เรารู้จักกันในชื่อ ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ต้นทุนของเชื้อเพลิงชีวภาพนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกับราคาน้ำมันในไทยเหมือนกัน ปัจจัยที่ส่งผลต่อเนื้อน้ำมันก็จะประมาณนี้ แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ที่ถูกบวกเพิ่มจากเนื้อน้ำมันคือ "ภาษีกับกองทุน" และ “ค่าการตลาด”  ซึ่งผมจะขอพูดถึงไปพร้อมกันเลย ภาษีที่ถูกบวกเข้ามามี ภาษีสรรพสามิต / ภาษีเทศบาล/ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนนี้ถือเป็นรายได้รัฐ
กองทุน ก็มี 2 กองทุน กองทุนน้ำมัน / กองทุนอนุรักษ์พลังงาน

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมไปแคปภาพโครงสร้างราคาน้ำมันที่ทางเว็บไซต์ สนพ. อัพเดตมาให้ดูว่าภาษี กองทุน ค่าการตลาดอยู่ตรงไหนบ้าง 

ในส่วนที่ไฮไลท์สีเหลือง คือจุดที่อยากให้ทุกคนสังเกตว่ารัฐได้มีการใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการจูงใจและสนับสนุนการใช้น้ำมันที่ผสมพลังงานชีวภาพ ด้วยการนำเงินไปอุดหนุน ให้ราคาถูกคนจะได้มาใช้เติมเยอะๆ 
ข้อดีคือ ทำให้คนที่ปลูกปาล์ม ปลูกอ้อย ปลูกมัน ได้มีรายได้ แล้วก็เป็นการลดการใช้น้ำมันดีเซลและเบนซินเพียวๆ แต่ข้อเสียนั้น....อาจจะเป็นเรื่องของนำเงินมาอุดหนุนนั่นแหละครับ 

สำหรับไฮไลท์สีฟ้า คือ ค่าการตลาด อธิบายความหมายไปอีกคือ “ส่วนแบ่งของปั๊ม” ไม่ใช่กำไรนะครับ อย่าเข้าใจผิด ให้ปั๊มเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ตรงนี้รัฐก็ได้กำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสมให้อยู่ที่ 1.85 แต่จากที่เคยพูดคุยกับคนทำธุรกิจปั๊มเขากลับบอกว่ามันเป็นราคาที่ต่ำมาก แทบจะไม่ได้อะไร คนกำหนดกับคนขายคนละคนกัน ถ้าดูจากในช่องค่าการตลาดจะเห็นว่า บางตัวมันมากกว่า 1.85 อีก อันนั้นไม่ต้องตกใจไป เพราะค่าการตลาดที่อยู่ในเกณฑ์เขาจะดูภาพรวม (ค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก) ใน 1 ปี ก็จะอยู่ในเกณฑ์พอดี
ส่วนตัวที่ต่ำกว่า 1.85 จะเป็นกลุ่มน้ำมันดีเซล ก็เป็นเพราะว่ารัฐได้มีนโยบายช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าน้ำมัน ที่ กบง เพิ่งประกาศไปนั่นแหละฮะ จากเดิมที่ค่าการตลาดกลุ่มดีเซลต่ำกว่ากำหนดอยู่แล้ว เจอคำสั่งล่าสุดลดค่าการตลาดลงมาอีก ให้อยู่ที่ 1.40 บ. และตอนนี้ค่าการตลาดไม่ถึง 1 บาทแล้วด้วยซ้ำไป กระทู้นี้ยาวกันสักหน่อยนะครับ ขอบคุณมากที่อ่านถึงตรงนี้ ผมแค่อยากให้ทุกคนได้เข้าใจราคาน้ำมันในประเทศแบบถ่องแท้ 
ถ้าเป็นว่ามีประโยชน์เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับราคาน้ำมัน ก็อยากให้ช่วยกันแชร์ออกไปครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่